หน้าแรกแกลเลอรี่

ไม่ง้อกัมพูชา "เพาะกายโลก" จัด "ศึกชิงแชมป์อาเซียน" หลังโดนตัดจาก "ซีเกมส์ 2023"

ไทยรัฐออนไลน์

7 ก.พ. 2566 13:00 น.

"เพาะกายโลก" แก้ปัญหา "กัมพูชา" ตัดออกจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ด้วยการจัดศึกชิงแชมป์อาเซียนแทน

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่ กัมพูชา ตัดกีฬาเพาะกายออกจากการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันที่ 5-17 พ.ค. เนื่องจากปัญหาภายในประเทศ โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ กัมพูชา (CAMSOC) ได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการโอลิมปิกในชาติอาเซียนทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการยกเลิกการจัดการแข่งขันเพาะกาย

“ผมได้ทราบเรื่องดังกล่าว โดยได้รับการประสานแจ้งมาจาก กัมพูชา ว่าจะงดจัดชนิดกีฬาเพาะกายในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ เนื่องจากข้อขัดข้องภายในประเทศของกัมพูชา ซึ่งสหพันธ์กีฬาเพาะกายของประเทศกัมพูชาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการควบคุมสารต้องห้ามในนักกีฬาได้”

“สืบเนื่องมาตั้งแต่การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่ง กัมพูชา เตรียมส่งนักกีฬา 4 คนเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ไม่สามารถส่งเข้าร่วมการแข่งขันได้เพราะติดปัญหาเรื่องการใช้สารต้องห้าม ทำให้ กัมพูชา ต้องงดส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้ว”

“ทางสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนสโลก ได้กำหนดไว้ว่า สำหรับกีฬาเพาะกาย ไม่ว่าชาติไหนก็ตามต้องตรวจหาสารกระตุ้นก่อนแข่ง 3 สัปดาห์ ถ้าหากใครพบสารกระตุ้นก็ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่นเดียวกับในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม เมื่อปีที่แล้ว มีหลายชาติที่ตรวจพบการใช้สารต้องห้าม ทำให้ต้องถอนตัวไม่สามารถเดินทางมาแข่งได้ เช่นเดียวกับกัมพูชาที่ส่งแข่ง 4 คน แต่เจอสารกระตุ้นจนไม่ได้เดินทางมาแข่งซีเกมส์ที่เวียดนาม ทำให้รัฐบาลกัมพูชา โดยกระทรวงกีฬาของกัมพูชา ได้ให้สมาคมเพาะกายกัมพูชาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้”

“ต่อมา สหพันธ์เพาะกายและฟิตเนสโลก ได้ไปปรึกษาหารือ เรื่องบรรจุเพาะกายเข้าไปในซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งแรก ได้กำหนดไว้ว่าจะแข่งทั้งหมด 5 รุ่น ทางกัมพูชาได้มีการหารือเป็นการภายในระหว่างรัฐบาลกัมพูชา กับสมาคมเพาะกายกัมพูชาในการที่จะป้องกันไม่ให้มีการละเมิดการใช้สารต้องห้ามเกิดขึ้นกับนักกีฬากันอีก ซึ่งสมาคมเพาะกายกัมพูชารับปากกับกระทรวงกีฬาว่าจะมีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้จะไม่จัดแข่งเพาะกายในซีเกมส์”

“ผลปรากฏว่า สมาคมกีฬาเพาะกายกัมพูชา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการส่งแข่งแล้วนักกีฬาเจอโด๊ปได้ เมื่อเดือน พ.ย. เพาะกายมีแข่งกีฬาในประเทศ เป็นการแข่งขันกีฬาแห่งชาติกัมพูชา ก็เจอว่านักกีฬามีการตรวจพบสารกระตุ้นอีก แสดงให้เห็นว่าสมาคมเพาะกายกัมพูชาไม่สามารถสร้างหลักประกันกับทางรัฐบาลว่านักกีฬาจะไม่เจอโด๊ป”

“การแข่งขันกีฬาแห่งชาติกัมพูชา จัดขึ้นเพื่อให้สหพันธ์กีฬาชนิดต่างๆ ของกัมพูชาได้ทดสอบสมรรถภาพความสามารถนักกีฬาของตนเอง ผลปรากฏว่านักกีฬาเพาะกายของกัมพูชาที่เตรียมส่งเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ถูกตรวจพบว่ามีการใช้สารต้องห้าม 2 คน จึงเป็นเหตุทำให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ CAMSOC มีความกังวลถึงความเสียหายและภาพลักษณ์ของการเป็นเจ้าภาพ จึงได้มีการหารือกันภายในกัมพูชา และเห็นว่าควรยกเลิกการจัดชนิดกีฬาเพาะกายในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศกัมพูชาในฐานะเจ้าภาพได้”

“กัมพูชา เห็นว่าถ้าไม่พร้อมในการจัดแข่งเพาะกาย ก็ไม่ควรจัดแข่งดีกว่า ทั้งๆ ที่เพาะกายเป็นกีฬาความหวังเหรียญทอง แต่ที่ต้องตัดออก เพราะเป็นปัญหาภายในประเทศของกัมพูชาเอง การเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ของกัมพูชา เป็นการจัดในรอบ 70 ปี ถึงแม้เพาะกายจะเป็นกีฬาความหวัง แต่ถ้าจัดแข่งแล้วนักกีฬากัมพูชาตรวจพบว่ามีสารต้องห้าม มันน่าขายหน้าเพื่อนบ้านในอาเซียนมากกว่า จึงเห็นควรว่าการตัดเพาะกายออกจะดีกว่า และถ้าจัดแข่งโดยไม่มีนักกีฬาชาติเจ้าภาพ ก็ไม่ดี”

“จากการยกเลิกการจัดการแข่งขันชนิดกีฬาเพาะกายในซีเกมส์ที่กัมพูชาในครั้งนี้ ทำให้สหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) ต้องเตรียมจัดการแข่งขันกีฬาเพาะกายชิงแชมป์อาเซียนขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์เป็นการทดแทน เนื่องจากชาติสมาชิกในอาเซียน อาทิ ไทย ลาว เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ต่างก็ได้เตรียมนักกีฬาเพาะกายของตนเอง เพื่อส่งเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ที่กัมพูชามาเป็นระยะเวลานานแล้ว”

“ตอนนี้ชาติในอาเซียนได้มีการประชุมหารือกับทางสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนส ถึงปัญหาการตัดกีฬาเพาะกายออกจากซีเกมส์ ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากแต่ละชาติก็มีการเตรียมตัวก่อนแข่ง และทางสหพันธ์มีการจัดแข่งขันชิงแชมป์อาเซียน, ชิงแชมป์เอเชีย และชิงแชมป์โลกอยู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ทางกัมพูชา ก็ส่งนักกีฬามาแข่งชิงแชมป์โลก ที่ภูเก็ต ในเดือน ธ.ค. 1 คน แต่ไม่มีปัญหาเรื่องสารกระตุ้น เพราะได้มีการตรวจหาสารต้องห้ามก่อนแข่ง 3 สัปดาห์ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด”

“อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ฯ เป็นห่วงเรื่องของชาติอื่นๆ ในอาเซียนมากกว่า แต่ต่อไปนักกีฬาเพาะกายกัมพูชา จะไม่ได้ออกมาแข่งแน่นอนแล้ว เนื่องจากทางกระทรวงกีฬาของกัมพูชา ได้ยุบสมาคมกีฬาเพาะกายของกัมพูชาเรียบร้อย และทางสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนสโลกมีการเข้มงวดเรื่องการตรวจสารต้องห้ามของการแข่งขันเพาะกายทุกรายการ”

“ด้าน ดาโต๊ะพอล ชัวร์ ประธานสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก จะมีการหารือกับ 8 ชาติ ประกอบด้วย ลาว, เมียนมา, ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน และสหพันธ์เพาะกายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งว่าการจัดชิงแชมป์อาเซียนที่สิงคโปร์นั้น น่าจะจัดก่อนหรือหลังซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ดี เราจะต้องรอการกำหนดโปรแกรมการแข่งขันก่อน โดยจะไม่ให้กระทบกับการเตรียมนักกีฬาที่จะแข่งชิงแชมป์เอเชียที่เนปาล ในวันที่ 8-14 สิงหาคม 2566”.

ขอบคุณภาพจาก : khmertimeskh