หน้าแรกแกลเลอรี่

มหากาพย์...‘ม.การกีฬาแห่งชาติ’ (1)

บี บางปะกง

12 ก.ค. 2564 08:00 น.

ปมปัญหาของกระบวนการสรรหาอธิการบดี “มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ” ที่ยืดเยื้อยาวนาน จนกลายเป็น “มหากาพย์” หาจุดลงตัวไม่ได้เสียทีจนถึงทุกวันนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่?

ผมได้รับความกรุณาจาก ท่านอาจารย์ รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ซึ่งเป็นลูกพระพลบดีรุ่นเก๋ากึ้ก มาช่วยไล่เรียงถึงข้อมูลและปูมหลังต่างๆ ให้แฟนไทยรัฐสปอร์ตได้อ่านกัน บนพื้นที่คอลัมน์ “Sport Insider" ตรงนี้ อย่างละเอียดยิบ 3 ตอนจบ

ยาวหน่อยนะครับ... แต่รับรองอ่านจบทุกตอนแล้วจะรู้เลยว่า..อะไรเป็นอะไร ในแวดวงนี้ !!!

---------------------------

เรียนคุณบี บางปะกง ที่นับถือ

คุณบี และผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารทางการกีฬา คงจะทราบแล้วว่า นับแต่สถาบันการพลศึกษาทั่วประเทศ มีการเปลี่ยนสีเสื้อมาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาตินั้น ผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬา ต่างมีความเชื่อว่า สถาบันอุดมศึกษาน้องใหม่ของประเทศแห่งนี้ คงจะเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญ สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนา และยกระดับการกีฬาและนวัตกรรมใหม่ของประเทศ ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศที่เจริญแล้ว

แต่หลังจากที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก่อเกิดได้ไม่นาน กลับพบว่าการเปลี่ยนแปลง หรือความความคาดหวังของเหล่าชาวกีฬาที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง กลับหาได้เป็นดังที่หวังไม่ และที่สำคัญหากส่องลงไปในรายละเอียดที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ กลับพบว่าองค์กรแห่งนี้ก็ไม่ต่างกับ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” มากนัก

และที่น่าสนใจ ประเด็นที่ทำให้คนในแวดวงกีฬาเซ็งกันตามๆ กันก็คือ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีปัญหาด้านการบริหารจัดการ อันเนื่องมาจากกลุ่มบุคคลไม่กี่คน ที่ก่อการจนส่งผลกระทบต่อเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีขององค์กร โดยเฉพาะชาวพลศึกษา หรือลูกพระพลบดีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ก่อนที่จะกล่าวถึงปมปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อสะท้อนไปยังผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น ก็ใคร่ขอย้อนไปถึงที่มาที่ไปของการก่อเกิดสถาบันแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการปูพื้นให้เห็นว่า เหตุใดนักวิชาการทางด้านการกีฬาและพลศึกษา ตลอดจนรัฐบาลในยุค คสช. จึงให้ความสำคัญกับการยกระดับ และจัดตั้งมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติขึ้นมา

คุณบีและแฟนกีฬาคงจะทราบแล้วว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สังคมตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้หากพิจารณาในแง่ของจำนวนมหาวิทยาลัย ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันที่สังกัดภาครัฐและเอกชน พบว่ามีจำนวนไม่น้อยกว่าสองร้อยแห่ง

และเหนือสิ่งอื่นใดก่อนหน้านี้ รัฐบาลในยุค คสช.ได้ตระหนัก และเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในหลากหลายมิติ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และกีฬาก็เป็นหนึ่งในมิติที่รัฐบาลเห็นว่าทั่วโลกตลอดจนสังคมไทย ตื่นตัวมากขึ้นตามลำดับ และที่สำคัญกีฬาเป็นหนึ่งในมิติของการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมที่น่าสนใจ ยิ่งการส่งเสริมและสนับสนุนจึงเป็นบทบาทหน้าที่ที่รัฐจำเป็นต้องเข้ามาขับเคลื่อน หรือผลักดันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในศตวรรษที่ 21

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จึงเป็นหนึ่งในองค์กรที่สอดคล้อง กับการขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล คสช. ภายใต้ความเห็นชอบของ สนช. จึงนำไปสู่การประกาศพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อย่างไรก็ตาม หากศึกษาในรายละเอียดของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ใช่ว่าจะมีสาระแตกต่างไปจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป ที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้เพียงแต่สถาบันแห่งนี้ จะให้ความสำคัญและมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา และยกระดับการกีฬาของชาติ ภายใต้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

ซึ่งเมื่อส่องไปดูในมาตรา 8 พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง ด้านการกีฬามีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพ ทำการสอน วิจัย และพัฒนา บริการทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการกีฬา การพลศึกษา การสร้างเสริมสุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา การบริหารจัดการกีฬา การประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรมกีฬา และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างและพัฒนาบุคคลากรด้านการกีฬาของประเทศ

สำหรับการดำเนินการ หรือการบริหารจัดการให้มหาวิทยาลัย มีความเจริญก้าวหน้าสอดคล้องกับพันธกิจและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นั้น หัวใจที่สำคัญคือการมีสภามหาวิทยาลัยและคณะผู้บริหาร ที่จะเข้ามาวางนโยบาย และแนวทางในการพัฒนาตลอดจนบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากบริบทของการบริหารจัดการ ที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องอาศัยนายกสภา และอธิการบดี เป็นจอมทัพ ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการนั้น เป็นที่น่าสังเกต และแปลกแต่จริงว่า นับแต่มหาวิทยาลัยกำเนิดขึ้นจวบจนวันนี้ มหาวิทยาลัยยังไม่มีนายกสภา และอธิการบดีตัวจริงเสียงจริง จะมีก็เพียงผู้ทำหน้าที่รักษาการเท่านั้น (ต่อตอนหน้า)

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร


บี บางปะกง