ไทยรัฐฉบับพิมพ์
เมื่อชีพจรลงเท้าอีกครั้ง ก็ถึงเวลาที่ผมจะต้องออกเดินทางจากมอสโก ไปยังเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานชมแมตช์ระดับ 5 ดาว ระหว่าง 2 ทีมที่เล่นเกมรุกได้มันส์สะเด่าที่สุดอย่าง “ตราไก่” ฝรั่งเศส ดวลเกือกกับ “ปิศาจแดงแห่งยุโรป” เบลเยียม ในศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบรองชนะเลิศ โดยผู้ชนะของคู่นี้จะเข้าไปยืนรอชิงชนะเลิศเป็นทีมแรก
ทั้งฝรั่งเศสและเบลเยียมต่างเป็นทีมที่เต็มไปด้วยนักเตะฝีเท้าระดับพระกาฬมากมายก่ายกอง โดยทางฝั่ง “ตราไก่” มี อองตวน กรีซมันน์, ปอล ป็อกบา, คีเลียน เอ็มบัปเป, ฮูโก ยอริส, ราฟาเอลวาราน, ซามูเอล อุมติตี, เอ็นโกโล ก็องเต และโอลิวิเยร์ชิรูด์
ส่วนเบลเยียมก็เต็มไปด้วยสตาร์ดังเช่นกัน นำโดย เอเด็น อาซาร์, เควิน เดอ บรอยน์, โรเมลูลูกากู, ติโบต์ กูร์กตัวส์, แวงซองต์ กอมปานี, โทบี อัลเดอร์ไวเรลด์, แยน แฟร์ตองเกน และมารูยาน เฟลไลนี ซึ่งทั้งหมดต่างค้าแข้งอยู่ในเวทีพรีเมียร์ลีก อังกฤษ
ตอนแรก ผมหวังเอาไว้เต็มที่ว่าจะได้ดูแมตช์หยุดโลกในรอบรองชนะเลิศ ซึ่งเป็นการดวลเพลงแข้งระหว่างบราซิลกับฝรั่งเศส แต่สุดท้ายอดีตแชมป์โลก 5 สมัยและเต็งหนึ่งอย่างบราซิล ไม่ยอมมาตามนัด เมื่อพลาดท่าโดนเบลเยียมน็อกร่วงตกรอบก่อนเวลาอันควรเพียงแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย ทำให้กลายเป็นเบลเยียมที่ได้เข้ามาตัดเชือกกับ “ตราไก่” ฝรั่งเศส แทน แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเกมที่มันส์ยกร่องไม่แพ้กันอย่างแน่นอน
การเดินทางจากมอสโกไปยังเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กนั้น สะดวกมาก เพราะมีหลากหลายพาหนะให้เลือก ทั้งรถไฟ, เครื่องบิน หรือรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า Sapsan ซึ่งวิ่งระหว่างมอสโกกับเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ใช้เวลาแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก แต่น่าเสียดายที่ตั๋วเต็มทุกเที่ยว ทุกขบวน ทำให้ผมต้องหันมาใช้บริการเครื่องบินแทน
นั่งอยู่บนนกเหล็กของสายการบินแอโรฟลอตชนิดก้นยังไม่ทันร้อนแค่หนึ่งชั่วโมงกว่าๆเท่านั้น ก็มาถึงสนามบินปูลโกโว เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองราว 16 กิโลเมตร ก่อนจะต่อรถบัสไปยังสถานีรถไฟใต้ดิน “เมโทร” เพื่อไปสนามเครสตอฟสกี สเตเดียม สังเวียนแข้งรอบรองชนะเลิศระหว่างฝรั่งเศสกับเบลเยียม
มาทำความรู้จักเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ให้มากกว่านี้กันดีกว่าครับ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของรัสเซีย รองจากมอสโก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ บริเวณปากแม่นํ้าเนวา ริมอ่าวฟินแลนด์ ซึ่งเป็นทางออกสู่ทะเลบอลติก
เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก สร้างโดยพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราช เมื่อปี ค.ศ.1703 พื้นที่เดิมของเมืองนั้นเคยเป็นที่ลุ่มเต็มไปด้วยดินเลนของทะเลมาก่อน การสร้างเมืองจึงต้องถมด้วยทรายและหินเป็นจำนวนมาก พระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราชทรงเลือกที่จะสร้างเมืองบริเวณนี้ เพราะอยู่ใกล้ทางออกทะเลบอลติก ทำให้สามารถติดต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปได้ง่าย
เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซียมาอย่างยาวนานเป็นเวลาถึง 206 ปี ก่อนจะย้ายเมืองหลวงกลับไปที่มอสโก ในปี 1918 เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กมีการเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง โดยในปี 1914 เปลี่ยนชื่อเป็น เปโตรกราด (Petrograd) ต่อมาปี 1924 เปลี่ยนชื่อเป็นเลนินกราด (Leningrad) จากนั้นปี 1991 จึงเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ตามเดิมอีกครั้งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก มีประชากรกว่า 4.7 ล้านคน และได้รับเลือกจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ใครมาเยือนแล้วห้ามพลาดเด็ดขาด ก็คือ พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิทาจ (พระราชวังฤดูหนาว) ซึ่งเป็นพระราชวังเก่าของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์มหาราชและเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
นอกจากนั้นยังมี โบสถ์ Church of the Savior on Spilled Blood (โบสถ์แห่งหยดพระโลหิต) ซึ่งเป็นจุดที่พระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ถูกลอบปลงพระชนม์, Kazan Cathedral รวมถึงพระราชวังแคทเธอรีนและพระราชวังพาฟลอฟก์ ที่สวยงามมากอีกด้วย
ส่วนสนามเครสตอฟสกี สเตเดียม เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นสังเวียนดวลแข้งรอบรองชนะเลิศระหว่าง “ตราไก่” ฝรั่งเศส ปะทะ “ปิศาจแดงแห่งยุโรป” เบลเยียม ถือเป็นสนามที่สวยงามมากๆ อีกแห่งหนึ่งในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเกาะเครสตอฟสกี ปัจจุบันเป็นสนามเหย้าของทีมเซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งลีกสูงสุดแดนหมีขาวนั่นเอง
สนามแห่งนี้จุแฟนบอลได้ถึง 67,000 คน รูปทรงเหมือนยานอวกาศและสามารถเปิด-ปิดหลังคาได้ ออกแบบโดย คิโชะ คุโระคะวะ นักออกแบบชาวญี่ปุ่น เปิดใช้งานครั้งแรกในปี 2017 เพื่อใช้แข่งขันศึกฟีฟ่า คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ
สถิติที่ผ่านมา ฝรั่งเศสและเบลเยียมเคยเจอกันมาแล้วรวมทั้งสิ้น 73 ครั้ง โดยเบลเยียมชนะ 30 ครั้ง ขณะที่ฝรั่งเศสชนะ 24 ครั้ง และเสมอกัน 19 ครั้ง แต่ถ้านับเฉพาะฟุตบอลโลก ทั้งคู่เคยเจอกันมา 2 ครั้ง ซึ่งฝรั่งเศสเป็นฝ่ายคว้าชัยได้ทั้งสองครั้ง
โดยในบอลโลกปี 1938 ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าภาพ ชนะเบลเยียม 3-1 ในรอบแรก จากนั้น “ตราไก่” ก็เอาชนะเบลเยียม 4-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ในนัดชิงอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 1986 ที่เม็กซิโก
อย่างไรก็ตาม เบลเยียมทำสถิติไร้พ่ายตลอดการลงเล่น 24 เกมหลังสุดรวมทุกรายการ (ชนะ 19 เสมอ 5) เท่านั้นไม่พอ เบลเยียมยังชนะรวด 5 นัด ในเกมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย นับตั้งแต่แพ้ต่ออาร์เจนตินา 0-1 ในรอบก่อนรองชนะเลิศเวิลด์คัพ 2014
บทสรุปของคู่นี้จะจบลงอย่างไร และใครจะเข้าไปชิงชนะเลิศเป็นทีมแรก วันนี้เนื้อที่หมดแล้ว พรุ่งนี้กลับมาว่ากันต่อครับ.
หมวดแซม