ไทยรัฐออนไลน์
ส่องประเทศที่เคยโดนฟีฟ่าแบนจากกรณี ถูกแทรกแซงทางการเมือง หลัง “บิ๊กป้อม” จี้ “สมยศ” ลาออกนายกสมาคมฟุตบอลฯ ก่อนจะลาออกจริงช่วงเช้าที่ผ่านมา
วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 หลังจากที่ "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ออกโรงจี้ให้ "บิ๊กอ๊อด" พลตำรวจเอก ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์มวง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ลาออกจากตำแหน่ง หลังทำผลงานในหลายรายการอย่างน่าผิดหวัง โดยเฉพาะการอดได้เหรียญทอง และเหตุทะเลาะวิวาทในนัดชิงชนะเลิศกับอินโดนีเซีย ศึกฟุตบอลซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา ในการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญ ประจำปี 2565 ที่ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ถนนศรีอยุธยา เมื่อ 30 มิ.ย. 66
ล่าสุด พล.ต.อ.ดร.สมยศ ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ โดยจะชี้แจงเหตุผลการลาออกจาก เอเอฟเอฟ, เอเอฟซี และฟีฟ่าต่อไป
ทีมข่าวไทยรัฐสปอร์ต สอบถามไปยังแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ของสมาคมฯ และได้รับรายงานว่า มีโอกาสที่ทีมชาติไทยจะถูกแบนจากฟีฟ่าจากการแข่งขันที่ฟีฟ่าเป็นผู้รับรองทั้งหมด เหมือนกับหลายๆ ชาติก่อนหน้านี้
โดยตัวอย่างลิสต์รายชื่อประเทศที่เคยถูกแบนจากฟีฟ่า มีดังนี้
- กรีซ ถูกแบนวันที่ 4 กรกฎาคม 2006 / ยกเลิกโทษแบนวันที่ 12 กรกฎาคม 2006
สาเหตุ : รัฐบาลออกกฎหมายแทรกแซงการบริหารจัดการของสมาคมฟุตบอลกรีซ ซึ่งถือเป็นการละเมิดความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกฟีฟ่า
- อิหร่าน ถูกแบนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2006 / ยกเลิกโทษแบนวันที่ 17 ธันวาคม 2006
สาเหตุ : ไร้อิสระในการบริหารงานในสมาคมฯ และจัดเลือกตั้งสมาคมฯ ได้ไม่เหมาะสม
- เอธิโอเปีย ถูกแบน กันยายน 2008 / ยกเลิกโทษแบน สิงหาคม 2009
สาเหตุ : แก้ไขปัญหาในสมาคมไม่ได้ทันตามที่ฟีฟ่ากำหนด
- อิรัก ถูกแบนก่อนฟุตบอลโลก 2010 โซนเอเชีย รอบคัดเลือก / ยกเลิกโทษแบน พฤษภาคม 2008
สาเหตุ : รัฐบาลแทรกแซง สั่งยุบคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติและสหพันธ์กีฬาแห่งชาติ
- อิรัก ถูกแบน 2009 / ยกเลิกโทษแบน ตุลาคม 2010
สาเหตุ : คณะกรรมการโอลิมปิกอิรักตัดสินใจยุบสหพันธ์ฟุตบอลของประเทศ และการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ฟีฟ่าเลือกที่จะแบนประเทศในเอเชียตะวันตกเนื่องจากการแทรกแซงของรัฐบาล
- ไนจีเรีย ถูกแบน 2014 / ยกเลิกโทษแบน กรกฎาคม 2014
สาเหตุ : หลังจากผลงานย่ำแย่ในฟุตบอลโลก 2014 สหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรีย (NFF) ตัดสินใจปลดคณะกรรมการบริหาร และศาลไนจีเรียสั่งให้ข้าราชการคนหนึ่งบริหารสหพันธ์ ทำให้ฟีฟ่าแบนทันที
- กัวเตมาลา ถูกแบน ตุลาคม 2016 / ยกเลิกโทษแบน 2018
สาเหตุ : ผู้อำนวยการสหพันธ์ฟุตบอลปฏิเสธที่จะรับรองคณะกรรมการ โดยให้เหตุผลระบุว่าขัดต่อกฎหมายของประเทศ
- คูเวต, อินโดนีเซีย ถูกแบน 2015
สาเหตุ : แบนคูเวต รัฐบาลของประเทศกำลังแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอลที่มีอยู่ในประเทศ ยกเลิกโทษแบน ธันวาคม 2017
สาเหตุ : แบนอินโดนีเซีย รัฐบาลได้แทรกแซงมาดูแลกิจการฟุตบอลเป็นหลัก ยกเลิกโทษแบน พฤษภาคม 2018
- ปากีสถาน ถูกแบน 2017 / ยกเลิกโทษแบน มีนาคม 2018
สาเหตุ : การแทรกแซงของบุคคลที่สามที่ไม่เหมาะสม
- ซิมบับเว ถูกแบน 2022 / ยังไม่ยกเลิกโทษแบน
สาเหตุ : คณะกรรมาธิการกีฬาและนันทนาการ (SRC) ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลของประเทศ เข้าแทรกแซงหลังจากมีข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศผู้ตัดสินหญิงโดยเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิค และข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกงภายใน
- อินเดีย ถูกแบน 2022 / ยกเลิกโทษแบน 27 สิงหาคม 2022
สาเหตุ : ศาลในประเทศยุบ สมาคมฟุตบอลฯ ชั่วคราว และแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมแทน