หน้าแรกแกลเลอรี่

ถอดบทเรียนลูกหนังไทย

บี บางปะกง

15 มิ.ย. 2562 05:01 น.

เรียน คุณบี บางปะกง ที่นับถือ

จากปรากฏการณ์ที่ทีมช้างศึกทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำศึกทั้งคิงส์คัพครั้งที่ 47 และเมอร์ไลออนในแดนลอดช่อง คุณบีและแฟนบอลชาวไทยคงจะมีความคิดและความรู้สึกร่วมกันแล้วว่า การไม่ประสบความสำเร็จในการทำศึกครั้งนี้คงจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ เพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนไทยหรือแฟนลูกหนังทั้งประเทศ

การพลาดท่าปราชัยของนักเตะไทยในการทำศึกรายการไหนก็ไม่สำคัญเท่ากับการเพลี่ยงพล้ำในบ้านจากศึกคิงส์คัพที่ถือได้ว่าเป็นเกมการแข่งขัน ภายใต้เกียรติและศักดิ์ศรีที่ตัวแทนคนไทยในคราบของนักเตะจะได้พิสูจน์ฝีเท้าและเชิงชั้น ประกอบกับ การแข่งขันในครั้งนี้สมาคมลูกหนังได้เชิญทีมที่มีแรงกิ้ง ฟีฟ่าเหนือกว่าไทยมาต่อกรในสังเวียน เพื่อให้แฟนๆได้ยลฝีเท้า โดยเฉพาะความเป็นเจ้า หรือเป็นหนึ่งในอาเซียนระหว่างช้างศึกไทยกับนักเตะ ดาวทองสกุลเหงียน แต่ภายหลังเกมจบลงด้วยการรั้งตำแหน่งที่ 4 ของทีมชาติไทย แฟนๆที่มีเกมลูกหนังอยู่ในสายเลือดจำนวนมากต่างผิดหวังและได้แสดงทัศนะผ่านคีย์บอร์ดกันไปต่างๆนานา

การถอดโค้ชที่นำทีมไม่ประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งในแนวทางของวงการลูกหนังสากลที่นานาประเทศเขาทำกัน แต่ในกรณีของสมาคมกีฬาลูกหนังไทยบ้านเรายังไม่ชัดเจนว่าวันนี้บอลไทยควรใช้โค้ชไทยหรือโค้ชนอก การลองผิดลองถูกบ่อยครั้งคงจะไม่ใช่หลักของการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่มืออาชีพถือเป็นวัตรปฏิบัติ ที่สำคัญเมื่อบอลแพ้ มีผู้คนสงสัยว่าแพะหรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวมีเพียง “โค้ชและสตาฟฟ์” เท่านั้นใช่ไหม หรือนายกและสภากรรมการจะต้องรับผิดชอบร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม คิดบวกและเป็นการให้กำลังใจกับผู้ที่ขันอาสาเข้ามาพัฒนาวงการลูกหนังของชาติก็คงจะต้องให้กำลังใจกันต่อไป มูลเหตุใดที่เป็นปรากฏการณ์ให้เห็นซ้ำซากบ่อยครั้ง การเร่งหาทางสะสางแก้ไขถือได้ว่าเป็นการบริหารจัดการเฉพาะหน้าที่ดีที่สุด ผู้เขียนในฐานะแฟนลูกหนังและเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐนำไปพัฒนากีฬาชาติ เชื่อว่าสภากรรมการกีฬาลูกหนังทุกท่านคงทราบดีแล้วว่าพันธกิจของท่านคืออะไร การนำวิสัยทัศน์และนโยบายของจอมทัพแห่งสมาคมลูกหนังไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นั่นคือสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศเฝ้ารอ

เหนือสิ่งอื่นใด ศึกที่รอพิสูจน์ผลงานของช้างศึกทั้งชุดใหญ่ชุดเล็ก ไม่ว่าฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก, ซีเกมส์ หรือยู 23 ชิงแชมป์เอเชีย เพื่อหาทีมสุดยอดไปดวลแข้งในศึกโตเกียวเกมส์ 2020 ศึกเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นศึกที่สุดหินทั้งสิ้นสำหรับช้างศึกไทย ยิ่งวันนี้ช้างศึกเกือบทุกชุดขาดดาวยิงชนิดโป้งเดียวจอดด้วยแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบ้าน หรือโจทย์แห่งความท้าทายที่สำคัญที่สภากรรมการลูกหนังต้องนำปรับวิกฤติให้เป็นโอกาส

คำกล่าวของเอกบุรุษนาม “ซุนวู” ที่เปล่งวลีว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นักบริหารจัดการกีฬา โดยเฉพาะผู้ที่อาสาเข้ามารับใช้วงการลูกหนังไม่ควรจะมองข้าม และที่สำคัญการฟังความรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นทัศนะของสื่อมวลชน หรือนักเลงคีย์บอร์ดที่สะท้อนออกมา ถือได้ว่านั่นคือ “คาถา” หรือ กระจกเงา ของการนำไปสู่การถอดบทเรียนที่สำคัญยิ่ง

ป.ล.แนวคิดของคุณบีที่กล่าวถึงทีมช้างศึกในมิติของ “ช้างอมงวง” หรือ “สีเสื้อแข่ง” อาจจะเป็นหนึ่งในบริบทที่ไม่ถูกโฉลกกับช้างศึกจริงๆ ก็ว่าได้.

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

บี บางปะกง