หน้าแรกแกลเลอรี่

"จุตินันท์" ปลื้มดาวรุ่งต้นกล้าพาราไทย สร้างผลงานเขย่าโลกที่ยูเออี

ไทยรัฐออนไลน์

19 ก.พ. 2564 16:55 น.

ประมุขพาราลิมปิกไทยชื่นชมนักกีฬาคนพิการดาวรุ่ง โชว์ผลงานกระหึ่มโลก กวาด 14 ทอง 13 เงิน 12 ทองแดงในศึกกรีฑาคนพิการนานาชาติ ที่นครดูไบ

วันที่ 19 ก.พ. 64 ตามที่สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย ภายใต้การดูแลของ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย และการสนับสนุนของ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ได้ส่งนักกีฬากรีฑาและวีลแชร์เรซซิ่งคนพิการทีมชาติไทยและเจ้าหน้าที่ เดินทางเข้าร่วมการแข่งขันกีฬารายการ DUBAI 2021 WORLD PARA ATHLETLCS GRAND PRIX – 12 th FMZA INTERNATIONAL PARA ATHLEICS CHAMPIONSHIP ระหว่างวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเก็บคะแนนสะสมเข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2021 ซึ่งทัพนักกีฬาคนพิการไทยต่างโชว์ทีเด็ดคว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองมาครอง จาก 14 เหรียญทอง 13 เหรียญเงิน และ 12 เหรียญทองแดง

“บิ๊กนิดหน่อย” จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำเร็จของนักกีฬาพาราทีมชาติไทยครั้งนี้ว่า ภาพรวมของการแข่งขันรายนี้ ต้องบอกว่านักกีฬาไทยที่เป็นตัวเต็งของทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ทำผลงานได้ดีทำลายสถิติในหลายรายการ ซึ่งการได้เป็นเจ้าเหรียญทองก็เป็นเรื่องน่ายินดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องชื่นชมมากกว่านั้นคือการทำสถิติของนักกีฬาแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น ประวัติ วะโฮรัมย์, พงศกร แปยอ หรือ “น้องฟิว” อธิวัฒน์ แพงเหนือ นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งดาวรุ่งวัย 18 ปี โดยเฉพาะ “ฟิว” ถือเป็นนักกีฬาหน้าใหม่ ซึ่งไปแข่งขันในรายการระดับนานาชาติครั้งแรก สามารถทำสถิติได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะในรายการ ผลัดผสมความพิการ หรือ Universal Relay การแข่งขันรายการใหม่ ซึ่งเป็นผสมผสานกันของนักกีฬากรีฑา 4 ประเภทความพิการมารวมกัน

แม้ว่าในตอนนี้ไทยอาจจะมีนักกีฬาที่ไม่ครบองค์ที่สมบูรณ์เท่าไหร่ แต่ต้องบอกว่าการแข่งขันประเภทนี้เป็นรายการที่คนดูจะรู้สึกสนุกมาก ซึ่งต้องมาพัฒนานักกีฬากันต่อไป และต้องขอบคุณ การกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ รวมถึงสมาคมกีฬาต่างๆ และสตาฟฟ์โค้ชผู้เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนนักกีฬาเราในการเก็บตัวฝึกซ้อมและแข่งขัน ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

“การเก็บตัวอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีของนักกีฬาไทย สะท้อนถึงการจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ หากโตเกียวเกมส์ยังได้จัดในปีนี้ ถือเป็นโอกาสที่นักกีฬาไทยจะทำผลงานดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะได้เก็บตัวอย่างต่อเนื่อง จึงมีความพร้อมมากกว่านักกีฬาชาติอื่นๆ ที่อาจจะเก่งกว่า แต่ก็ติดปัญหาการฝึกซ้อม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19” จุตินันท์ กล่าว

สำหรับผลการแข่งขันในรายการ "รายการ DUBAI 2021 WORLD PARA ATHLETLCS GRAND PRIX – 12 th FMZA INTERNATIONAL PARA ATHLEICS CHAMPIONSHIP" ปรากฏว่า ทัพนักกรีฑาคนพิการทีมชาติไทย สามารถทำผลงานกวาดเหรียญรางวัลมาครองได้ถึง 14 เหรียญทอง 13 เหรียญเงิน และ 12 เหรียญทองแดง และเป็นอันดับ 1 จาก 60 ประเทศที่เข้าร่วม

จากผลงานดังกล่าว มีนักกรีฑาคนพิการทีมชาติไทยหน้าใหม่ที่สร้างเซอร์ไพรส์ ทำผลงานคว้าเหรียญรางวัลมาครองได้สำเร็จ รวมถึงสามารถทำสถิติในการแข่งขันรายการดังกล่าวนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะ "เจ้าฟิว" อธิวัฒน์ แพงเหนือ นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งดาวรุ่งวัย 18 ปี ที่เพิ่งถูกส่งเข้าร่วมการแข่งขันในรายการระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก แต่กลับสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อซิ่งวีลแชร์คู่ใจเข้าเส้นชัยคว้าเหรียญทองในรายการ วีลแชร์ 100 เมตร ชาย คลาส ที 54 มาครองได้แบบสุดเซอร์ไพรส์ ด้วยสถิติ 13.95 วินาที ซึ่งเป็นสถิติเทียบเท่ากับ "ลีโอ เปกก้า" นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งชาวฟินแลนด์ เจ้าของแชมป์โลกที่เคยทำไว้ในศึกกรีฑาชิงแชมป์โลกปี 2019 อีกด้วย

ขณะเดียวกันยังมีนักกรีฑาคนพิการหน้าใหม่ทีมชาติไทยอีกหลายคน อาทิ มะสบือรี อาแซ นักวีลแชร์เรซซิ่งดาวรุ่งจากจังหวัดชายแดนใต้ วัย 23 ปี ที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม คว้าเหรียญเงินในรายการวีลแชร์ 800 เมตร ชาย คลาส ที 53 มาครองได้ ด้วยสถิติ 1 นาที 36.43 วินาที ซึ่งเป็นรอง "เจ้ากร" พงศกร แปยอ นักวีลแชร์ทีมชาติไทยดีกรีเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ซึ่งคว้าเหรียญทองในรายการเดียวกันด้วยสถิติ 1 นาที 36.09 วินาที เพียงแค่ 0.34 วินาทีเท่านั้น

ส่วนอีกคนคือ อาทิติยา ขุนพร้อม นักกรีฑาคนตาบอดดาวรุ่งทีมชาติไทย ซึ่งเป็นนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันรายการระดับนานาชาติครั้งแรก ทำผลงานได้เหนือความคาดหมายสามารถคว้าเหรียญทองแดง ในรายการวิ่ง 400 ม. หญิง คลาส ที 11 มาครองได้ด้วยสถิติ 1 นาที 7.77 วินาที นอกจากนี้ยังมี ณัฐยอด ชัยการ นักกรีฑาผู้พิการทางสมองดาวรุ่งทีมชาติไทย เป็นหนึ่งนักกีฬาที่สามารถทำผลงานได้โดดเด่น เมื่อสามารถทำสถิติใหม่ของตนเองในรายการนี้ไว้ที่ 11.81 วินาที ในรายการวิ่ง 100 ม. ชาย คลาส ที 38 ซึ่งดีกว่าสถิติเดิม 12.16 วินาที ที่ตนเองเคยทำไว้ถึง 0.35 วินาที

สรุปผลงาน 14 เหรียญทองของทัพนักกรีฑาคนพิการทีมชาติไทย 

14 เหรียญทอง (พร้อมเทียบสถิติโลก)

เพชร รุ่งศรี (วีลแชร์ 400 ม. ชาย T52) สถิติ 1.09.61 นาที (สถิติโลก โทโมกิ ซาโตะ (ญี่ปุ่น) 55.13 วินาที)

พงศกร แปยอ (วีลแชร์ 400 ม. ชาย T53) สถิติ 47.61 วินาที (สถิติโลก เบรนท์ ลากาตอส (แคนาดา) 46.82 วินาที)

ภูธเรศ คงรักษ์ (วีลแชร์ 400 ม. ชาย T54) สถิติ 46.84 วินาที (สถิติโลก ยาสซิน กาห์บี้ (ตูนิเซีย) 43.46 วินาที)

ประวัติ วะโฮรัมย์ (วีลแชร์ 5,000 ม. T54) สถิติ 9.59.11 นาที (สถิติโลก ดานี่ โรมันชุก (สหรัฐอเมริกา) 9.42.83 นาที)

ประวัติ วะโฮรัมย์ (วีลแชร์ 1,500 ม. T54) สถิติ 2.54.95 นาที (สถิติโลก เบรนท์ ลากาตอส (แคนนาดา) 2.51.84 วินาที)

อธิวัฒน์ แพงเหนือ (วีลแชร์ 100 ม. ชาย T54) สถิติ 13.95 วินาที (สถิติโลก ลีโอ เปกก้า (ฟินแลนด์) สถิติ 13.63 วินาที)

พงศกร แปยอ (วีลแชร์ 100 ม. ชาย T53) สถิติ 15.11 วินาที (สถิติโลก เบรนท์ ลากาตอส (แคนนาดา) 14.10 วินาที)

เด่นภูมิ คชรังค์ (100 ม. ชาย T42/44/63/64) สถิติ 11.71 วินาที (สถิติโลก ริชาร์ด บราวน์ (สหรัฐอเมริกา) 10.61 วินาที)

ชัยวัฒน์ ศิริมงคล (100 ม. ชาย T46/47 สถิติ 11.48 วินาที (สถิติโลก เปโทซิโอ (บราซิล) 10.42 วินาที)

พงศกร แปยอ (วีลแชร์ 800 ม. ชาย T53) สถิติ 1.36.09 นาที (สถิติโลก เบรนท์ ลากาตอส (แคนาดา) 1.31.69 วินาที)

ประวัติ วะโฮรัมย์ (วีลแชร์ 800 ม. ชาย T54) สถิติ 1.32.60 นาที (สถิติโลก ดานี่ โรมันชุก (สหรัฐอเมริกา) 1.29.66 นาที)

กันตินันท์ คุ้มพงษ์ (100 ม. T63) สถิติ 12.94 วินาที (สถิติโลก วินิซิอุซ (บราซิล)11.95 วินาที)

ภัคจิราพร ก๋ากัน (200 ม. หญิง T46) สถิติ 13.17 วินาที (สถิติโลก 26.12 เป็นสถิติพาราลิมปิกสากลกำหนด)