หน้าแรกแกลเลอรี่

เปิดเส้นทาง “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2022”

ไทยรัฐออนไลน์

2 ม.ค. 2565 13:00 น.

“สองล้อ” เปิดเส้นทางแข่งขันศึกจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2022” ในจังหวัดมุกดาหาร-สกลนคร-นครพนม ชิงชัยระหว่างวันที่ 1-10 เม.ย. 65 ระยะทางรวม 1,250.4 กิโลเมตร

วันที่ 2 ม.ค. 64 “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ เตรียมจัดการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2022” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ได้บรรจุลงในปฏิทินการแข่งขันประจำปี 2022 ของ ยูซีไอ ในระดับ 2.1 ซึ่งกำหนดแข่งขันประเภททีมชาย ระหว่างวันที่ 1-6 เมษายน 2565 และประเภททีมหญิง ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 เส้นทางในจังหวัดมุกดาหาร, สกลนคร และนครพนม ระยะทางรวมทั้งสิ้น 1,250.4 กิโลเมตร ล่าสุด คณะทำงานฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ไปสำรวจและวางเส้นทางแข่งขันเรียบร้อยแล้ว

พลเอกเดชา กล่าวว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ ยังคงจัดการแข่งขันจักรยานทางกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2022” ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ New Normal ภายใต้มาตรการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค. อย่างเคร่งครัดเช่นเดิม สำหรับเส้นทางการแข่งขันเป็นเส้นทางที่ท้าทาย มีความสวยงาม และผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของแต่ละจังหวัด ซึ่งแฟนกีฬาจักรยานทั่วโลกจะได้เห็นทัศนียภาพอันสวยงามของริมแม่น้ำโขงผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ และยูทูบ ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตั้งแต่ต้นจนจบการแข่งขัน และภายในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมนี้ สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะดำเนินการส่งเอกสารเชิญทีมอาชีพจากชาติต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา ให้มาร่วมการแข่งขัน คาดว่าจะมีทีมต่างชาติตอบรับไม่ต่ำกว่า 20 ทีม

นายกสองล้อไทย กล่าวว่า จากความสำเร็จในการจัดการแข่งขันเมื่อปี 2564 จนได้รับการชื่นชมจากทุกฝ่าย ทั้ง มร.เดวิด แล็ปปาร์เตียงท์ ประธานสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ ยูซีไอ ที่ได้ส่งสารมาทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสดงความยินดี รวมไปถึงผู้ตัดสินนานาชาติที่มาปฏิบัติหน้าที่ และผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดที่เป็นเส้นทางการแข่งขัน ที่สำคัญประเทศไทยเป็นเพียงชาติเดียวในทวีปเอเชียที่สามารถจัดแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นว่าจะเกิดความปลอดภัยต่อนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ทีมอาชีพจากประเทศต่างๆ ก็มีความมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 และมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนการดูแลต้อนรับเป็นอย่างดีเยี่ยมในระหว่างที่ทุกทีมพำนักอยู่ในประเทศไทย

พลเอกเดชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเภททีมชาย แข่งขันระหว่างวันที่ 1-6 เมษายน 2565 แบ่งเป็น 6 สเตจ เส้นทาง จังหวัดมุกดาหาร-สกลนคร-นครพนม ระยะทางรวม 957.4 กิโลเมตร ดังนี้ สเตจที่ 1 วันที่ 1 เมษายน 2565 เส้นทางแข่งแบบเซอร์กิต ในจังหวัดมุกดาหาร เริ่มจากหอแก้วมุกดาหาร-ผ่านอำเภอนิคมคำสร้อย-ภูจ้อก้อ-อำเภอหนองสูง-อำเภอคำชะอี-สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2-กลับมาเข้าเส้นชัยที่หอแก้วมุกดาหาร ระยะทาง 158.5 กิโลเมตร / สเตจที่ 2 วันที่ 2 เมษายน 2565 เส้นทางจากจังหวัดมุกดาหาร ไปยังจังหวัดสกลนคร เริ่มต้นจากหอแก้วมุกดาหาร-ผ่านอำเภอผึ่งแดด-วัดป่าภูค้อ-อำเภอเต่างอย-อุทยานแห่งชาติภูผายล-อุทยานแห่งชาติภูพาน-พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์-เข้าเส้นชัยที่ศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร ระยะทาง 180.9 กิโลเมตร

สเตจที่ 3 วันที่ 3 เมษายน 2565 เส้นทางแข่งแบบเซอร์กิต ภายในจังหวัดสกลนคร เริ่มต้นจากศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร-ผ่านอุทยานแห่งชาติภูพาน-พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์-เขื่อนน้ำพุง-อุทยานแห่งชาติภูผายล-วัดพระธาตุเต่างอย-ชุมชนเลี้ยงโคเนื้อโพนยางคำ-กลับมาเข้าเส้นชัยที่ศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร ระยะทาง 117 กิโลเมตร / สเตจที่ 4 วันที่ 4 เมษายน 2565 เส้นทางจากจังหวัดสกลนคร ไปยังจังหวัดนครพนม ระยะทาง 174 กิโลเมตร เริ่มต้นจากศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร-ผ่านอุทยานหนองหารเฉลิมพระเกียรติ-อำเภอนาหว้า-สวนป่าภูกระแต-อำเภออากาศอำนวย-ผ่านแหล่งเรียนรู้ไดโนเสาร์ อำเภอท่าอุเทน-สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 (นครพนม-คำม่วน)-เลาะริมฝั่งแม่น้ำโขง-เข้าเส้นชัยที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม

สเตจที่ 5 วันที่ 5 เมษายน 2565 เส้นทางแข่งแบบเซอร์กิต ภายในจังหวัดนครพนม เริ่มต้นจากลานพญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม-เลาะริมฝั่งแม่น้ำโขง-ผ่านอำเภอโพนสวรรค์-อำเภอกุสุมาลย์-วัดพระธาตุมหาชัย อำเภอปลาปาก-โรงเรียนมัธยมพัชรกิตติยาภา-กลับมาเข้าเส้นชัยลานพญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม ระยะทาง 161 กิโลเมตร / สเตจที่ 6 วันที่ 6 เมษายน 2565 เส้นทางจากจังหวัดนครพนม ไปยังจังหวัดมุกดาหาร เริ่มต้นจาก ลานพญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม-ผ่านวัดพระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร-อำเภอนาแก-วัดพระธาตุพนม-แก่งกะเบา-ผ่านสักการสถาน พระมารดาแห่งมรณสักขี (วัดสองคอน)-สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2-เข้าเส้นชัยที่วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ ระยะทาง 166 กิโลเมตร

ประเภททีมหญิง แข่งขันระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 เส้นทางใน จังหวัดมุกดาหาร-นครพนม ระยะทางรวม 293 กิโลเมตร ดังนี้ สเตจที่ 1 วันที่ 8 เมษายน 2565 เริ่มต้นจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2-เลาะริมแม่น้ำโขง-ผ่านวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม-แก่งกะเบา-ผ่านสักการสถาน พระมารดาแห่งมรณสักขี (วัดสองคอน)-เข้าเส้นชัยที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ระยะทาง 85 กิโลเมตร / สเตจที่ 2 วันที่ 9 เมษายน 2565 เริ่มต้นจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2-ผ่านภูจ้อก้อ-อำเภอคำชะอี-อำเภอนิคมคำสร้อย-อำเภอหนองสูง-เข้าเส้นชัยที่วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ ระยะทาง 125 กิโลเมตร /สเตจที่ 3 วันที่ 10 เมษายน 2565 เริ่มต้นจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2-ผ่านตลาดอินโดจีน-ผ่านหอแก้วมุกดาหาร-ภูผาเทิบ-ผ่านมัสยิดกลางมุกดาหาร-เข้าเส้นชัยที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ระยะทาง 83 กิโลเมตร

พลเอกเดชา กล่าวเสริมว่า การแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2022” จะมีการถ่ายทอดสดให้ชมครบทุกสเตจทั้งประเภททีมชายและทีมหญิง โดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะดำเนินการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และยูทูบ ซึ่งการแข่งขันเมื่อปี 2564 มียอดวิวรวมมากกว่า 1,500,000 วิว โดยก่อนเริ่มการแข่งขันแต่ละสเตจจะมีการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับทราบ เมื่อชาวต่างชาติได้เห็นทัศนียภาพอันสวยงามของแต่ละจังหวัดก็อยากจะเดินทางมาท่องเที่ยว นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักและฟื้นฟูอีกครั้ง หลังประสบปัญหาซบเซาจากการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 เพราะจะมีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้ติดตามเดินทางมาเป็นจำนวนมาก จะมีการจับจ่ายใช้สอย การเข้าพักในโรงแรม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยใช้กีฬาจักรยานเป็นสื่อกลาง.