ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
ภายใต้มาตรการป้องกันไวรัสอันตราย ที่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และเจ้าภาพญี่ปุ่น มีการออกคู่มือ “เพลย์บุ๊ก” ร่วมกัน ให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัดแบบสุดๆ
โดยหลังจากนักกีฬา 205 ชาติ และทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัย รวมกว่า 11,000 คน ได้ชิงชัยกันใน 33 ชนิดกีฬา 339 เหรียญทอง กันไปเมื่อระหว่างวันที่ 23 ก.ค.- 8 ส.ค.ที่ผ่านมา
ผลปรากฏว่าทัพนักกีฬาสหรัฐอเมริกา แซงเข้าป้ายคว้าเจ้าเหรียญทองไปครอง ทำไป 39 เหรียญทอง 41 เหรียญเงิน 33 เหรียญทองแดง
ส่วนอันดับ 2 เป็นจีน ได้ไป 38 เหรียญทอง 32 เหรียญเงิน 18 เหรียญทองแดง และอันดับ 3 ญี่ปุ่น 27 เหรียญทอง 14 เหรียญเงิน 17 เหรียญทองแดง
ขณะที่ทัพนักกีฬาไทย ที่ในครั้งนี้ เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 41 คน ใน 15 ชนิดกีฬา ช่วยกันคว้ามาได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง จบอันดับที่ 59 ร่วม
โดย 1 เหรียญทอง ทำได้จาก “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโด รุ่น 49 กก.หญิง วัย 24 ปี จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เหรียญนี้เป็นเหรียญประวัติศาสตร์ เป็นเหรียญทองแรกของกีฬาเทควันโด และยังเป็นเหรียญทองที่ 10 ของไทย ตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมา
ขณะที่อีก 1 เหรียญทองแดง ทำได้จาก “แต้ว” สุดาพร สีสอนดี นักกีฬามวยสากล รุ่น 60 กก.หญิง
ซึ่งนักชกสาวแกร่งวัย 30 ปี จากจังหวัดอุดรธานี ก็สร้างประวัติศาสตร์หยิบเหรียญแรกให้มวยสากลหญิงของไทยได้เช่นกัน
ล่าสุดทั้งพาณิภัคและสุดาพรต่างก็รับเงินอัดฉีดตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยกันไปอย่างถล่มทลาย
ส่วนในมุมอื่นๆ ที่น่าสนใจในโตเกียวเกมส์ ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่ไม่มีผู้ชมในสนามยังมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาผสมผสานในการแข่งขัน มีแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เหรียญโอลิมปิกทำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เตียงในหมู่บ้านนักกีฬาทำจากกระดาษ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องบันทึกไว้ด้วย เมื่อรัสเซียที่ถูกแบนจากองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือวาดา ก็ส่งนักกีฬาเข้าร่วมได้เพียงในนามคณะกรรมการโอลิมปิกรัสเซียเท่านั้น
ด้านทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มนักกีฬาที่ถูกบังคับหรือต้องออกจากประเทศของตนเอง เพื่อหลบหนีสงคราม การไล่ล่าสังหาร หรือภัยธรรมชาติ ไปอยู่ในประเทศที่ปลอดภัย ก็ได้เข้าร่วมในโอลิมปิกเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากโอลิมปิก ริโอ 2016
ครั้งนี้มีนักกีฬาอยู่ในทีมนี้ถึง 11 ประเทศ 29 คน เช่น จากซีเรีย คองโก ซูดานใต้ เอริเทรีย เวเนซุเอลา อิหร่าน อัฟกานิสถาน และแคเมอรูน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นบทสรุปที่เกิดขึ้นในโตเกียวเกมส์ ก็ได้แต่หวังว่าโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในอีก 3 ปีข้างหน้า จำนวนนักกีฬาในทีมผู้ลี้ภัยจะลดน้อยลงกว่านี้
นั่นหมายถึงความเคารพในสิทธิมนุษยชน บนโลกใบนี้จะเพิ่มสูงกว่าเดิม เกี่ยวพันไปถึงสงคราม การกดขี่ ที่ควรจะต้องลดน้อยลงไปตามลำดับด้วย
เช่นเดียวกับเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้แต่ภาวนาว่า เมื่อถึงปารีส 2024 ทุกอย่างจะเข้าสู่สภาวะปกติ องค์ประกอบของกีฬากลับมาสมบูรณ์แบบเสียที
นักกีฬาพร้อม ได้ซ้อมเต็มที่ แฟนกีฬาเดินทางไปชมไปเชียร์ทีมชาติของตนเองได้สะดวก จากโตเกียวไปสู่ปารีส หวังว่าจะมีแต่สัญญาณดีๆ
ไม่ต้องอยู่ในสถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่ ที่ทุกคนอึดอัดกันเหลือเกินแล้ว...
ฟ้าคำราม