บี บางปะกง
ความสูญเสีย...ของโลกลูกหนัง ต่อการอำลาชั่วนิจนิรันดร์ของ“เสือเตี้ย” ดิเอโก มาราโดนา ยังคงเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของคอกีฬาทั่วโลกมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
บังเอิญผมได้ไปเห็นบทความดีๆของ พี่หมอ อี๊ด ลอประยูร แพทย์ที่ดูแลนักกีฬาทีมชาติไทยมานานหลายปี เขียนเอาไว้ใน FB ส่วนตัว
ถึงกรณีศึกษาจากการเสียชีวิตของ มาราโดนา ไว้อย่างน่าสนใจ
ลองอ่านกันดูนะครับ!!!
ooooooooooo
การเป็นนักกีฬาฟุตบอลมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติหรือไม่?
การสูญเสียนักเตะระดับโลก ดิเอโก มาราโดนา ด้วยวัยเพียง 60 ปี
อาจทำให้หลายคนกังวลว่า การเป็นนักกีฬาอาชีพจะมีผลต่อการทำให้มีอายุสั้นลงบ้างไหม?
จากสรุปผลรวบรวมรายงานการวิจัยที่ผ่านมาถึงแม้จะไม่ชัดเจนพอที่จะสรุปได้แน่ชัด
แต่จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการค้นข้อมูลย้อนหลังของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพไปประมาณ 18 ปี
ในจำนวน 7,676 คน เปรียบเทียบกับคนทั่วไปจำนวน 23,028 คน พบว่าคนที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆน้อยกว่าคนทั่วไป เรื่องนี้ถือเป็นข้อดี
แต่มีข้อเสียที่พบ คือ นักกีฬาฟุตบอลอาชีพมีความเสี่ยงของการตายจากโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองมากกว่าคนทั่วไป
ทั้งนี้ น่าจะเกิดจากการกระแทกซ้ำๆที่ศีรษะซึ่งพบว่าใน 1 เกม นักกีฬามีการใช้ศีรษะโหม่งบอลประมาณ 6–12 ครั้ง (ไม่รวมตอนซ้อม)
การกระแทกสะสม การไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องว่ามีการกระทบกระเทือนของสมองและการดูแลรักษาที่ไม่ถูกต้อง
จึงทำให้เกิดผลเสียแทรกซ้อนตามมาได้
อย่างไรก็ตาม ผลดีจากการมีสุขภาพแข็งแรงจากการเล่นกีฬามีมากเช่นเดียวกัน
ดังนั้นหากเราให้ความสนใจกับการดูแลสมองของนักกีฬาทั้งอาชีพ สมัครเล่นหรือบุคคลทั่วไปอย่างจริงจัง
การเล่นกีฬาเช่นฟุตบอลก็ยังให้ประโยชน์มากกว่าให้โทษอยู่ดี
นักกีฬาอาชีพทั่วไปทุกๆกีฬามีความเสี่ยงต่อการเสื่อมของข้อเข่าเมื่ออายุมากขึ้นมากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่มีการบาดเจ็บมาก่อน
ยกเว้นนักวิ่งระยะทางไกลหรือระดับกลางนั้น ไม่มีความเสี่ยงต่อการเสื่อมของข้อเข่ามากกว่า แต่นั่นก็หมายถึงไม่มากจนเกินไปนัก
แต่สุดท้ายเมื่อคำนึงถึงภาพรวมจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง
นักกีฬาจะมีคุณภาพชีวิต Quality of life ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจดีกว่าคนทั่วไป
แม้จะมีคุณภาพร่างกายที่ด้อยกว่าหากมีการบาดเจ็บ
แต่คุณภาพทางใจกลับจะดีกว่าคนที่ไม่เล่นกีฬาเลย
ทุกสิ่งทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย หากมีข้อมูลพอก็จะสามารถทำให้เราสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีกว่า
สำหรับตัวเรา ลูกของเรา และคนในสังคมของเราได้อย่างถูกต้อง.
บี บางปะกง