ไทยรัฐออนไลน์
เพิ่มความมัน 5 สิ่งที่ควรรู้ก่อนชมศึก “เอ็นบีเอ ออลสตาร์ 2022” ที่เมืองคลีฟแลนด์ ระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ. 65
วันที่ 17 ก.พ. 65 หลังจากที่หลัง "เอ็นบีเอ" ได้ประกาศสถานที่ตั้งการแข่งขันสุดหรรษาของบรรดาเหล่านักบาสเกตบอลระดับแนวหน้าของลีกและผู้เล่นหน้าใหม่ได้มาประลองฝีมือกันในรายการ "เอ็นบีเอ ออลสตาร์ 2022" ที่ร็อกเกต มอร์ทเกจ ฟิลด์เฮาส์ เมือง คลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันรายการนี้
สำหรับการแข่งขันในปีนี้มีหลายประเด็นให้น่าติดตามมากมาย ทาง ทีมข่าว ไทยรัฐสปอร์ต จะพาไปชมไฮไลต์ 5 สิ่งที่ควรรู้ก่อนดูศึก “เอ็นบีเอ ออลสตาร์ 2022” เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้น
1.ความขลังของเมืองคลีฟแลนด์
เริ่มต้นในส่วนของเมืองแห่งนี้อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าเมืองแห่งนี้เป็นเจ้าภาพการออลสตาร์ถึง 3 ครั้ง และในแต่ละครั้งที่จัดจะอยู่ในช่วงการเฉลิมฉลองครบรอบเอ็นบีเอทั้งหมด ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 1981 ฉลองครบรอบ เอ็นบีเอ 35 ปี, ครั้งที่สองปี 1997 ฉลองครบรอบ เอ็นบีเอ 50 ปี และครั้งล่าสุดปี 2022 ฉลองครบรอบเอ็นบีเอ 75 ปี ซึ่งที่ว่าเป็นมนต์ขลังที่อยู่คู่เมืองมาอย่างยาวนานที่ได้มีโอกาสจัดรายการนี้ในช่วงของการฉลองครบรอบเอ็นบีเอทุกๆ ครั้ง
อีกทั้งยังมีสถิติต่างๆ ของผู้เล่นระดับตำนานหลายคนได้ทำไว้ในเกมออลสตาร์ ณ เมืองแห่งนี้ อาทิ "ไมเคิล จอร์แดน" ทำ ทริปเปิล-ดับเบิล ในเกมออลสตาร์ได้หนแรกของอาชีพ ในปี 1997 หรือ "โคบี ไบรอันท์" อีกหนึ่งนักบาสเกตบอลระดับตำนานผู้ล่วงลับ ที่โชว์ฟอร์มลีลาการดังค์สุดดุดันจนคว้าแชมป์ สแลมดังค์ ได้ในปีเดียวกันกับ "จอร์แดน" ซึ่งยังทำสถิติผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุด ที่คว้ารางวัลนี้มาได้ด้วยอายุเพียง 18 ปี เท่านั้นเอง ซึ่งถือเป็นอีกเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันสวยหรูทุกครั้งที่จัดแข่งออลสตาร์
2.เลบรอน เจมส์ กับเป้าหมายเทียบเท่าตำนาน
ขณะที่ “เลบรอน เจมส์” ที่อายุกำลังจะย่างเข้า 38 ปี แม้อายุเพิ่มขึ้นแต่ฝีมือของเขายังไม่ลดลง ยังโลดแล่นอยู่ในลีกได้อย่างสบายอีกทั้งยังเป็นผู้นำหลักของ "แอล.เอ.เลเกอร์ส" จนฟอร์มเยี่ยมติด ออลสตาร์ ได้เป็นหนที่ 18 ของอาชีพมากที่สุดของผู้เล่นในปีนี้และยังเป็นผู้เล่นอันดับ 2 ที่ติดออลสตาร์มากสุดรองจาก “คารีม อับดุล-จับบาร์ “ ที่ทำไว้ 19 ครั้ง
อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักในครั้งนี้คงไม่ใช่เพียงแค่คว้าชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้ให้ได้ แม้ว่าช่วงหลังที่เจ้าตัวได้เป็นกัปตันทีมมีสถิติที่ยอดเยี่ยมไม่เคยแพ้ใครเลย ชนะ 4 แพ้ 0 ตั้งแต่ปี 2018 ที่เปลี่ยนกฎเป็นกัปตันทีมเลือกลูกทีม
แต่ทว่ากับเป็นเป้าหมายของการคว้าผู้เล่นทรงคุณค่าของรายการนี้มาครองให้ได้ โดย "เลบรอน เจมส์" เคยคว้ามาแล้วถึง 3 ครั้ง เป็นอันดับที่ 2 ซึ่งถ้าเจ้าตัวสามารถคว้ารางวัลนี้ได้อีกครั้งหนึ่ง จะเป็นผู้เล่นที่คว้ารางวัลนี้มากสุดถึง 4 ครั้ง เทียบเท่ากับ “โคบี ไบรอันท์” และ “บ็อบ เพตติต“ ที่ยังคงไม่มีใครทำลายลงได้มานานกว่า 10 ปี ซึ่งต้องคอยติดตามชมกันว่า “แอลบีเจ” นั้น จะเน้นในการแข่งขันครั้งนี้เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองเพิ่มขึ้นได้หรือไม่
3.ยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว
หลังจากที่ประกาศรายชื่อผู้เล่นเหล่าออลสตาร์ออกมาครบเรียบร้อยแล้ว ในปีนี้มีผู้เล่นหน้าใหม่ถูกเรียกติดมาอย่างล้นหลาม ทั้งถูกเลือกจากการโหวตและมาแทนผู้เล่นที่บาดเจ็บ ซึ่งในปีนี้มีผู้เล่นที่อายุต่ำกว่า 30 ปี มากถึง 18 คน ซึ่งผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดเป็น “ลาเมโล บอล” ที่อายุเพียง 20 ปี ซึ่งเป็นปีแรกของเจ้าตัวอีกด้วย แถมยังมีผู้เล่นคนอื่นที่ได้มาโชว์ฟอร์มครั้งแรกในรายการนี้อีกด้วย อย่าง เจลเลทท์ อัลเลน, ดาเรียส การ์แลนด์, เฟร็ด ฟาน วีด, แอนดรูว วิกกินส์, จา มอแรนท์, เดจอย์นเต เมอร์เรย์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่มากมาย แต่มีผู้เล่น 3 คนที่ถูกเรียกขึ้นมาแทนผู้เล่นที่มีอาการบาดเจ็บจนต้องถอนไปทั้ง เควิน ดูแรนท์, เดรย์มอน กรีน และ เจมส์ ฮาร์เดน ซึ่งทำให้ผู้ชมบางส่วนอาจมีมุมมองไม่เห็นด้วยเพราะยังมีผู้เล่นที่พอมีประสบการณ์และผลงานยอดเยี่ยมมากมาย แต่กลับไม่ถูกเรียกติดในออลสตาร์ปีนี้ทำให้เป็นโอกาสของผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาลองปืนดวลกับผู้เล่นระดับเก๋า
4.ถ้วยรางวัลสุดพิเศษ
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยเมื่อมีการแข่งขันก็ต้องมีถ้วยรางวัล ซึ่งภายในปีนี้ได้มีการจัดทำถ้วยรางวัลสุดแปลกตาไม่เหมือนปีอื่นที่ผ่านมา โดยคอนเซปต์หลักของถ้วยใบนี้สื่อถึงผู้เล่นระดับตำนานที่เคยโชว์ฟอร์มอันยอดเยี่ยมในเมืองแห่งนี้อย่าง "โคบี ไบรอันท์" ที่จากโลกนี้ไปแล้วกว่า 2 ปี ซึ่งได้รับการออกแบบร่วมกับศิลปินอย่าง "วิกเตอร์ โซโลมอน" ที่จะมอบให้กับผู้เล่นทรงคุณค่าในรายการปีนี้
ในส่วนของฐานรองที่เป็นลักษณะ 8 เหลี่ยม ที่สื่อถึงเบอร์แรกในอาชีพของ ไบรอันท์ พร้อมกับสลักดาวรอบ 18 ดวง หมายถึงจำนวนครั้งที่ "ไบรอันท์" เข้าร่วมแข่งขันออลสตาร์ตลอดอาชีพ, ต่อมาชั้นแรกเป็นคริสตัลรูปดาว 24 แฉก ที่มีความหมายถึงเบอร์เสื้อเบอร์ที่สองของเจ้าตัวและยังถือเป็นเบอร์ประจำตัวที่ผู้คนคุ้นเคย, ถัดมาในชั้นที่ 2 เป็นรูปดาว 10 แฉก สื่อถึงเบอร์เสื้อของ ไบรอันท์ ที่ใช้ในการรับใช้ชาติ, ชั้นที่ 3 เป็นรูปดาว 5 แฉกที่สื่อถึงแชมป์ 5 สมัยของเจ้าตัวที่ทำได้ตลอดอาชีพ และสุดท้ายดาวดวงเด่นสง่าบนยอดถ้วยเพียงดวงเดียวมีความหมายถึงการคว้าตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่าเพียงครั้งเดียวในฤดูกาล 2007-2008
5.การแข่งขันรูปแบบใหม่
ในส่วนของปีนี้มีการเปลี่ยนการแข่งขันของ "ไรซิง สตาร์" ที่จะรวมดาวของดาวรุ่งหน้าใหม่ที่เข้าลีกมาเพียง 2 ปี มาประชันฝีมือกันในรายการนี้ แต่ทว่าปีนี้ได้เปลี่ยนกฎเดิมออกไป เพิ่มเติมคือว่าเร้าใจและลุ้นมากกว่าเดิม ซึ่งจะแบ่งทีมที่รวมรุกกี้ปีแรก 12 คน, ดาวรุ่งปีสองอีก 12 คน และผู้เล่นดาวรุ่งจาก G League (ลีกรอง)อีก 4 คน รวมทั้งหมด 28 คน มาแบ่งกันเป็น 4 ทีม ทีมละ 7 คน ซึ่งในรอบแรกจะจับประกบคู่กันแข่งกันทีมไหนทำได้ 50 แต้มก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ ส่วนในรอบชิงนั้นจะแข่งขันกันเพียง 25 แต้ม ผู้ที่ทำคะแนนได้ถึงก่อนก็จะเป็นฝ่ายชนะ ส่วนจุดประสงค์การแข่งขันในครั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปีที่ 75 ของเอ็นบีเอ ที่จะเท่ากับ 75 แต้ม
ขณะที่การแข่งขัน อลลสตาร์รุ่นใหญ่ ยังคงแข่งขันตามเดิม ตั้งแต่ปี 2020 ที่จะแข่งขันกัน 4 ควอเตอร์ โดยใน 3 ควอเตอร์แรก จะแข่งกัน 12 นาที แต่ในควอเตอร์สุดท้ายจะเป็นไฮไลต์ของงาน ซึ่งจะนำแต้มของทีมที่นำอยู่ บวกเพิ่มไปอีก 24 แต้ม เพื่อเป็นแต้มจบของการแข่งขันในครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น จบควอเตอร์ที่ 3 ทีมเลบรอน 100-99 ทีมดูแรนท์ ซึ่งจะนำคะแนนของทีมที่นำอยู่บวกเพิ่มไปอีก 24 คะแนน เพื่อหาสกอร์สิ้นสุด จะเท่ากับว่า ในควอเตอร์สุดท้ายทีมไหนที่ทำแต้มได้ถึง 124 คะแนนก่อนจะเป็นฝ่ายชนะไปในการแข่งขันปีนี้
สำหรับการแข่งขัน "เอ็นบีเอ ออลสตาร์ 2022" จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ. 65 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งรายการใหญ่เป็นการแข่งกันของ"ออลสตาร์" รุ่นใหญ่จะแข่งกันในช่วงเช้าวันสุดท้าย เวลา 08.00 น.