หน้าแรกแกลเลอรี่

ไทยทันสมัยไม่ตกยุค!

บี บางปะกง

22 ก.พ. 2564 08:30 น.

นับเป็นข่าวดีสุดๆ ของวงการ ‘เจ็ตสกีไทย’ หลัง ศบค.ไฟเขียวให้คลายล็อกจัดทัวร์นาเมนต์เจ็ตสกี 2 รายการใหญ่ ในปี 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ประเดิมด้วย ศึก “เจ็ตสกี เวิลด์คัพ” (JET SKI WORLD CUP) ฤดูกาล 2020-2021 ที่หาดจอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี ระหว่าง 21-25 เม.ย. ซึ่งเป็นรายการที่เลื่อนหลบโควิด-19 มาจากปลายปีที่แล้ว

ส่วนอีกทัวร์นาเมนต์ เป็นการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2564 รายการ “เจ็ตสกี โปรทัวร์ 2021” (JET SKI PRO TOUR 2021) ซึ่งกำหนดชิงชัยทั้งหมด 4 สนาม ดังนี้ สนาม 1 ระหว่างวันที่ 22-23 พ.ค., สนามที่ 2 ระหว่าง 19-20 มิ.ย., สนามที่ 3 ระหว่าง 17-18 ก.ค. และสนามที่ 4 (สนามชิงชนะเลิศ) ระหว่างวันที่ 14-15 ส.ค. โดยแต่ละสนามต้องรอกำหนดสถานที่แข่งกันอีกครั้ง

ซึ่งผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทาง www.jetskiworldcup.com และ www.jetskiprotour.com รวมถึงเฟซบุ๊ก jetskiworldcup และ jetskiprotour

นอกจากนี้ ในบ่ายวันอังคารที่ 23 ก.พ.นี้ ทางบิ๊กบอสเอเชียน มัลติสปอร์ต ปริเขต สืบสหการ ผู้อำนวยการศึกเจ็ตสกีเวิลด์ คัพ และเจ็ตสกี เวิลด์ ซีรีส์ จะเป็นโต้โผเปิดแถลงข่าวใหญ่ โครงการระดับชาติ ในการสร้างแบรนด์ทัวร์นาเมนต์กีฬาเจ็ตสกีไทย สู่เวทีโลก ภายใต้โมเดล “กีฬาเจ็ตสกีอาชีพ ติดธงชาติไทย”

โดยการแถลงข่าว จะเริ่มในเวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก ซึ่งจะมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิพัฒน์ รัชกิจประการ ที่ให้ความสนใจกับโปรเจกต์นี้อย่างจริงจัง มานั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง

บังเอิญสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง “เสี่ยเดร็ค” ปริเขต เพิ่งแชร์บทความที่เป็นความรู้สึกส่วนตัว ในการมองภาพรวมกีฬาไทย ผ่านมุมมองของคนจัดเจ็ตสกีระดับมืออาชีพ ที่ ณ บัดนี้ พวกเขาไม่ใช่แค่ออร์แกไนซ์ หรือผู้จัดธรรมดาอีกต่อไป

แต่กำลังจะก้าวไปสู่ผู้สร้าง “แบรนด์กีฬาไทย” สู่การเป็น “ผู้นำโลก” อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมเอาเรื่องราวนี้เขียนลงไปใน ‘กราวกีฬาไทยรัฐ’ ฉบับพิมพ์รอบนึงแล้ว แต่เพื่อจะให้แฟนกีฬาบ้านเราได้รับรู้ถึงข้อมูล (บางอย่าง) ในวงกว้าง ว่ายังมีบุคคลอีกจำพวกหนึ่งที่ดูเหมือน “ตกยุค” หลงอยู่ใน ‘องค์กรกีฬาชาติ’ อย่างไม่น่าเชื่อ

แยกไม่ค่อยออก ระหว่างเป้าหมายอันเป็นภารกิจของ ‘กีฬาเป็นเลิศ’ และ ‘กีฬาอาชีพ’ ว่าแตกต่างกันอย่างไร?

วันนี้ก็เลยขอนำบทความดังกล่าวมาลงใน ‘ไทยรัฐออนไลน์’ ให้อ่านกันชัดๆ อีกครั้ง !!!

...........................

ถ้าตั้งคำถามว่า เชื่อหรือไม่? ขณะนี้มีชนิดกีฬาที่ ‘คนไทย’ เป็นผู้นำบริหารกีฬาโลก!!

“ผู้นำ” ที่หมายถึงในที่นี้ เป็นองค์กรที่บริหารนโยบายกีฬาโลกจริงๆ และนักกีฬาทั่วโลกปฏิบัติตาม และถึงขั้นสร้างเป็นจุดมุ่งหมายสำเร็จว่า

การจะเป็นนักกีฬาที่เก่งที่สุดในโลก ต้องมาแข่งที่ ประเทศไทย เท่านั้น!!

ใช่ครับ ผมหมายถึง “กีฬาเจ็ตสกี” หลายครั้งแล้วที่เคยนำเสนอท่านว่า ‘ไทย’ เริ่มต้นจาก “ศูนย์” เมื่อ 26 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ทัวร์นาเมนต์ของไทย ไม่มีชื่อเสียงอะไร อย่าได้ไปคิดสู้แม้ชาติเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์

ถึงวันนี้ แม้แต่สมาคมเจ็ตสกีโลก IJSBA สหรัฐอเมริกา ยังต้องถามนโยบายว่า ไทยจะเอาอย่างไร?

ท่านที่ติดตามคงทราบแล้วว่า สนามแข่งเจ็ตสกีที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ “World Cup” อยู่ที่ เมืองพัทยา ประเทศไทย รวบรวมนักกีฬาได้มากที่สุดในโลก แซงหน้า “World Finals” ของสหรัฐฯ ไปแล้วเมื่อปี 2019

และไทยยังได้จุดพลุ “สร้างทัวร์นาเมนต์เก็บคะแนนชิงแชมป์โลก World Series ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

40 ปีของกีฬาชนิดนี้ด้วย จึงไม่ต้องบอกว่า ผลงานบริหารกีฬาเจ็ตสกีไทยนั้น ยอดเยี่ยมระดับควรมีรางวัลมอบให้ทีเดียว

เอาล่ะ! แต่วันนี้ ผมจะพูดถึงอีกมิติคือ “องค์กรกีฬาชาติ” อย่างการกีฬาแห่งประเทศไทยบ้าง

ระยะ 5 ปีมานี้ ถือว่า กกท. ก็ปรับตัวสอดรับเข้ากับการเติบโตของโลกยุคใหม่ไม่น้อย เดินหน้าพัฒนางานกีฬาชาติต่างๆ ทั้งเพื่อสุขภาพ นันทนาการ กีฬาเป็นเลิศ ที่เป็นหลักของชาติ

จนมาถึงการมีพระราชบัญญัติกีฬาอาชีพ ทำให้กีฬาอาชีพเติบโตขึ้นมาก และสร้างชื่อเสียงกับประเทศชาติไม่น้อย

หลายต่อหลายกีฬา เป็นประโยชน์ต่อชาติอย่างสูง ที่เน้นๆไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คงจะเป็นผลงานการเป็นสนามระดับโลก โมโตจีพี ที่ยอดเยี่ยม

เรื่องที่ดี คือ รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิพัฒน์ รัชกิจประการ แม่ทัพใหญ่ กับ “บิ๊กก้อง” ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยนั้น มีวิสัยทัศน์ สอดรับโลกกีฬายุคใหม่เป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่ผมกังวล คือส่วนประกอบ กลไก ฟันเฟือง รองๆ ลงมา อาจจะมีบางคนที่ยังยึดติดแนวทางเก่าๆ ยังแยกไม่ค่อยออก ระหว่างเป้าหมายอันเป็นภารกิจของกีฬาเป็นเลิศ และกีฬาอาชีพ!!!

คนที่ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ ก็จะเน้นแต่ว่า “เราต้องเดินตามสมาคมโลกเท่านั้น” (เน้นตามก้นฝรั่ง)

แบบนี้ชัดเจนว่า เป็นความคิดที่ครำ่ครึไปแล้วในยุคนี้ !!

กีฬาอาชีพนั้น มีข้อดีในการเปิดกว้าง สร้างทั้งเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสให้ทุกชาติสู้กันได้อย่างเสรีในเวทีโลก อย่างสร้างสรรค์

ที่สำคัญไม่ได้ปิดโอกาสของคนไทย เช่น กีฬาต่อสู้ผสมผสาน K-1 มีชื่อเสียงโด่งดัง, มวย ONE ของไทยเราก็โดดเด่น และยังมีอีกหลายสิบรายการในโลก

แต่ใครอยู่ได้และดังในเวทีอินเตอร์ มีผู้ชมทั่วโลกติดตาม ก็ประสบความสำเร็จ กลายเป็น แบรนด์อันดับ 1 ของโลก

ด้วยมุมมองกว้างๆ จะเห็นว่า ‘คนไทย’ มีโอกาสสร้างสรรค์กีฬาใหม่ๆ เหมือนที่ต่างชาติเขาทำกัน และกีฬาอาชีพเป็นหนึ่งในมิติความสำเร็จที่ไม่ควรมองข้าม

เพื่อให้กีฬาไทยแข็งแกร่ง ทำงานครบทุกมิติ

 ถึงเวลาวิเคราะห์แล้วว่า..ใครตกยุค !!!


บี บางปะกง