ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ก่อนที่ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่จะรูดม่านเปิดฉากให้นักกีฬาจาก 11 ชาติ ได้แสดง พลังความสามารถผ่าน 37 ชนิด ระหว่าง 5-17 พ.ค.2566 ปรากฏว่าเกมดังกล่าว จะเริ่มกลับพบปรากฏการณ์ที่ส่อไปในทางดราม่าในหลากหลายมิติ
หนึ่งในมิติที่ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าไปตามๆ คือการบรรจุชนิดกีฬาภายใต้อีเวนต์ที่ยัดเหรียญทองเพื่อล่อใจนักกีฬามากที่สุดในประวัติการณ์ถึง 608 เหรียญ แต่ล่าสุดอีเวนต์ต่างๆที่จะบรรจุลงไปนั้นก็ยัง ไม่สะเด็ดน้ำซะที
ปัญหาที่ตามมาในบางประเด็นอาจจะด้วยโอกาสและครั้งแรกที่กัมพูชาได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จึงอาจต้องการแสดงศักยภาพให้เพื่อนบ้านเห็นว่าเขาก็เป็นหนึ่งในอาเซียนที่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติได้ไม่ด้อยไปกว่าชาติใด
สำหรับกัมพูชาเกมส์ ครั้งที่ 32 หากส่องไป ที่มิติของการบรรจุชนิดกีฬาพบว่า เกมครั้งนี้ก็ไม่ต่าง ไปจากที่ผ่านมา โดยเฉพาะการบรรจุกีฬาที่เจ้าภาพคาดหวังกับการคว้าเหรียญทองให้มากที่สุด
การบรรจุกีฬาที่เจ้าภาพคาดหวัง หรือกีฬาพื้นบ้าน ซึ่งชาติอื่นไม่ถนัด หรือรู้จักก็ยังเป็นปัญหาหรือวังวนแห่งหลุมดำที่เกาะเกี่ยวกับมหกรรมกีฬาอันยิ่งใหญ่ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ร่ำไป
ถามว่า มนตรีซีเกมส์ซึ่งเป็นบอร์ดในการขับเคลื่อนเกมคิดอย่างไร คำตอบที่มีการรับรู้ตลอดมาคือการให้เกียรติเจ้าภาพพิจารณาโดยไม่ทิ้งกีฬาบังคับ
เมื่อกล่าวถึงการบรรจุชนิดกีฬาที่เจ้าภาพคาดหวัง โดยเฉพาะกีฬาพื้นบ้านในกัมพูชาเกมส์พบว่า กีฬา “กุนขแมร์” เป็นหนึ่งในชนิดที่เจ้าภาพหมายมั่นปั้นมือว่านี่คือกีฬาแห่งความหวังของชาวกัมพูชาอย่างแท้จริง และพร้อมที่จะแสดงให้เพื่อนบ้านเห็นว่านี่คือกีฬาประจำชาติ
โจทย์ที่ตามมา “กุนขแมร์” มีรูปแบบการเล่นและกติกาแข่งขันอย่างไรเมื่อส่องเข้าไปดูพบว่า กีฬาชนิดนี้ก็คือมวยไทยดีๆนั่นเอง แต่กัมพูชา อ้างสิทธิ์ขอเรียกว่า “กุนขแมร์” แทน พร้อมกันนั้น กัมพูชายังแจงว่า กีฬาชนิดนี้ชาติของตนเป็นเจ้าของ ศิลปะป้องกันตัว จึงจัดตามความปรารถนาของคนในชาติ
“กุนขแมร์” ในซีเกมส์ครั้งนี้จึงเป็นหนึ่งในความหวังที่เจ้าภาพเห็นว่าจะเป็นช่องทาง หรือโอกาส สำหรับการทำเหรียญทองให้ชาติตัวเองได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จึงจัดอีเวนต์ให้แย่งชิงกันถึง 17 เหรียญทอง
จากปรากฏการณ์ในชื่อ “กุนขแมร์” แทนคำ ว่า “มวยไทย” ส่งผลให้สมาพันธ์มวยไทยนานาชาติหรือ IFMA ที่มี “ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ” ประธานสหพันธ์ออกมาแสดงจุดยืนจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน “กุนขแมร์”
พร้อมส่งจดหมายเตือนชาติสมาชิกที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมในรายการนี้จะถูกแบนจากการเข้าร่วมการแข่งขันทุกรายการของ IFMA โดยจะเริ่มจากอินดอร์เอเชียนเกมส์ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี้
จากการประกาศจุดยืนของ IFMA กับการไม่ร่วมสังฆกรรมกับการจัดการแข่งขัน กลับพบว่า “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” เมื่อเจ้าภาพ “นายวัธ จำเริน” เลขาธิการกรรมการจัดการแข่งขันของกัมพูชา ออกมา สวนว่า “โนแคร์” และไม่แยแสกับการต้านของ IFMA เช่นกัน
ที่น่าช้ำทรวงตามมาคือการให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าไทยบรรจุกีฬามวยไทยในกีฬาซีเกมส์ 2025 ที่เราเป็นเจ้าภาพ เขาก็จะไม่ส่งแข่งและจะบอยคอตกีฬามวยไทยเช่นกัน”
เมื่อกล่าวถึงเจ้าภาพกับความหวังเพื่อยืนหนึ่งภายใต้กีฬาพื้นบ้านที่มากเกินควรก็ได้แต่หวังว่าในปี 2025 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ วังวนที่เคยกล่าวถึงเพื่อนบ้าน คงไม่กลับมาหลอกหลอนแบบ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”
เรื่องนี้น่าจะเป็นหนึ่งในจุดยืนที่ไทย หรือผู้เกี่ยวข้องจะนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติมากกว่า ไปเสียเวลากับแนวคิดแบบถอยหลังเข้าคลองของเจ้าภาพ (เพียงบางส่วน)
โจโจ้ซัง