โจโจ้
ถึงคิวนักกีฬาคนพิการได้โชว์ฝีไม้ลายมือบ้างใน “เอเชียนพาราเกมส์” ครั้งที่ 3 ที่รูดม่านเปิดฉากชิงชัยอย่างเป็นทางการยาวไปจนถึง 28 ต.ค.ที่ดินแดนมังกร
แม้ชนิดกีฬารวมถึงวันแข่งขันอาจไม่เยอะหรือยาวนานเหมือนเอเชียนเกมส์ แต่ก็ถือว่ามีความหมายและมีความภาคภูมิใจสำหรับคนไทยอย่างมาก ที่ได้เห็นธงชาติไทยโบกสะพัดบนยอดเสาเวลาที่นักกีฬาประสบความสำเร็จได้เหรียญทอง
แต่เท่าที่เห็นจากการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่เพิ่งปิดฉากผ่านพ้นไปแล้ว ขอเป็นหมอดูทำนายผลไว้ล่วงหน้าเลยว่า เจ้าภาพไม่น่าพลาดที่จะครองเจ้าเหรียญทองอย่างไม่ต้องสงสัย
ในเรื่องฝีมือต้องยกนิ้วให้ว่าสุดยอด แต่ที่สุดยอดกว่าคือเรื่องของการตัดสิน ก็ไม่รู้ว่าจะเหมือนกับ “หางโจวเกมส์” ที่เพิ่งปิดฉากไปหรือเปล่า ที่การตัดสินออกมาค้านสายตาในหลายชนิดกีฬา
พูดถึงกีฬาคนพิการต้องยกนิ้วให้กับความทุ่มเทบวกความตั้งใจของนักกีฬาทุกคน ที่ยอมเสียสละเวลาในการฝึกซ้อม เพื่อหวังนำพาความสำเร็จสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ
ขนาดนักกีฬาปกติยังยากเย็นแสนเข็ญเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะได้มาสักเหรียญ
แล้วนักกีฬาคนพิการล่ะครับ เราจะมองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะพวกเขาก็คือตัวแทนคนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติเช่นกัน
เพียงแต่วันนี้อยากจะฝากไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องและการกีฬาแห่งประเทศไทยและโอลิมปิกไทย ถึงเรื่องเงินรางวัลที่จะมอบให้กับนักกีฬาคนพิการควรจะเท่าเทียมกับคนปกติ
อย่าไปนึกเลยครับว่าเอเชียนเกมส์ลำบากกว่าเอเชียนพารา! ลองทบทวนดูนะครับ คนปกติมีร่างกายที่ครบ 32 กว่าจะได้เหรียญมาต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง
แล้วนักกีฬาคนพิการล่ะครับ พวกเขามีร่างกายที่แตกต่างจากคนปกติ เอาแค่จุดนี้ก็น่าจะเปรียบเทียบกันได้แล้วว่าใครยากกว่ากันเวลาลงแข่งขัน
เมื่อวันนี้ทุกคนอยากเห็นความเสมอภาคเท่าเทียมกันก็ควรต้องกลับมาคิดทบทวน และปรับเรื่องเงินรางวัลสักนิดถึงความเหมาะสม
ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น พวกนักกีฬาคนพิการเองเขาก็เรียกร้องมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นมีท่าทีว่าจะขยับหรือปรับเพื่อความเหมาะสมสักที
วันนี้รัฐบาลเปลี่ยนหน้าแล้ว ลองนำเรื่องนี้มาหารือแล้วปรับแก้กันสักนิด เชื่อว่าจะได้ใจคนอีกเยอะ
อย่าลืมว่าพวกเขาก็นักกีฬาไทยที่เสียสละเพื่อประเทศชาติเหมือนกัน.
โจโจ้
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่