โจโจ้
ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงอย่างหนักว่า “โค้ชนอกหรือโค้ชไทย” แบบไหนเหมาะสมกับพลพรรคช้างศึก “ฟุตบอลทีมชาติไทย” จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ไม่ต่างจากปัญหาโลกแตก
ที่แล้วแต่จะคิดว่าอะไรเหมาะสม อยู่ที่ช่วงเวลาและความสามารถยิ่ง ผลงานของช้างศึกชุดใหญ่ที่มี “มาซาทาดะ อิชิอิ” ไม่ได้เลิศหรูเพอร์เฟกต์เป็นไปตามเป้าหมายสักเท่าไหร่
หลายคนยังเชื่อว่าผลงานของช้างศึกในเกมฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือกโซนเอเชียน่าจะสร้างโอกาสมีลุ้นให้มากกว่านี้
ขอยกแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นที่ “KBU SPORT POLL มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต” โดยความร่วมมือของศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์กับสาขาวิชาการบริหารนวัตกรรมการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ จึงสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปชายหญิงจำนวน 1,167 คน
ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าช้างศึก 23 ปี ควรใช้โค้ชนอกมากกว่า เพราะคุณลักษณะมีระเบียบวินัยมุ่งมั่นทุ่มเทได้รับการยอมรับในผลงานและมีรูปแบบและเทคนิคที่ทันสมัยมีอิสระในการทำงานและกล้าตัดสินใจ
ปัจจัยสนับสนุนที่จะส่งผลให้โค้ชประสบความสำเร็จคือความพร้อมและศักยภาพของนักกีฬา รวมถึงการสนับสนุนของสมาคมกีฬาฟุตบอล และความเหมาะสมของระยะเวลาในการเตรียมทีม
ขณะที่โค้ชไทยถึงแม้จะมีผู้ที่คุณสมบัติครบถ้วนอยู่พอสมควรก็ตามแต่ด้วยผลงานและการยอมรับอาจจะยังไม่เข้าตาแฟนกีฬาลูกหนังก็อาจจะเป็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯจะพิจารณาโดยเฉพาะจุดอ่อนและจุดแข็งระหว่างโค้ชไทยกับโค้ชนอก
ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่ว่า “โค้ชไทยจะด้อยกว่าโค้ชนอก” หลายทัวร์นาเมนต์ที่โค้ชไทยสามารถทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจพาทีมประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ที่ผ่านมาโค้ชไทยหลายคนที่ออกไปคุมทัพในต่างแดนอย่าง “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก็ทำทีมจนประสบความสำเร็จมาแล้ว
พิจารณาหรือดูจากผลของการแข่งขันแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ความสำเร็จอาจจะมีตัวแปรอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องอีกหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดและเห็นด้วยกับความคิดของแฟนบอลคือการทำงานของโค้ชต้องมีอิสระในการตัดสินใจโดยไม่มีการแทรกแซงจากสมาคมฟุตบอล
ขึ้นอยู่ที่สภากรรมการและผู้เกี่ยวข้องในสมาคม จะเลือกแบบไหนที่เหมาะสมกับนักฟุตบอลไทย.
โจโจ้
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่