หน้าแรกแกลเลอรี่

"บิ๊กปลาย" ชี้แนวทางเยียวยาวงการมวย หลังพ้นวิกฤติโควิด-19

ไทยรัฐออนไลน์

21 พ.ค. 2563 15:00 น.

วิกฤติโควิด-19 เปรียบเสมือน "แผลสด" ที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาบ้านเรา โดยเฉพาะวงการมวย ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกัน อย่าปล่อยให้บทเรียนราคาแพงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ผ่านมาแล้วผ่านไปอย่างสูญเปล่า วิเคราะห์ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น คิดหาวิธีการแก้ไข เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจหวนคืนกลับมาได้อีกครั้ง และมีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน

วันที่ 21 พ.ค.63 องค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลก วัน แชมเปียนชิพ ฟากฝั่งประเทศไทย นำโดย "บิ๊กปลาย" จิติณัฐ อัษฎามงคล เริ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับโครงการ "ONE แคร์ แชร์น้ำใจ สู้ภัยโควิด-19" หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ บิ๊กปลาย ย้ำเสมอว่า "การ์ดอย่าตก...พกแมสก์ตลอด" และจงเรียนรู้ทุกหมัดที่ผ่านเข้ามา

1.ปัญหาที่เกิดขึ้น

"ผู้คนจะยังคงหวาดกลัวการติดเชื้ออยู่ในระยะแรก ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนออกมาแล้วก็ตาม ธุรกิจต่างๆ ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู รวมถึงสนามมวย Ecosystem ของวงการ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรง"

"นักกีฬาที่ไม่มีการแข่งขัน ขาดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง บางคนที่จำเป็นต้องเอาตัวรอดด้วยการประกอบอาชีพเสริม อาจถึงขั้นแขวนนวมไปเลยก็มี ยิมต่างๆ บางที่ก็ต้องปิดตัวลงถาวรเนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายในช่วงที่ถูกแช่แข็งไม่ไหว"

2.วิธีการแก้ไข

"คนมวยต้องเปลี่ยนมุมมอง ธุรกิจมวยจะไม่ใช่แค่จัดการแข่งขันแล้วขายตั๋ว คนที่มาดูมวยด้วยความชอบจริงๆ น้อยกว่าเซียนมวยที่หวังรวยทางลัด ต้องสร้างจุดขายใหม่ๆ เปลี่ยนค่านิยม ความคิด เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ จำเป็นที่จะต้องหาช่องทางรายได้ที่หลากหลายจากส่วนอื่น เช่น การหา Sponsorship มองมวยให้เป็นสินทรัพย์ทางปัญญา เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงของประเทศ"

"ในเมื่อทั่วโลกต่างให้การยอมรับศาสตร์มวยไทยที่นักกีฬาการต่อสู้ทั้งคิกบ็อกซิ่ง หรือแม้แต่ MMA ต้องมีติดตัว สิ่งนี้จะนำพาบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามายังประเทศเพื่อเรียนรู้ ช่วยต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น ยิมหรือสถานฝึกสอนต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยว"

"นักมวยก็เป็นได้มากกว่านักสู้ที่ขึ้นไปให้ความบันเทิงบนสังเวียน พวกเขาจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อต่อยอดไปสู่บทบาทใหม่ ขยายฐานแฟนคลับของตนเอง เพิ่มลู่ทางในการหารายได้เสริม ต้องเรียนรู้จัดการบริหารความเสี่ยงได้ เพื่อความอยู่รอด ทุกคนต้องปรับตัว"

3.มาตรการของ "วัน แชมเปียนชิพ"

"อย่างแรกสุดคือมาตรการรักษาความปลอดภัย ต้องไม่เกิดความเสี่ยงใดๆ ให้นำไปสู่การติดเชื้อของทั้งนักกีฬา ทีมงาน และคนดู ไม่เฉพาะแค่ในพื้นที่จัดการแข่งขัน แต่นับรวมถึงตั้งแต่พวกเขาเริ่มต้นเดินทางเลยด้วยซ้ำ"

"อย่างที่สองคือการระดมความคิด ข้อมูลจากทีมงานทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสรรค์ Product ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์การแข่งขัน ใช้เทคโนโลยีการถ่ายทำด้วยระบบสตูดิโอ ปรับให้เหลือขนาดที่เหมาะสม แต่ความยิ่งใหญ่ แสง สี เสียง ไม่แพ้รูปแบบสนามแข่งขันปกติก่อนหน้านี้ รวมถึงการสร้างเนื้อหารายการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเปิดตลาด ขยายฐานคนดูให้กว้างขึ้น เช่น The Apprentice: ONE Championship Edition ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่าง Sports Entertainment กับ Reality Show ทั้งยังมีรายการแข่งขันลีกมวยไทยระดับประเทศอย่าง วัน ฮีโร่ ซีรีส์ มวยไทย ที่ช่วยเปิดโอกาสให้กับนักมวยหน้าใหม่ มีสิทธิ์ได้เซ็นสัญญากับ วัน แชมเปียนชิพ เพื่อทำการแข่งขันในระดับโลกต่อไป"

"อย่างสุดท้ายคือการวางแผนงานฟื้นฟูกีฬาต่อสู้ โดยเฉพาะวงการมวย และช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ควบคู่กันไป"

"แก่นหลักของ วัน แชมเปียนชิพ ไม่ใช่แค่โปรโมเตอร์ในวงการกีฬาต่อสู้  แต่คือผู้ริเริ่มนวัตกรรม เป็นศูนย์รวมเนื้อหาสาระบันเทิงระดับโลก เช่น อีสปอร์ตสสำหรับคนรุ่นใหม่ จึงมีความยืดหยุ่นทางธุรกิจ จากโอกาสในการสร้างสรรค์ Product หรือรายการใหม่ๆ ได้อีกมากมาย" บิ๊กปลาย กล่าวทิ้งทาย