หน้าแรกแกลเลอรี่

เจาะใจ "เอส นราศักดิ์" พร้อมเส้นทางสุดโหดสู่นักขับอาเซียนคนแรกบนเวที WRC

ไทยรัฐออนไลน์

16 ม.ค. 2565 16:08 น.

เปิดใจฉบับเต็มกับ "เอส" นราศักดิ์ อิทธิริทพงษ์ นักแข่งรถคนแรกของอาเซียนที่จะได้ไปโลดแล่นบนเวที WRC

แฟนๆ มอเตอร์สปอร์ตไทย หากพูดถึงนักแข่งรถทางเรียบที่โด่งดังในระดับโลกและมีชื่อเสียงที่สุดในเวลานี้ ก็ต้องนึกถึง อเล็กซานเดอร์ อัลบอน อังศุสิงห์ แต่ถ้าหากว่าพูดถึงในสายของรถวิบาก 1 คนที่แฟนๆ แรลลี่ จะต้องรู้จักคือ "เอส" นราศักดิ์ อิทธิริทพงษ์ ที่ในปี 2565 เขาจะเป็นนักแข่งจากชาติไทยและชาติอาเซียนคนแรกที่จะได้ไปเหยียบใน WRC หรือ รถวิบากชิงแชมป์โลก ซึ่งจะเริ่มใน WRC-3 ช่วงปีนี้

Q1 : จุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบแข่งรถ

เอา นราศักดิ์ : ผมมีแรงบันดาลใจตั้งแต่อายุประมาณ 8-9 ขวบ ซึ่งคนไทยที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมก็คือ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ที่ท่านเป็นนักแข่ง ฟอร์มูลา วัน คนแรกของประเทศไทย เราก็เห็นว่าท่านทรงมีความสามารถและเราก็แบบสนใจก็เลยถามที่บ้าน ท่านมีความเป็นมาอะไรยังไง พ่อก็เลยบอกว่าท่านเป็นเชื้อพระวงศ์ท่านมีความสามารถและด้วยความเป็นเด็กภูธรก็เลยทำเท่าที่จะทำได้เราก็เลยมาทางอีกทางนึงดีกว่า ที่บ้านอยู่ระยองมีฝุ่นเยอะตามประสาภูธร เราก็ได้เห็นว่าขับรถปะทะฝุ่นก็สนุกดีนะแบบรถมันก็สไลด์ไปสไลด์มา มันก็เรารู้สึกอยากแข่งรถมาตั้งแต่เด็ก

Q2 : เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เข้าสู่วงการ เวิลด์ แรลลี่ ใช่ไหมครับ

เอส นราศักดิ์ : จริงๆ เวิลด์แรลลี่มันเป็นเป้าหมาย เพราะว่าถ้าเราเข้าสู่เวิลด์แรลลี่ตั้งแต่เด็ก พอเริ่มอายุ 13 เริ่มแข่งจากที่บ้านสนับสนุน และทำผลงานได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 13 จนถึง 21 ปี ก็ถือว่าเราแข่งมาตลอดเราก็จะได้รางวัลประจำปีที่เป็นแชมป์ประเทศไทยหรือว่าไม่ว่าจะเป็นรองแชมป์ก็ตามแต่ในบางปีแต่ก็ได้มาตลอด มันทำให้เรามั่นใจว่าที่สุดของปลายทางของกีฬา

แรลลี่ที่เราแข่งอยู่ก็คือเวิลด์แรลลี่แชมเปียนชิพนั่นเองก็คือสิ่งที่ผมบอกตัวเองเสมอว่ายังไงเราก็ต้องไปให้ถึงให้ได้ถ้าเปรียบเทียบอีกอันนึงให้เห็นภาพคือถ้าคุณชอบแข่งขันทางเรียบที่ไม่ใช่แรลลี่ ทางเรียบที่เริ่มจากโกคาร์ท เขาก็จะมองว่าปลายทางคนที่จะโตนั่นก็คือฟอร์มูลา วัน แต่ตอนนี้เราเป็นแรลลี่เราเป็นฟอร์มูลา วัน ไม่ได้แล้วมันคนละทางกันแต่เรามองว่าที่สุดของเวิลด์แรลลี่แชมเปียนชิพ ซึ่งเวิลด์แรลลี่มันก็เป็นความยากเฉพาะตัวคือว่ารวมนักแข่งทั่วโลกที่เข้ามาแล้วก็มีได้เวอร์ซิสของแต่ละชาติเนี่ยรวมๆ กันแล้วแต่ละคลาสเนี่ยจะมีอยู่แค่ประมาณ 20 คัน ในนั้นเนี่ยจะมีแบ่งเป็นแรลลี่วัน, แรลลี่ทู, แรลลี่ทรี ประจำ 3 คลาส มันก็เป็นคลาสละ 20 คัน กับเป็นแม็กซิมัมไว้แบ่งเป็นคลาสไว้

เพราะฉะนั้น มันก็จะเกิดการแย่งพื้นที่กันว่าชาติที่จะได้เข้ามาแข่งกับชาติใดที่จะได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ทีมในนี้ มันก็เกิดการแข่งขันกัน ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาตลอด 25 ปีผมก็พยายามสร้างผลงานให้ตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ให้กับคนในประเทศก่อน เพื่อนบ้านอย่างเช่น ในอาเซียน อย่างญี่ปุ่นและก็มาเลเซีย จนเกิดชื่อเสียงที่ทำให้ฝรั่งต้องบินมาจากออสเตรเลียมา ผมอายุประมาณ 21-22 เพื่อมาคุยก่อนว่าไปขับให้กับทีมเขาไหม มันก็เลยเป็นภาพให้เห็นว่าเราเข้าไปใกล้มากขึ้นแล้ว

Q3 : นิยามความยากของเวิลด์แรลลี่ถ้าเปรียบเทียบกับรถทางเรียบอื่นๆ อย่างเช่น DTM หรือ F1 มันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

เอส นราศักดิ์ : ส่วนตัวผมแข่งมาทั้งทางเรียบและทางฝุ่นแต่ทางฝุ่นจะแข่งมาตั้งแต่แรกเพราะชอบตั้งแต่เด็ก ทางเรียบแข่งเพราะแค่อยากรู้ว่าความสนุกของทางเรียบเป็นอย่างไร ถ้าถามว่ารักอันไหนมากที่สุดก็คงจะคือแรลลี่

ผมกล้าพูดได้เลยว่าความแตกต่างก็คือว่าทางเรียบมันจะขับอยู่ในสนามที่เราสามารถคำนวณได้ว่าโค้งนี้โค้งนั้นเราจะต้องขับแบบไหน ความเร็วแบบไหนเพราะว่าเขาจะมีเวลาให้เราซ้อมให้เราเช็กรถเป็นชั่วโมงคือว่าคุณจะวิ่งวนอยู่ในสนามเป็น 10 รอบ 20-100 รอบ จนกว่าเวลาที่เขาจะให้ซ้อมหมด เพราะฉะนั้นคุณก็สามารถเช็กรถได้ว่าจะขับออกมายังไงให้เร็วที่สุดในโค้งนั้นๆ สนามนี้ๆ

สำหรับแรลลี่ เขาจะให้คุณดูทางแค่ 2 รอบเอง หมายความว่าจะใช้ความเร็วกำกับว่าไม่เกิน 60 กม./ชม. และให้ดูทาง 2 รอบ และเส้นทางที่แข่งขันเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ประจำไม่ใช่เส้นทางที่ปิดการแข่งขัน ถ้าสนามอย่างบุรีรัมย์ใช่ไหม บุรีรัมย์สร้างสนามขึ้นมา เพื่อแข่งขันแล้วคนก็มาดูกัน ซึ่งมันก็จะเป็นจุดเฉพาะเรียกว่าสนามเฉพาะกิจอะไรก็ว่าไป แต่แรลลี่นี่คือ มันอาจจะผ่านหน้าบ้านเราก็ได้นะ อาจจะเป็นแบบสนามหน้าบ้าน อยู่ดีๆ ผู้จัดบอกว่าขอเส้นทางหน้าบ้าน ซึ่งมันก็เป็นเส้นทางแบบที่เราไม่เคยรู้เลยว่ามันจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเขาก็จะปล่อยให้เราดูทางแค่ 2 รอบ กับ โคไดเวอร์ ที่ต้องนั่งจำทางกันว่าโค้งนี้เป็นโค้งรหัสอะไรเช่น 1 2 3 4 หรือ 5 ซึ่งมันก็จะเป็นความเข้าใจระหว่าง ไดเวอร์ กับ โคไดเวอร์ ที่เป็นศัพท์เฉพาะที่มีแค่ 2 คนนั้นที่จะเข้าใจกันได้

ความยากก็คือความไม่แน่นอนเหมือนกับทางเรียบ เพราะทางเรียบมันจะรู้เลยว่าโค้งข้างหน้านี้มันจะเป็นโค้งอย่างนี้นะ เราจะรู้อยู่แล้ว พอถึงสนามมันจะมีแบบ 10 โค้ง 20 โค้งก็แล้วแต่ว่าประเทศนั้นจะมีกี่โค้ง แต่ถ้าแรลลี่ ผมพูดเลยว่าหนึ่งประเทศจะมีโค้งอย่างน้อย 2-3 พันโค้ง ดังนั้นลองคิดสภาพสิว่า 2-3 พันโค้งเนี่ยต้องใช้ความเร็วที่ไม่เกิน 60 และใช้รถบ้านที่ไม่ใช่รถแข่ง เราจะไม่สามารถรู้ลิมิตได้เลยว่ารถแรลลี่นั้นเมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วที่เราจำทางไว้มันจะหลุดโค้งมั้ย มันจะอันตรายแค่ไหน แล้วเรามาพูดถึงตรงนี้ใช่ไหมครับ

ถ้าพูดถึงความปลอดภัยในการแข่งขันทางเรียบในสนามเฉพาะที่เขาสร้างให้กับทางเรียบเนี่ย เค้าจะมีแบริเออร์มีการ์ดเรียงแล้วก็มีโฟมที่มันกันกระแทก มีบ่อทรายที่ลดความเร็ว แต่แรลลี่ไม่มีตรงนี้เลย แรลลี่ คือ เส้นทางที่ชาวบ้านใช้งานทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่คุณจะต้องเจอที่เป็นอุปสรรคเลยเมื่อคุณเกิดอุบัติเหตุหลุดโค้งคุณจะต้องเจอเช่น เสาหลักกิโล ต้นไม้ หิน หน้าผา หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ เหว ดังนั้นความปลอดภัยของแรลลี่น้อยมากครับ

ดังนั้น FIA ผู้จัดการแข่งขันก็เลยใส่ใจรายละเอียดว่า รถแข่งจะต้องสร้างให้ปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะมากได้สำหรับแรลลี่เพื่อที่จะลดอาการบาดเจ็บให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตรงนี้ก็เลยทำให้เรามั่นใจว่าถ้าเราแข่งแรลลี่ระดับรถเวิลด์แรลลี่แชมเปียนชิพที่ใช้รถที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ความปลอดภัยของมันก็คือเป็นมาตรฐานที่รับรองจาก FIA เปรียบได้ก็เหมือนกับฟอร์มูลา วัน อะครับ ก็คือฟอร์มูลา วัน เนี่ยรถจะปลอดภัยมากๆ รถแรลลี่ก็จะปลอดภัยในสไตล์แรลลี่ เพราะว่ารถพวกนี้มาจากโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน FIA จริงๆ เท่านั้นด้วย

Q4 : กดดันแค่ไหนที่ต้องเป็นนักแข่งจากชาติอาเซียนเพียงคนเดียวที่อยู่ในเวิลด์แรลลี่

เอส นราศักดิ์ : ผมมองว่าความกดดันตรงนี้เราไม่ได้กดดันเรื่องของผลการแข่งขันเรากดดันตรงที่ว่า ด้วยสิ่งที่เรามี ณ ตอนนี้ เราอยากให้ผู้ใหญ่มองเรา ลองเข้ามาเปิดโอกาสให้กับเราได้ไปทำหน้าที่ตรงนี้ได้สมบูรณ์แบบ คือเราจำเป็นต้องแข่งอย่างน้อย 6 สนาม จากทั้งหมด 12 จากกติกาของทางผู้จัดการแข่งขัน เราอยากได้แรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ให้เราได้ทำการแข่งขันและทำให้เราได้การเก็บตัว เพื่อที่จะให้ผลงานตรงนี้ เพื่อที่เวลาแข่งจริงผลงานจะได้ออกมาเต็มที่หน้าภาคภูมิใจของคนอาเซียนเพราะว่าตอนนี้ไม่ว่าภูมิภาคอะไรก็แล้วแต่ในอาเซียนทุกคนก็อยากเห็นคนอาเซียนไปลุยที่การแข่งขันระดับโลกที่เป็นนักแข่งคนไทยคนเดียวด้วยเพราะเพื่อนๆ ผม

ในวงการก็พยายามเริ่มให้กำลังใจในฐานะที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กๆ ผมเลยมองว่าความกดดันตรงนี้ผมไม่ได้กดดันเท่าไรเพราะผมทำหน้าที่เต็มที่แล้วก็รู้สึกมั่นใจ เพราะว่ามันเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก ผมมองว่าทำยังให้จุดเริ่มต้นตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจนถึงวันเก็บตัวที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาและแข่งจริงในเดือนพฤษภาจะสามารถต่อยอดไปให้ครบ 3-4 ปี

ตามแผนที่ฝรั่งวางไว้ให้ เพราะว่าทีมที่ผมไปอยู่ทีมเบลเยียมเขาบอกเราว่าเขาวางไว้ให้แล้วว่าปี 1 ปี 2 เนี่ย  "นราศักดิ์" จะต้องอยู่เลเวลไหน และปีที่ 3 เนี่ย "นราศักดิ์" จะต้องขึ้นไปสู่แรลลี่วัน แรลลี่วัน คือแรลลี่ 1 ถึง 7 เหมือน ฟอร์มูลา วัน แล้วก็คือว่า รุ่นสูงที่สุดและก็เป็นรถที่ดีที่สุดของรถแรลลี่ที่มีบนโลก เขาอยากให้ 3 ปีนี้มันเกิดขึ้น

ดังนั้นผมจึงมองว่าแรงกดดันที่มันเกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการขับมันเกิดจากว่า 3 ปี หลังจากนี้ เราจะได้โอกาสที่รัฐบาล เอกชน และผู้ชมทั้งหมด จะช่วยเป็นแรงบันดาลให้เราทำ 3 ปีนี้ได้ดีขนาดไหน ตัวผมอะได้ไปต่อยอดจะครบไหม 3 ปีได้ไปเก็บสนามครบไหม จะได้แชมเปียนชิพพอยต์ไปด้วยนั่นเอง เพราะว่าการแข่งขันต้องใช้เม็ดเงินในระดับนึง แต่ข้อดีของการใช้เม็ดเงินเยอะขนาดนี้คือเราเป็น 1 ในตัวแทนที่เราได้โอกาสเรารู้สึกว่า ถ้าเราไม่ได้โอกาสจากผู้ใหญ่แบบนี้เราก็อาจจะไม่มีโอกาสตรงนี้อีกแล้วด้วยอายุของผมมันอยู่ในช่วงปลายของโมโตสปอร์ต เลยอยากจะทำผลงานออกมาให้มันน่าประทับใจมากที่สุด จนฝรั่งรู้สึกว่า อาเซียนคนนี้เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ผมอยากให้มันเป็นอย่างนั้น

Q5 : เป้าหมายของซีซั่นแรกรายการ WRC คือเท่าไรของตารางแข่งขัน

"เอส นราศักดิ์" : ก็รถมันมี 20 คัน ณ ตอนนี้ เราอยากติด 1 ใน 5 เพราะว่าปีแรกมันเป็นปีที่เราพยายามที่จะปรับตัวให้เร็วที่สุดแล้วก็เราอยากจะให้มันติด 1 ใน 5 เลยเพราะว่าเนื่องจากแรลลี่มันเป็นสิ่งที่เรารอแค่ประสบการณ์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะการแข่งขันแรลลี่มันเป็นการแข่งขันที่ทุกคนก็ไม่ได้รู้จักสนามอะไรได้

ดังนั้นผมก็เลยมองว่าถ้าเราได้เก็บตัวที่ดีและเราไปเเข่งปีแรกเลยแล้วติด 1 ใน 5 เนี่ย ฝรั่งเขาคุยกับผมไว้นะครับว่าเขาจะพยายามทำให้ได้ เพราะงั้นผมเลยพยายามที่จะคอนเฟิร์มว่าจะติดให้ได้ 1 ใน 5 แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ผมก็จะพยายามประคองให้ติด 1 ใน 10 ให้มันรู้สึกว่ามีคะแนนเก็บอยู่ เผื่อว่าปลายปีเนี่ยเราอาจจะมีคะแนนเก็บที่ไปติด 1 ในท็อป 3 ก็ได้อะไรอย่างนี้อะครับ เพราะแรลลี่มันเก็บคะแนนแบบประจำปีทุกสนามรวมกันแล้วก็เป็นแชมป์ไรงี้ครับ คือถ้าเราพลาดแล้วคะแนนเก็บเราหายไปเราก็จะเสียโอกาส ผมเลยมองว่าถ้าเราแข่งครบ 6 สนาม เราอาจจะประคองสนาม 1-2 เราอาจจะประคองที่ 5-6 ก่อนไหม แล้วก็ประคองสนามที่ 3-4-5-6 ก็เป็นติด 1 ใน 5 แล้วคะแนนเก็บรวมก็ขึ้นมาเป็นติด 1 ใน 3 มันก็เป็นไปได้ เพราะแรลลี่มันไม่แน่ไม่นอนจริงๆ.

มีต่อภาค 2