หน้าแรกแกลเลอรี่

สายตรงฟีฟ่าเดย์ (1)

บี บางปะกง

26 ม.ค. 2565 04:40 น.


เป็นอีกครั้งครับ ที่ พี่หมอไพศาล จันทรพิทักษ์ บินไปทำหน้าที่ฝ่ายแพทย์ให้ฟีฟ่าในต่างแดนประสบการณ์หลากหลายที่พวกเราไม่มีโอกาสได้รู้มาก่อน

พี่หมอกรุณาเขียนมาเล่าสู่กันฟัง...จากแดนซามูไรโดยตรง ลองอ่านกันดูครับ

OOOOOOOO

ชีพจรลงเท้าผมให้ไปญี่ปุ่นอีกครั้งครับ หลังจากที่ไปโตเกียวโอลิมปิก เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว ครั้งนี้ไปในช่วงฟีฟ่าเดย์ปลายเดือนมกราคม

ผมได้รับแต่งตั้งจากฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก เพื่อหาทีมจากเอเชียเข้าแข่งขันฟุตบอลโลก ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งจะเป็นการแข่งขันระหว่างทีมชาติญี่ปุ่นกับจีนในวันที่ 27 ม.ค. กับซาอุดีอาระเบีย ในวันที่ 1 ก.พ.

ก็จะไปทำหน้าที่ FIFA Medical and Doping Control Officer ที่ต้องดูแลทั้งเรื่องทางการแพทย์ (Medical) ซึ่งหมายถึงทั้งการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นระหว่างการฝึกซ้อมและวันแข่งขัน ระหว่างที่ จนท.และนักฟุตบอลทุกคนที่จะเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น

ตั้งแต่มาถึงจนกระทั่งเดินทางกลับ เจ้าภาพคือสมาคมกีฬาฟุตบอลญี่ปุ่น จะต้องมีบริการทางการแพทย์ที่พร้อมให้บริการแก่ทุกๆคนที่มาร่วมการแข่งขัน รวมทั้งกรรมการผู้ตัดสิน ฝ่ายต่างๆที่ทางฟีฟ่าและเอเอฟซีแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่

ผมได้รับมอบหมายให้มาดูความพร้อมของเจ้าภาพในการเตรียมบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่ในระหว่างที่มาถึงญี่ปุ่น ไปพักที่โรงแรม เดินทางออกไปซ้อม วันแข่งขัน ในสนามแข่งขัน หลังการแข่งขันหากมีการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยโดยเฉพาะเวลากลางคืน เจ้าภาพจะต้องจัดบริการทางการแพทย์ให้สามารถรองรับได้ตลอด 24 ชั่วโมง

และมีความจำเป็นที่ต้องจัดบริการชนิด Fast Track เพราะนักฟุตบอลเหล่านี้จะต้องได้รับการตรวจและรักษาอย่างรีบด่วน เพราะมีหน้าที่ที่จะต้องฝึกซ้อมและเข้าแข่งขันทุกแมตช์ ดังนั้นนักฟุตบอลเหล่านี้ ต้องการทราบอย่างเร่งด่วนว่าตนเองเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากสาเหตุอะไร? ต้องอาศัยการตรวจด้วยเอกซเรย์ทั้งธรรมดาและคอมพิวเตอร์ หรือ MRI (เอ็ม อาร์ ไอ) จึงจะทราบผลว่าบาดเจ็บที่ส่วนไหนบ้าง

ซึ่งแพทย์จะได้ทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที เหตุผลเพราะนักฟุตบอลเป็นเสมือนบุคคลสำคัญมากที่สุดของทีม โค้ชต้องการรู้ว่านักฟุตบอลคนนั้นจะกลับมาซ้อมได้เมื่อไหร่? จะสามารถลงไปแข่งขันนัดต่อไปได้มั้ย? เพราะโค้ชจะได้เตรียมทีม เตรียมผู้เล่นที่มีความพร้อมที่สุดในการลงแข่งขันในนัดต่อไป

ดังนั้น ทุกท่านคงเห็นแล้วว่าบริการทางการแพทย์ในการแข่งขันฟุตบอลมีความสำคัญอย่างไร? และยิ่งไปกว่านั้นก็จะเป็นบริการทางการแพทย์ในวันแข่งขัน ความพร้อมของแพทย์ พยาบาล จนท.เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากสนาม รวมทั้งอุปกรณ์สำคัญๆทางการแพทย์ต้องมีครบถ้วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสนามแข่งขันจะต้องมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ) มิฉะนั้นประธานฝ่ายจัดการแข่งขันในสนาม Match Commissioner ในวันนั้นจะไม่อนุญาตให้ผู้ตัดสินเป่านกหวีดเริ่มการแข่งขัน (ต่อตอนหน้า)

น.อ. (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์

บี บางปะกง