หน้าแรกแกลเลอรี่

"ชบาแก้ว" ที่ (ไม่) ถูกลืม

ข้าว บาเล่ย์

21 ต.ค. 2563 17:45 น.

การแถลงข่าวจัดการแข่งขันฟุตบอล "ไทยวีเมนส์ลีก" หรือฟุตบอลลีกหญิง แม้ว่ากระแสข่าวอาจจะดูไม่คึกคัก แต่นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งหนึ่งของวงการฟุตบอลหญิงไทย

ในยุคสมัยของพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต้องยอมรับว่า กระแสความนิยมของฟุตบอลหญิงไทย ดูจะไม่ครึกครื้นเท่าใดนัก ด้วยผลงานที่อาจจะไม่โดดเด่นมากนัก เพราะเป็นยุคผลัดใบของผู้เล่นเก่า และรอวันที่ผู้เล่นใหม่เข้ามาทดแทน 

อีกทั้งความสำเร็จในรายการสำคัญ ที่มีให้เห็นน้อยลง ทั้งการชวดแชมป์ซีเกมส์ พลาดท่าพ่ายคู่แข่งในอาเซียนอย่างเวียดนาม ในรายการสำคัญ เช่น เอเชียนเกมส์ หรือการตกรอบโอลิมปิกไปแบบเงียบๆ ด้วยการแพ้ทีมที่ไทยแทบไม่เคยแพ้ อย่าง ไต้หวัน 

จะมีเพียงการทะยานเข้ารอบสุดท้ายของฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2019 และผลงานอันยอดเยี่ยมในศึกชิงแชมป์เอเชีย 2018 ที่เกือบล้มออสเตรเลียผ่านเข้าชิงชนะเลิศ แต่หลังจากหมดยุคนั้น ทุกอย่างเหมือนหยุดนิ่งไว้ที่เดิม

แม้ปี 2020 จะเป็นปีที่ทุลักทุเล สำหรับฟุตบอลหญิงไทย แต่สุดท้าย ฟุตบอลลีกหญิง หรือ "ไทยวีเมนส์ลีก" ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยมี 8 ทีมในระดับลีก 1 และ 8 ทีม ในระดับลีก 2 มีการเลื่อนชั้นและตกชั้น เช่นเดียวกับฟุตบอลชาย 

ที่สำคัญที่สุด คือ การผลักดันให้แต่ละสโมสรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  เพื่อที่จะสามารถดำเนินการรับเงินสนับสนุนจากสมาคมฯ และสปอนเซอร์

นั่นเท่ากับว่า ทุกสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะได้รับเงินสนับสนุนทีม เช่นเดียวกับฟุตบอลชาย และนี่ถือเป็นครั้งแรกของวงการฟุตบอลไทย ที่สถานะของฟุตบอลลีกหญิง ใกล้เคียงกับฟุตบอลลีกชาย 

ขณะเดียวกัน การสร้างฟุตบอลลีกหญิง มีความเกี่ยวโยงกับการก้าวสู่ทีมชาติไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการสร้างลีก คือ รากฐานที่สำคัญเพื่อผลิตนักกีฬา เข้าแข่งขันในระดับทีมชาติ ที่ผ่านมา นักกีฬาทีมชาติจะมีแมตช์แข่งขัน ก็ต่อเมื่อมีทัวร์นาเมนต์ แต่หลังจากนี้ ทุกคนจะได้เข้าสู่ระบบสโมสรที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เมื่อมีเวทีฟุตบอลลีกอย่างต่อเนื่อง นักกีฬาก็จะได้พัฒนาตัวเองควบคู่กันไป

เป้าหมายสำคัญของฟุตบอลหญิงไทย อยู่ที่ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 ที่ประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งฟุตบอลโลกครั้งนี้ ทวีปเอเชียจะได้โควตาสูงถึง 8.5 ทีมด้วยกัน เหตุนี้โอกาสที่ "ชบาแก้ว" จะได้ไปฟุตบอลโลก สมัยที่ 3 ติดต่อกัน จึงมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้น การสร้างรากฐานจากตอนนี้จึงถือว่าสำคัญ

ที่กล่าวไปทั้งหมด ถือว่าแนวคิดของทางสมาคมกีฬาฟุตบอล อยู่ในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว แต่จากวันนี้ บททดสอบที่สำคัญคือ ฟุตบอล "ไทยวีเมนส์ลีก" ครั้งนี้ จะผลักดันให้เกิดความสำเร็จ และสร้างจุดเปลี่ยนให้วงการฟุตบอลหญิงไทย ได้ตามเป้าประสงค์ของสมาคมฯ หรือไม่ สิ่งนี้ไม่ได้เกิดได้จากการผลักดันเพียงใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกฝ่ายต้องพัฒนาร่วมกัน

เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในความเป็นจริง ฟุตบอลหญิงในประเทศไทย คงไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับฟุตบอลชายได้ แต่ขอเพียงแค่อย่าให้ฟุตบอลหญิง หายไปจากสารบบการพัฒนา  

เพราะหากอนาคต ฟุตบอลหญิงไทยสร้างความสำเร็จในเวทีโลก นั่นก็จะเป็นความภูมิใจของเรากองเชียร์ไทย ที่ไม่แพ้ความสำเร็จของฟุตบอลชาย อย่างแน่นอน