หน้าแรกแกลเลอรี่

ครั้งแรกให้อภัย "บุรีรัมย์" แค่ถูกเตือน ปมกล้องวงจรปิดห้องแต่งตัวทีมเยือน เผยบทลงโทษครั้งต่อไป

ไทยรัฐออนไลน์

31 ม.ค. 2566 21:21 น.

คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท เตือน "บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด" หลังมีกล้องวงจรปิดในห้องแต่งตัวทีมเยือนจนเป็นกระแส หลังเกมกับ "ชลบุรี เอฟซี"

วันที่ 31 ม.ค. 66 พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ประธานในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท ครั้งที่ 6/2566 เพื่อพิจารณากรณีเหตุการณ์ไม่ปกติของการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ และรายการกีฬาฟุตบอลอื่นๆ ของสมาคมฯ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 38 ประจำฤดูกาล 2565/66

โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาเหตุการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้น รวม 5 เรื่อง ซึ่งในนี้มีเหตุการณ์ที่แฟนบอลและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ คือ เหตุการณ์ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการ “ไฮลักซ์ รีโว่ ไทยลีก” ไทยลีก 1 คู่ระหว่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด 2-0 ชลบุรี เอฟซี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 ซึ่งเหตุการณ์ไม่ปกติดังกล่าว เนื่องจากได้รับรายงานว่าในห้องพักนักกีฬาชลบุรีมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณฝ้าเพดานตรงมุมห้องในห้องพักทีมเยือน

คณะกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาและมีมติเอกฉันท์ ว่าการกระทำของ สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นการกระทำความผิดระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ รายการไทยลีก 1 บทที่ 4 ข้อ 21.7 (หน้า 18)

ระเบียบว่าด้วยการลงโทษวินัย มารยาท ที่เข้าข่ายความผิด

ข้อ 5.3.19 ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันในแต่ละรายการแข่งขัน มีโทษดังนี้

- ครั้งแรก เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จ

- ครั้งที่ 2 หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในครั้งแรก ให้ปรับเงิน 10,000 บาท และกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จใหม่

- ครั้งต่อๆ ไป ปรับเงินเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จนกว่าจะดำเนินแก้ไขแล้วเสร็จ

คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท พิจารณาการกระทำของ สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีความผิดตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 2 ข้อ 5.3.19 โดยความผิดครั้งแรกเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และกำหนดระยะเวลาดำเนินการแก้ไขโดยจะต้องไม่มีกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัว ในห้องแต่งตัวนักกีฬาฟุตบอล ในห้องของเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน และในเขตเทคนิคเฉพาะส่วนที่เป็นที่นั่งนักกีฬาฟุตบอลสำรอง ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดการแข่งขันดังกล่าวข้างต้น ในวันที่ใช้สนามกีฬาดังกล่าวเป็นสถานที่จัดการแข่งขันในฐานะทีมเหย้าทุกนัดการแข่งขัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาวินัยมารยาท ยังได้พิจารณาเหตุการณ์ไม่ปกติฟุตบอลรายการไทยลีก 3 ระหว่าง เอ็มเอส นครศรี ซิตี้ 1-0 สโมสรเมืองคนดี ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ผู้เล่นสโมสรเมืองคนดีประท้วงการตัดสินของผู้ตัดสินที่เป่าให้เป็นจุดโทษกับทีมคู่แข่ง ในนาทีที่ 82 จนทำให้การแข่งขันต้องหยุดชะงักลงหลายนาที

คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าเป็นการกระทำความผิดตามระเบียบการลงโทษข้อ 3.8 ปรับ สโมสรเมืองคนดี ยูไนเต็ด เป็นเงินจำนวน 30,000 บาท แต่เป็นการแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการไทยลีก 3 จึงลงโทษปรับหนึ่งในสาม ปรับเงิน 10,000 บาท ทั้งนี้ หากไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของผู้ตัดสิน สโมสรย่อมที่จะใช้สิทธิ์ร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสินมายังสมาคมเพื่อพิจารณาตามระเบียบ หาใช่ทำการประท้วง ไม่ยอมทำการแข่งขันซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายติดตามมา

ทั้งนี้ หากไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมวางเงินค่าอุทธรณ์ จำนวน 20,000 บาท กรณีรายการไทยลีก 1 ส่วนรายการไทยลีก 3 วางเงินค่าอุทธรณ์ จำนวน 5,000 บาท ต่อหนึ่งกรณีการอุทธรณ์ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา.