หน้าแรกแกลเลอรี่

บริหารความเสี่ยง

ฟ้าคำราม

26 มี.ค. 2561 05:01 น.

การตรวจสารกระตุ้นต้องห้ามหรือสารโด๊ปในนักกีฬา เวลานี้ทั่วทั้งโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล คณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือไอโอซีเมมเบอร์ของไทยได้ย้ำเตือนในเรื่องนี้อยู่ตลอดว่า ไอโอซีไม่ได้นิ่งดูดาย นอกจากการป้องกันป้องปรามยังให้ความรู้กับชาติสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะโทษของการโด๊ปรุนแรงยิ่งนักไม่ได้ส่งผลดีกับใครเลย

ขณะที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หน่วยงานกีฬาหลักของประเทศ โดยสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวไม่แพ้กัน

ยกตัวอย่าง ในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 34 “น่านเกมส์” ที่จังหวัดน่าน ซึ่งกำลังชิงชัยอยู่ในตอนนี้ ก็มีการจัดทำเป็นเอกสาร เผยแพร่ขั้นตอนการตรวจสารต้องห้าม การเก็บตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬา

หลักๆ แล้วก็ยึดตามมาตรฐานสากล

มีการสุ่มเลือกนักกีฬา แจ้งต่อนักกีฬาหลังการแข่งขันเป็นลายลักษณ์อักษร ให้นักกีฬามารายงานตัว ที่ห้องเก็บตัวอย่างปัสสาวะ ให้เลือกอุปกรณ์บรรจุปัสสาวะ เก็บตัวอย่างปัสสาวะ เลือกอุปกรณ์เก็บตัวอย่างปัสสาวะเอง พร้อมกับแจ้งการใช้ยาและการยินยอมที่จะนำปัสสาวะที่เหลือไปทำการวิจัย จากนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจสารโด๊ป ตามลำดับต่อไป

ยังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจ กกท.ยังได้ให้ความรู้หากนักกีฬาต้องไปซื้อยารับประทานเองที่ร้านขายยา จะต้องปฏิบัติอย่างไร

มีทั้งหมด 3 ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรก ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรปฏิบัติงานอยู่ ต่อมา เมื่อพบเภสัชกร ต้องยื่นคู่มือรายชื่อยาที่มีส่วนประกอบของสารต้องห้ามทางการกีฬาให้กับเภสัชกร เพื่อตรวจสอบว่ายาที่จะซื้อมาใช้ มีส่วนประกอบของสารต้องห้ามทางการกีฬาหรือไม่

และสุดท้าย นักกีฬาต้องระมัดระวังในการซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง เนื่องจากการตัดสินใจนั้น จะมีผลต่อนักกีฬาโดยตรง

ส่วนกรณีนักกีฬาต้องไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ควรทำ 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก ก่อนพบแพทย์เพื่อตรวจ นักกีฬาต้องแจ้งแพทย์ว่าเป็นนักกีฬา เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาถึงสารต้องห้ามและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬาที่จะเกี่ยวข้องกับการรักษา

แต่หากแพทย์ไม่มีความรู้เรื่องสารต้องห้ามทางการกีฬา ให้แสดงเอกสารความรู้เกี่ยวกับสารต้องห้ามทางการกีฬาหรือรายชื่อยาที่มีส่วนประกอบของสารต้องห้าม

ขั้นตอนที่ 2 ก่อนรักษา ต้องปรึกษาแพทย์ว่า สามารถรักษาโดยไม่ต้องใช้สารต้องห้าม หรือวิธีการต้องห้ามได้หรือไม่

แบ่งเป็น 2 กรณีย่อย การรักษาโดยไม่ใช้สารและวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา ให้แพทย์ตรวจสอบคู่มือความรู้เกี่ยวกับสารต้องห้ามทางการกีฬาหรือรายชื่อยา ที่มีส่วนประกอบของสารต้องห้ามอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่า การรักษานั้นปราศจากสารและวิธีการต้องห้าม ต้องแน่ใจว่าแพทย์ได้มีการจดบันทึกการรักษาทางการแพทย์ไว้ อีกกรณีก็เป็นการรักษาที่มีความ จำเป็นจะต้องใช้สารหรือวิธีการต้องห้ามทางการกีฬา

เมื่อรับการรักษาทางการแพทย์แล้ว ให้ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม TUE จากเว็บไซต์ของสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา www.dcat.in.th ให้แพทย์กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม และนักกีฬานำมายื่นที่สำนักงาน ก่อน การแข่งขันอย่างน้อย 30 วัน

หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2186-7559 โทรสาร 0-2186-7558

ทั้งหมดนี้ เป็นการบริหารความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง ป้องกันไว้ก่อน ถามให้รอบคอบก่อนเป็นดีที่สุด

เพราะถ้าพลาดไปแล้ว จะเรียกร้องอะไรกลับคืนมาไม่ได้เลย...

ฟ้าคำราม