ไทยรัฐออนไลน์
*กระชับวงล้อมปันความคิด #รำลึกฟุตบอล "ควีนส์คัพ"
วันที่ 12 สิงหาคม วันแม่แห่งชาติ หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่ง
และเนื่องในวันสำคัญดังกล่าวดัง เฉกเช่นทุกปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันน้อมเกล้าถวายพระพร และจัดกิจกรรมร่วมเทิดพระเกียรติกันทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลองและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระแม่แห่งแผ่นดินแล้ว
หากย้อนกลับไปในอดีตโดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลไทยแล้ว เชื่อว่าผู้คนหรือคอลูกหนังในขณะนั้นคงจะจำกันได้ว่า บ้านเรานอกจากจะมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน "คิงส์คัพ" ที่มีการเชิญนักเตะต่างชาติมาดวลฝีเท้ากับทีมชาติไทย จนเป็นทัวร์นาเมนท์ยอดนิยมแล้ว
การแข่งขันอีกรายการหนึ่ง ซึ่งถือว่าได้สร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดการพัฒนาให้กับวงการลูกหนังไทย โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สโมสรต่างๆ ได้แสดงศักยภาพเพื่อความเป็นเลิศ คงจะได้แก่ การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพนั่นเอง
ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ครั้งที่ 1 ได้เปิดม่านอย่างเป็นทางการในปี 2513 โดยมีสโมสรธนาคารกรุงเทพ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน
สำหรับรายการนี้ภูมิหลังหรือที่มานี้สืบเนื่องมาจากการดำริของ นายบุญชู โรจนเสถียร ในฐานะนายกสโมสรธนาคารกรุงเทพในขณะนั้นต้องการให้มีการแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตรระดับสโมสร เพิ่มจากรายการแข่งขันปกติที่มีอยู่
และเมื่อทุกภาคส่วนต่างเห็นพ้องต้องกัน คณะกรรมการเตรียมการจึงได้มีการนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อขอพระราชานุญาตใช้ชื่อการแข่งขัน
ว่า "การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ(ควีนส์คัพ)"
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศล และให้สโมสรต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าแข่งขันหาประสบการณ์ รวมทั้งเป็นเวทีในการคัดเลือกนักฟุตบอลระดับสโมสรสำหรับเข้าสู่ทีมชาติต่อไป
ในการจัดศึกดวลแข้งรายนี้ วาระแรกสโมสรธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าภาพ ได้มีการเชิญสโมสร ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์รวมของนักเตะชั้นแนวหน้าในยุคนั้นเข้าร่วมอีก 5 สโมสร ประกอบด้วย ทหารอากาศ การท่ารือแห่งประเทศไทย ราชวิถี ราชประชานุเคราะห์ และสมาคมหัวเฉียวจีนแคะแห่งประเทศไทย
หลังจากการแข่งขันผ่านไปได้ระยะหนึ่ง เมื่อได้รับการยอมรับและเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นตามลำดับ ต่อมาภาคีสมาชิกจึงได้เชิญสโมสรนักเตะในต่างแดนอย่างเกาหลีใต้ (ฮานยาง) อินโดนีเซีย (จาการ์ตาปุตรา) ญี่ปุ่น (ยันมาร์ ดีเซล) และจีน (ปักกิ่ง) ฯลฯ เข้าร่วมโม่แข้งในบางปีอีกด้วย
แต่ภายหลังด้วยปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนวิวัฒนาการของวงการลูกหนังโลกที่มีการขับเคลื่อนไปสู่มิติของความเป็นสากล ภายใต้อาชีพและธุรกิจมากขึ้นในปี 2553 การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพจึงปิดตัวลง และเหลือไว้แต่ความทรงจำนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา
วันนี้ถึงแม้โลก หรือบริบทของวงการฟุตบอลจะเปลี่ยนไปก็ตาม แต่หากย้อนไปถึงคุณค่าและประโยชน์อันเนื่องมาจากการจัดการแข่งขัน "ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ" ที่สังคมและวงการกีฬาไทยได้รับ
เชื่อว่าหากพิจารณาให้ถ่องแท้สำหรับคุณค่านานัปการของฟุตบอลรายการนี้ ย่อมมีบทบาท และส่งผลต่อการพัฒนาในการยกระดับวงการลูกหนังไทยได้อย่างยากที่จะพรรณนาได้
รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร