หน้าแรกแกลเลอรี่

ส.บอลไทย ลงนาม MOU ร่วมกับเจเอฟเอ

ไทยรัฐออนไลน์

28 มี.ค. 2560 16:30 น.

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลงนามข้อตกลง เจเอฟเอ กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีรายละเอียดสำคัญ 5 ข้อ...

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 มี.ค. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่ JFA House จังหวัดโตเกียว สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมกับ สมาคมฟุตบอลประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงร่วมกันสนับสนุนและผลักดันความสำเร็จในกีฬาฟุตบอลของทั้งสองประเทศการลงนามครั้งนี้ได้ ประกอบไปด้วย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย, คุณ วิทยา เลาหกุล อุปนายกฯ ฝ่ายพัฒนาเทคนิค, คุณพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศและโฆษกสมาคมฯ และ ทาชิมะ โคโซ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่น

ด้าน นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ณ ตอนนี้มีนักเตะญี่ปุ่นกว่า 70 คน ที่ไปค้าแข้งในประเทศไทย ขอขอบคุณทั้งสโมสรและแฟนบอลไทย ที่ต้อนรับและดูแลนักฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างดีและอบอุ่น สำหรับปีนี้ มีนักกีฬาไทยเข้ามาเล่นที่ คาโงชิม่า และ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่จะไปเล่นกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร เราก็หวังอย่างยิ่งว่าจะมีนักฟุตบอลไทยเข้ามาเล่นในญี่ปุ่นอีก สำหรับวันนี้ผมยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ลงนาม MOU ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เราพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีหลายๆ ด้าน เพื่อพัฒนาวงการฟุตบอลระหว่างประเทศในทุกๆ ด้าน สาเหตุที่เราตัดสินใจสร้างความสัมพันธ์กันครั้งนี้ เพราะท่านสมยศคนนี้ ซึ่งมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีและอบอุ่น รวมถึงมีทัศนคติที่ดีในการพัฒนาประเทศ และเป็นคนที่ผมนับถือมาก สุดท้ายคืนนี้มีการแข่งขันที่สำคัญมาก ไทยเป็นทีมเดียวจากอาเซียนที่เข้ามาถึงรอบนี้ หวังว่าการแข่งขันวันนี้จะสนุกและยุติธรรม ขอบคุณมากครับ”

ขณะที่ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผมต้องขอขอบคุณสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น สำหรับการต้อนรับที่แสนจะอบอุ่น และเต็มไปด้วยมิตรภาพที่ดีต่อพวกเรา เป็นที่ทราบกันดีสำหรับประชาชนชาวญี่ปุ่น และประชาชนชาวไทย ว่าทั้งสองประเทศที่ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีต่อกันกว่า 130 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์ของไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ที่ดีและลึกซึ้งต่อกันมาอย่างยาวนาน ทั้งสองประเทศช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวไทยต่างซาบซึ้งกับจักรพรรดิของประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางไปเคารพพระบรมศพของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อเร็วๆ นี้ สิ่งที่ผมได้กล่าวนี้ ทำให้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พี่น้องชาวไทยมีความรู้สึกอย่างไรต่อประเทศญี่ปุ่น นับตั้งแต่ผมได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฟุตบอล ผมได้พยายามเรียนรู้และมองประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างในการพัฒนากีฬาฟุตบอล เพราะทราบดีว่ากีฬาฟุตบอลที่ทางสมาคมฟุตบอลประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนามาอย่างยาวนาน 20 ปี และวันนี้ สิ่งที่คนญี่ปุ่นอดทนรอคอยมาอย่างยาวนาน แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาเป็นทีมอันดับ 1 ของเอเชีย สามารถผลิตนักกีฬาไปเล่นในยุโรปและอเมริกาได้เป็นจำนวนมาก ผมจึงยึดญี่ปุ่นเป็นแบบอย่าง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วันหนึ่งทีมชาติไทยจะมายืนอยู่แถวหน้าแบบทีมชาติญี่ปุ่นได้ เมื่อเราอยากประสบความสำเร็จเหมือนทีมชาติญี่ปุ่น และใช้พวกเขาเป็นแบบอย่าง มันจึงขาดการได้รับการสนับสนุนจากสมาคมญี่ปุ่นได้ หลังจากหนึ่งปีผ่านไป ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นชาวเอเชียด้วยกัน ทำให้เราเรียนรู้กัน และผูกไมตรีต่อกันได้อย่างรวดเร็ว และผมก็ได้รู้มาว่าทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทางนายกสมาคมของญี่ปุ่น ก็ให้การสนับสนุนประเทศไทยมาโดยตลอด ต้องขอขอบคุณท่านไว้ในโอกาสนี้ด้วยครับ ในอดีตที่ผ่านมา มีความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนระหว่างสโมสร ทั้งสุพรรณบุรี, ชลบุรี และบางกอกกล๊าส รวมถึงล่าสุดคือ เอฟซี โตเกียว ที่ลงนามความร่วมมือกับ แบงค็อก ยูไนเต็ด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ผมได้ไปร่วมงานด้วย สำหรับวันนี้นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน ผมเชื่อว่าภายใต้ข้อตกลงในวันนี้ จะนำไปสู่การพัฒนากีฬาฟุตบอลของประเทศไทยและญี่ปุ่นได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น จะให้ความสนับสนุนในทุกๆ ด้านอย่างดี”

รายละเอียดและข้อตกลงใน MOU ระหว่างสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้น ประกอบไปด้วย

1. การดำเนินงานของลีก


- ดำเนินการตาม MOU ระหว่าง ไทยลีก และ เจลีก ซึ่งจะถูกเซ็นบันทึกข้อตกลงไว้อีกหนึ่งฉบับ

2. พัฒนาทีมชาติ


- สนับสนุนและแลกเปลี่ยนความรู้ในการบริหารจัดการของทีมชาติ


- ให้ความช่วยเหลือในด้านเทคนิค, โลจิสติกส์, สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เวลาที่ทีมชาติของทั้งสองประเทศ (ฟุตบอลชาย, ฟุตบอลหญิง, ฟุตซอล และฟุตบอลชายหาด) เดินทางมาซ้อมหรือเก็บตัวในประเทศนั้นๆ

3. แลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญดังต่อไปนี้


- การอบรมโค้ช/ผู้ฝึกสอน


- การพัฒนาระบบเยาวชน


- โปรเจกต์สำหรับระดับรากหญ้า


- การจัดการการแข่งขัน


- การตลาด


- การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างขององค์กร

- การจัดการและการดำเนินการของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับเกมฟุตบอล

4. การพัฒนาและการแลกเปลี่ยนในส่วนของผู้ตัดสิน

5. ศึกษาโปรเจกต์แลกเปลี่ยนในด้านเทคนิคต่างๆ, บุคลากรและการจัดการเจ้าหน้าที่ รวมถึงสโมสรพาร์ทเนอร์จากทั้งสองประเทศ