กัญจน์
อีกเพียงไม่กี่วัน มหกรรม กีฬาใหญ่อีกรายการ อย่าง “เวิลด์เกมส์ 2022” ก็กำลังจะเปิดฉากขึ้น โดยครั้งนี้เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศสหรัฐอเมริกา รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 7-17 กรกฎาคม 2565
และแน่นอนว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หน่วยงานกีฬาหลักของประเทศ ได้ดำเนินการส่งนักกีฬาทีมชาติไทยเดินทางไปร่วมการแข่งขันด้วย
สำหรับเกมการชิงชัยรายการนี้ มีความสำคัญและมีความหมายอย่างไร ต้องย้อนกลับไปเล็กน้อย โดยฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ กกท. ให้ข้อมูลไว้ว่า ต้นกำเนิดเวิลด์เกมส์ มาจากแนวคิดที่ว่า โอลิมปิกเกมส์มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนชนิดกีฬาที่บรรจุเข้าแข่งขัน
ในช่วงที่โอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ถือกำเนิด และทำการแข่งขันกัน 10 ครั้งแรก มีชนิดกีฬาบรรจุชิงชัยระหว่าง 9-22 ชนิดกีฬา พอมาในยุคหลัง จึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมทุกชนิดกีฬา
จำนวนชนิดกีฬาที่จำกัดในโอลิมปิกเกมส์แต่ละครั้ง ไม่สอดคล้องกับการเติบโตของวงการกีฬาโลก ที่นับวันยิ่งขยายฐานกีฬาหลากชนิด หลายประเภท รวมถึงมีกีฬากำเนิดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
เหตุนี้สหพันธ์กีฬานานาชาติจึงหารือกันในประเด็นดังกล่าว ก่อนร่วมกันก่อตั้ง “สมัชชาใหญ่สหพันธ์กีฬานานาชาติ” (General Assembly of International Sports Federations) ขึ้นในปี 1967
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติ” (General Association of International Sports Federations) หรือ “ไกส์ฟ” (GAISF) ในปี 1976 โดยมีสำนักงานใหญ่ ที่โมนาโก
ในเวลาต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Global Association of International Sports Federations จนถึงปัจจุบันไกส์ฟทำงานประสานใกล้ชิดกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ในฐานะเจ้าของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โดยหารือกันเพื่อผลักดันให้กีฬาที่ไม่ถูกบรรจุในโอลิมปิกเกมส์ได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ
ขณะที่สหพันธ์กีฬาต่างๆต่างแสดงเป้าประสงค์ที่จะให้กีฬาของตัวเองได้รับการยอมรับในวงกว้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้บรรจุเข้าแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุด
ในช่วงนั้นสหพันธ์กีฬานานาชาติได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อศึกษาแนวทางผลักดันให้กีฬาที่ไม่ได้บรรจุในโอลิมปิกเกมส์ได้มีเวทีแข่งขันในระดับนานาชาติที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโอลิมปิกเกมส์
แนวคิดการจัดการแข่งขันเวิลด์เกมส์จึงถือกำเนิดขึ้น โดยตั้งคณะกรรมการเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมารับผิดชอบ คือ “สภาเวิลด์เกมส์” และผลักดันจนจัดการแข่งขันครั้งแรกได้ที่เมืองซานตา คลารา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1981 โดยทำการแข่งขัน 15 ชนิดกีฬา ชิง 104 เหรียญทอง
ต่อมาในปี 1984 สภาเวิลด์เกมส์เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมเวิลด์เกมส์นานาชาติ” (IWGA) มีสำนักงานใหญ่ที่นครโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสหพันธ์กีฬานานาชาติเป็นสมาชิก 39 สหพันธ์
IWGA กำหนดพันธกิจสำคัญไว้ว่า เป็นการสร้างมิตรภาพที่เข้มแข็งระหว่างสหพันธ์กีฬานานาชาติ เพื่อสนับสนุนและผลักดันกีฬาในระดับสากล ให้การแข่งขันเวิลด์เกมส์เป็นมหกรรมกีฬาและเทศกาลกีฬาระดับนานาชาติอย่างมั่นคงสม่ำเสมอ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเวิลด์เกมส์ก็กำหนดการแข่งขันทุกๆ 4 ปี โดยจะจัดหลังจากโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน 1 ปี และถือเป็นมหกรรมกีฬาระดับโลก ที่จัดแบบคู่ขนานไปกับโอลิมปิกเกมส์
และเช่นเดียวกับโอลิมปิกเกมส์ การแข่งขันเวิลด์เกมส์ครั้งต่อๆมาก็ขยายสเกลการแข่งเพิ่มขึ้นตามชนิดกีฬาที่เพิ่มจำนวนและเติบโต จนได้รับความนิยมในระดับนานาชาติมากขึ้น
ก่อนหน้านี้นักกีฬาไทยเคยเข้าร่วมการแข่งขันเวิลด์เกมส์มาแล้ว 5 ครั้ง ช่วยกันทำไปได้แล้วรวม 4 เหรียญทอง 10 เหรียญเงิน และ 6 เหรียญทองแดง
เริ่มตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อปี 1981 ที่เมืองซานตา คลารา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพรทิพย์ สิงหะ นักกีฬาโบว์ลิ่ง คว้าเหรียญเงินมาครองได้
ส่วนครั้งนี้เวิลด์เกมส์ 2022 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า กกท.ส่งนักกีฬาที่ผ่านการควอลิฟายตามระบบร่วมชิงชัย 8 ชนิดกีฬา จากที่เจ้าภาพจัดทั้งหมด 34 ชนิดกีฬา เป็นนักกีฬา 31 คน เจ้าหน้าที่ 21 คน
นักกีฬาทีมชาติไทยประกอบด้วย กีฬาทางอากาศ 1 คน วรรรญา วรรณผ่อง, ยูยิตสู 5 คน กันจุฑา ภัทรบุญซ่อน, นุชนาฎ สิงห์ฉลาด, อรภา เสนาธรรม, วราวุฒิ แสงศรีเรือง และลลิตา ยืนนาน, เปตอง 2 คน นันทวัน เฟื่องสนิท และพันธ์ทิพา วงศ์ชูเวช ซึ่งคู่นี้เป็นแชมป์โลก และแชมป์เก่าประเภทหญิงคู่
มวยไทย 5 คน วีระศักดิ์ ทาระขจัด, อนึง คัตมารศรี, ธเนศ นิตุธร, วันสว่าง ศรีละออ และ เจนจิรา วังกฤก, ซูโม่ 2 คน กมลชนก อำนวยพล และวิภารัตน์ วิทูธีรศานต์, วูซู 1 คน โจ แซ่ลี, เอ็กซ์ตรีม 1 คน ปฏิวัต แจ่มจันทร์ และฟลอร์บอล 14 คน อรรถชัย โส๊ะตรี, เอริค สเตฟาน ซิม่อน, อเล็กซานเดอร์ คาร์ล ดาเนียล, สุรพงศ์ สังข์มงคล, สันติพงษ์ สุขเกษม, ปวัฒน์ ไทยดิษฐ์, ประกาศิต นามสว่าง, อภิเชษฐ์ รัตนประทุม, จีรยุทธ แย้มยิ้ม, ชูศักดิ์ นาคประเสริฐ, วีระศักดิ์ พิมพา, เลียม เกิดสว่างวงศ์, ยศพงษ์ ชัยพริ้ง และ พีรพงษ์ คำบรรลือ
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวต่อว่า การแข่งขันเวิลด์เกมส์ แม้จะเป็นมหกรรมกีฬาที่ไม่ได้อยู่ในโอลิมปิกเกมส์ แต่ถือเป็นมหกรรมกีฬารายการสำคัญ มั่นใจว่าการแข่งขันจะเข้มข้นไม่แพ้โอลิมปิกเกมส์ เพราะมีแต่นักกีฬาระดับหัวกะทิของแต่ละกีฬานั้นๆเข้าร่วม
ที่สำคัญแต่ละชนิดกีฬา มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดรูปแบบและแนวทางการแข่งขันของตัวเอง เพื่อเสนอตัวเข้าบรรจุแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ต่อไป
ส่วนเป้าหมายของทัพนักกีฬาไทยครั้งนี้ ดร.ก้องศักดกล่าวว่า กกท.ในฐานะที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมนักกีฬาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน หวังว่านักกีฬาไทยจะทำหน้าที่เต็มความสามารถ
และทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด...
กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง