ไทยรัฐออนไลน์
ละเอียดยิบ สรุป 6 ปัจจัยที่ทำให้ "ทีมชาติไทย" ภายใต้การนำทีม "อากิระ นิชิโนะ" กุนซือแดนปลาดิบ ล้มเหลวในศึก "ฟุตบอลโลก 2022" รอบคัดเลือก โซนเอเชีย
วันที่ 5 ก.ค. 64 เวลา ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานของทีมฟุตบอลทีมชาติไทยโดยมี นายอนุรักษ์ ศรีเกิด รักษาการหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย และ อิสสระ ศรีทะโร ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย เข้าชี้แจงเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงาน ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมทีมงาน การคัดเลือกนักบอล การฝึกซ้อม ความเป็นอยู่ การเดินทาง ตลอดจนปัญหาอุปสรรค ที่เกิดขึ้นทั้งหมด และสาเหตุที่อาจจะส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากกลับจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพ้นจากการกักตัว 14 วัน ตามมาตรการของภาครัฐ ซึ่งทางทีมงานได้วิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นว่า
1.) การพบติดเชื้อในแคมป์ ทำให้ต้องยุติการซ้อมในสนาม 14 วัน และแยกกักตัว
หลังจากมีการวางแผนเข้าแคมป์เตรียมทีมชาติในช่วงปลายเดือนเมษายน ในรอบที่ 1 และจะต้องเข้าแคมป์รอบที่ 2 ในวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งหากเป็นไปตามที่วางแผนการเก็บตัวแล้ว ทีมชาติไทยจะมีการเตรียมทีม 1 เดือนเต็ม ก่อนการแข่งขันแมตช์แรกของทัวร์นาเมนต์ ซึ่งเพียงพอต่อการเรียกความฟิตและวางแท็กติก แผนการเล่น
อย่างไรก็ตามเมื่อทีมงานได้รับทราบข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่และนักฟุตบอลมีผลตรวจพบเชื้อโควิดและต้องส่งเข้ารับการรักษาตัวทันที ทำให้คณะนักกีฬาทั้งหมด ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อความปลอดภัยสูงสุด และเพื่อให้ทีมชาติไทยยังสามารถเดินทางไปแข่งขันให้ได้ จึงต้องงดกิจกรรมการฝึกซ้อมในสนาม และแยกกักตัวให้ครบ 14 วัน รวมถึงแยกกลุ่มนักฟุตบอลที่ต้องเข้าสมทบออกไปอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งทำให้นักฟุตบอลไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามโปรแกรมเตรียมความพร้อมของร่างกายได้ตามที่กำหนดไว้
2.) ปัญหาที่ไม่สามารถทำการฝึกซ้อมจนวันเดินทาง ตัดสินใจต้องนำนักฟุตบอลไปทุกคน
เมื่อไม่สามารถทำการฝึกซ้อมได้แล้ว ทำให้หัวหน้าผู้ฝึกสอนเห็นว่า ไม่สามารถตัดสินใจตัดตัวนักฟุตบอลได้โดยไม่ได้เห็นการฝึกซ้อมร่วมกันเลย ไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบสมรรถภาพความฟิต และมีโอกาสที่จะพบอาการบาดเจ็บได้ตลอดเวลา จึงให้พานักฟุตบอลทั้งหมดไปฝึกซ้อมที่ยูเออีทุกคน ซึ่งเป็นวันพ้นกำหนดการกักตัว ก็คือวันเดินทาง (วันที่ 21 พฤษภาคม 2564)
3.) ความสมบูรณ์ของนักฟุตบอล
หลังจากเดินทางไปฝึกซ้อมในสนามได้ครั้งแรกที่ประเทศยูเออี พบว่ามีนักฟุตบอลที่เคยเป็นตัวหลักของทีมหลายคน ประสบปัญหาการบาดเจ็บรบกวน ได้รับการประเมินอาการจากแพทย์แล้วต้องทำการฟื้นฟู และใช้เวลา และอาจจะล่วงเลยไปถึงช่วงเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์แล้ว รวมถึงปัญหาเรื่องความฟิตของร่างกายที่ไม่ได้ลงซ้อมในสนามเป็นเวลานานในช่วงกักตัว
4.) การบริหารผู้เล่น การซ้อมเพื่อลงแท็กติก
การนำนักฟุตบอลไปทั้งหมดนั้น มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน เมื่อพบปัญหาความฟิต หรือ บาดเจ็บ ข้อดีคือมีตัวเลือกนักฟุตบอลที่สามารถทดแทนตำแหน่งได้ แต่ข้อเสียที่เป็นปัญหาคือ ไม่สามารถจำกัดกลุ่มนักฟุตบอลตัวหลักของทีมที่ชัดเจน สำหรับฝึกซ้อมลงรายละเอียดทางแท็กติก และไม่สามารถสร้างความเข้าใจในแผนการเล่นได้อย่างสม่ำเสมอ แตกต่างจากทีมอื่นๆ ที่สามารถโฟกัสนักกีฬาที่คัดเลือกมาในจำนวนจำกัด รวมถึงสตาฟฟ์โค้ชต้องแบ่งเพื่อเตรียมแผนการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาทุกๆ คนในทุกวันที่เดินทางไปสนามซ้อม รักษาสปิริตและยังต้องเปิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตัวหลัก เพื่อให้เกิดความมุ่งมั่นกับนักฟุตบอลทุกๆ คนที่ร่วมฝึกซ้อมด้วยกัน
5.) ปัญหาการสื่อสาร ของโค้ช, ล่าม และ นักฟุตบอล
เรื่องของการสื่อสารต่างๆ ภายในทีมทั้งในการลงรายละเอียดการฝึกซ้อม และในระหว่างแข่งขันเป็นเรื่องที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการสื่อสาร เมื่อล่ามแปลภาษาคนเดิมได้ลาออกไปเป็นล่ามให้กับนักฟุตบอลไทยที่ประเทศญี่ปุ่น (ตามคำแนะนำของโค้ช) ฝ่ายประสานงานทีมชาติของสมาคมฯ ได้แจ้ง อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าโค้ช และ คุณอัตซิโอะ โอกุระ ผู้ประสานงานส่วนตัว ให้สรรหาสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกล่าม โดยทางหัวหน้าผู้ฝึกสอนได้ทำการพูดคุยกับล่ามคนไทยที่สมาคมฯ นำเสนอ เพราะเคยทำหน้าที่ให้กับนักฟุตบอลไทย ที่เคยไปเล่นที่เจลีกมาแล้ว 2 ท่าน
ส่วนอีก 1 คนคือคุณยูกิ ที่ผู้ประสานงานและโค้ชหามาเอง โดยตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันกับโค้ช จากการที่เคยเป็นผู้หาที่พักให้กับโค้ชในประเทศไทย และสามารถพูดได้สองภาษา
แม้ว่าทางฝ่ายประสานงานทีมชาติและสมาคมฯ ได้ทัดทานแล้วว่าผู้ที่จะทำหน้าที่นี้นอกจากจะเข้าใจในทั้งภาษาไทยและญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้แล้ว จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ไหวพริบ และสามารถสื่อสารด้านศัพท์เทคนิคให้นักฟุตบอลเข้าใจได้ แต่ทางโค้ชและผู้ประสานงานยืนยันว่าจะขอเลือกคุณยูกิ เมื่อเป็นความต้องการและการตัดสินใจของโค้ช ทางสมาคมฯ จึงต้องจำยอม ซึ่งเมื่อเริ่มทำหน้าที่ไปแล้ว ปรากฏว่าเกิดปัญหาคุณยูกิ ไม่สามารถสื่อสารได้ดีเพียงพอ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ด้านฟุตบอลมาก่อน นี่ก็เป็นสาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่ง ล่าสุดทางสมาคมฯ ได้ทำการยกเลิกสัญญาการบริการของผู้ประสานงาน และล่ามแล้ว
6.) หัวหน้าผู้ฝึกสอน ไม่ได้แบ่งงานหลังจบทัวร์นาเมนต์รอบคัดเลือกฟุตบอลโลกที่ยูเออี
หลังเสร็จสิ้นภารกิจฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ที่ยูเออี อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ได้เปลี่ยนแปลงโปรแกรมการเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น โดย สมาคมฯ มาทราบภายหลังในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับผู้ช่วยโค้ช และทีมงานในระหว่างกักตัว เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ว่า อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอน ไม่ได้สั่งการหรือมอบหมายงานใดๆ ไว้ระหว่างที่ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย จึงมีการแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ฝึกสอน อนุรักษ์ ศรีเกิด และ อิสสระ ศรีทะโร ให้ปฏิบัติหน้าที่ติดตามผลงานนักเตะไทยในรายการเอเอฟซี แชมป์เปียนส์ลีก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามนโยบายของสมาคมฯ ที่ต้องการให้มีผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง สมาคมฯ พยายามประสานงานสอบถามผ่านผู้ประสานงาน แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบยืนยันที่แน่ชัด
อีกทั้ง สมาคมฯ พยายามประสานงานสอบถามผ่านผู้ประสานงาน เพื่อต้องการทราบกำหนดวันเวลาเดินทางกลับที่แน่นอนชัดเจน เพราะสมาคมฯ ต้องดำเนินการเรื่องตั๋วเครื่องบิน และสถานที่กักตัว (ASQ) เนื่องด้วยขณะนี้มีความไม่แน่นอน ซึ่งเพิ่งมาได้คำตอบจาก อากิระ นิชิโนะ ล่าสุดว่าจะเดินทางกลับมายังประเทศไทย ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564.