หน้าแรกแกลเลอรี่

"Eau Rouge" 1 ในโค้งมรณะของวงการรถแข่งที่กลืนกินซากรถและชีวิตนักขับไปมากมาย

ไทยรัฐออนไลน์

29 ส.ค. 2564 15:38 น.

ประวัติของ 1 ในโค้งที่อันตรายที่สุดของวงการรถแข่ง ซึ่งอยู่ในประเทศเบลเยียม และได้ชื่อว่าเคยมีนักขับที่เกิดอุบัติเหตุที่นี่มากมาย

ย้อนกลับไปในรอบคัดเลือกจัดอันดับกริดสตาร์ตของ การแข่งขันรถสูตรหนึ่งชิงแชมป์โลก หรือ เอฟวัน สนามที่ 12 ของฤดูกาล 2021 เป็นการแข่งขันในรายการ เบลเยียม กรังด์ปรีซ์ ที่สนาม เซอร์กิต เดอ สปา-ฟรองโกชองส์ ที่ประเทศเบลเยียม

โดยสนามแห่งนี้มีหลายอย่างที่แฟนเอฟวันมักจะจำได้อย่างดีทั้ง ทางตรงที่ยาวเป็นอันดับต้นๆ ของทุกสนามที่ใช้แข่งเอฟวัน และมีหลายโค้งที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ(หนัก)

ประวัติโค้งมรณะ นามว่า "Eau Rouge" 

โดยที่โค้งที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ โค้ง 3-5 ของสนามแห่งนี้ โดยที่มีชื่อโค้งว่า Eau Rouge (โอรูจ) หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า น้ำสีแดง โดยที่แฟนเอฟวันหลายคนให้นิยามของโค้งนี้ว่า โค้งแห่งลูกผู้ชาย ก็ดี หรือโค้งแห่งมรณะ เพราะมักจะมีอุบัติเหตุเกิดบ่อยครั้งมาก

ซึ่ง 3 โค้งนี้มีลักษณะเป็นเนินเขา ซึ่งเป็นการขับต่อมาจากโค้ง 1 ก่อนที่จะเลี้ยวขวาและวิ่งตรงเข้าโค้ง 2 (แทบไม่เรียกโค้ง เพราะมันรู้สึกน้อยมาก) แต่พอจังหวะจะเข้าโค้ง 3 เป็นเนินเขาที่ต้องขับขึ้นเนิน และ บ่อยครั้งที่อุบัติเหตุจะเกิดกับตรงบริเวณนี้บ่อยครั้ง 

Eau Rouge โค้ง 3
Eau Rouge โค้ง 3
Eau Rouge โค้ง 3
Eau Rouge โค้ง 3

7 วัน กับ 3 อุบัติเหตุ

หากนับแค่ในสัปดาห์นี้ มีอุบัติเหตุอย่างน้อยๆ แล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในการแข่งขัน W Series หรือการแข่งขันของผู้หญิง ซึ่งก็เกิดเหตุชนกันบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ในการแข่งขัน ฟอร์มูลา ทรี นักแข่งหลายรายรถหมุนบริเวณนี้กันเยอะมากๆ และเกิดอุบัติเหตุบ่อยเอามากๆ แต่...สาเหตุสำคัญนอกจากโค้งที่ยากแล้วยังมี "พายุฝน" เข้ามาทำให้การขับ F3 ที่นักขับส่วนใหญ่ประสบการณ์ยังไม่มากพอ ต้องเรียนรู้อีกมากเพื่อผ่านไปให้ได้

และสดๆ ร้อนๆ เมื่อคืนที่ผ่านมา ในช่วงควอลิฟาย 3(Q3) ช่วงต้นของ Q3 เป็นช่วงที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักจากเดิมในช่วง Q1 และ Q2 นักขับหลายคนกำลังลังเลในเรื่องของการใช้ยาง เนื่องจากปัญหาฝนที่กำลังตกลงมาอย่างหนัก

โดยที่หลายคนลังเลจะใช้ยางอยู่ 2 แบบ คือ ยาง intermediate tyres (ยางเหมาะสำหรับน้ำฝนที่น้อย ดอกยางจะไม่เยอะมาก รีดน้ำได้ 35 ลิตร ในความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) หรือยาง Wet (ยางที่เหมาะสำหรับช่วงที่ฝนตก หรือน้ำท่วมขังเยอะ โดยสามารถรีดน้ำได้มากถึง 80 ลิตร ในความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) 

แต่ในช่วงท้าย Q2 เข้า Q3 มีพยากรณ์อากาศออกมาแล้วว่า ฝนจะเริ่มตกหนักขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนั้น และกรรมการเองก็รับทราบถึงพยากรณ์อากาศเหล่านั้น และการแข่งขันก็ดำเนินการกันต่อไป 10 คันสุดท้ายที่เข้าถึง Q3 เลือกที่จะใส่ยาง Wet เนื่องจากสภาพอากาศบนแทร็กเริ่มมีน้ำขังอย่างมาก 

แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับยาง Wet แต่ปัญหาก็คือ บริเวณโค้ง 3-5 เป็นเนินเขาซึ่งน้ำไหลลง ทำให้นักขับจะต้องวิ่งสวนน้ำ ซึ่งแลนโด นอร์ริส ยอดนักขับฝีมือดีจาก แม็คลาเรน ก็ประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับกำแพงอย่างจังจนไม่สามารถขับต่อไปได้ และหลังจากนั้นฝนก็เริ่มตกหนักขึ้นจนทำให้กรรมการต้องปล่อยธงแดงออกมาหยุดการแข่งขันชั่วคราว 

และ 3 สัปดาห์ก่อนในการแข่งขัน 24 ชั่วโมง ที่สนามนี้ ช่วงออกสตาร์ตนาทีแรกๆ ก็มีรถที่ต้องออกจากการแข่งขันเพราะอุบัติเหตุบริเวณโค้งนี้ไปแล้วมากถึง 4 คัน 

โค้งกินรถและชีวิตนักขับ

หากย้อนกลับไปในระยะ 6 ปีหลังสุด มีเหตุการณ์ที่แฟน F1 F2 จำได้ดี ในปี 2016 เควิน แม็คนูสเซนต์ นักขับของทีม เรโนลต์ หลุดโค้งบริเวณทางขึ้นเขา ก่อนที่รถจะพุ่งเข้าชนกำแพงฝั่งขวา ทำเอาชิ้นส่วนที่คลุมบริเวณหลังคอหลุดจากตัวรถไปเลย แต่เคราะห์ดีที่นักขับไม่เป็นอะไร

นอกจากนี้ในปี 2019 วงการรถแข่ง F1 ต้องสูญเสีย 1 ในดาวรุ่งที่มีฝีมือ นามว่า "อองตวน ฮูแบร์" นักขับเอฟทู ชาวฝรั่งเศส แม้ว่าในครั้งนั้นอุบัติเหตุจะเกิดจากการที่เขาเฉี่ยวกับรถคันอื่น ก่อนที่จะถูกรถที่ขับตามหลังชนเข้าไปด้วยความเร็ว 273 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!! ก่อนเสียชีวิตในภายหลัง

ฮูแบร์ เป็นเพื่อนสนิทของใครหลายๆ คนในวงการเอฟวันปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น "ชาร์ล เลอแคร์" นักขับเบอร์ 1 ของ "เฟอร์รารี่" และ "ปิแอร์ แกสลี" นักขับเพื่อนร่วมชาติของฮูแบร์ จากสังกัด "อัลฟ่าทาวรี่" ซึ่งเป็นคนที่สนิทกับ ฮูแบร์ ที่สุด และทุกๆ ปี เขาทั้ง 2 คนจะเดินเอาดอกไม้มาวางที่บริเวณจุดที่รถของ ฮูแบร์ ชน 

ปิแอร์ แกสลี
ปิแอร์ แกสลี

แน่นอนว่าสนามนี้เป็นสนามที่เก่าแก่และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่นักขับทุกคนจะต้องรู้จักการเข้าโค้งที่สนามแห่งนี้หากหวังจะมีชีวิตผ่านไปสนามต่อไป เพราะโค้งนี้กลืนกินรถและชีวิตของนักขับไปหลายครั้งแล้ว.

(ไปร์ท ปริญ)

ParinPinyo