หน้าแรกแกลเลอรี่

มูลค่าสโมสรฟุตบอล (2)

บี บางปะกง

13 พ.ย. 2563 05:01 น.


(ต่อตอนที่แล้ว) เรื่องนี้น่าสนใจที่จะมองกลับมายังวงการฟุตบอลในบ้านเรา สโมสรฟุตบอลไทยของเรายังมีการเปลี่ยนมือหรือโครงสร้างผู้ถือหุ้นในรูปแบบองค์กรธุรกิจไม่เยอะเพราะยังไม่สุกงอมในด้านพาณิชย์เหมือนลีกยุโรป

จะเห็นก็แต่เงินจากฝั่งการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการซื้อขายและบริหารสโมสรเป็นประจำ

ด้วยวัตถุประสงค์ส่วนตัวอะไรก็ตาม เมื่อนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเงินก็ไหลเข้ามาจากคอนเนกชันของสปอนเซอร์ที่โดนดึงเข้ามาสนับสนุน

มีการแข่งกันซื้อตัวนักเตะมาเสริมบารมีทีมและตัวเอง

ทีมไหนที่ไม่มีนักการเมืองหนุนหลังก็แย่หน่อย สู้เค้าไม่ได้ แถมเศรษฐกิจแบบนี้สปอนเซอร์ก็หายากขึ้นเป็นหลายเท่า

ผมว่ากลยุทธ์การบริหารมูลค่าสโมสรอย่างชาญฉลาดน่าจะเป็นอีกทางเลือกของสโมสรฟุตบอลไทยที่อยากสร้างความยั่งยืนไม่พึ่งเงินจากสายการเมืองที่มาๆ ไปๆ ไม่แน่ไม่นอน

นักเตะไทยรุ่นใหม่ๆ มีฝีมือดีหลายคน แต่สโมสรเองต้องลงทุนเรื่องอะคาเดมี เรื่องโค้ช ฯลฯ ให้เต็มที่ต่อเนื่อง

เราเริ่มมีนักเตะอย่าง ชนาธิป ธีราทร กวินทร์ ที่เบิกทางไปเล่นสโมสรอินเตอร์แล้ว เป็นตัวอย่างของการปั้นเด็กแล้วส่งออกสร้างมูลค่าให้สโมสรได้อย่างชัดเจน

ไม่มีอะไรที่ง่ายและเร็วครับ ถ้าเรายังไม่มองเรื่องนี้อย่างจริงจัง

การสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ของสโมสรไทยก็คงไม่เกิด

เศรษฐา ทวีสิน

OOOOOOOO

แม้จะมีเงื่อนไขเรื่องเวลาที่ต้องอดทนรอคอยการบ่มเพาะเป็นสิ่งสำคัญ

แต่การสร้างมูลค่าเพิ่มของสโมสรฟุตบอลบ้านเราตามแนวทางของคุณเศรษฐา น่าสนใจทีเดียวครับ

เพราะเป็นอะไรที่ยั่งยืนกว่า การใช้เงินซื้อความสำเร็จเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ซึ่งยุคนี้มันไม่สอดคล้องเอาซะเลยกับความเป็นไปของเศรษฐกิจประเทศชาติและเศรษฐกิจโลกในองค์รวม

บางทีการหันมาลงทุนสร้างอะคาเดมีนักเตะเยาวชนของตัวเองอย่างจริงจัง

อาจทำให้เราเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

กับความฝัน “บอลไทย ไปบอลโลก”

จริงๆสักที...ก็เป็นได้!!!

บี บางปะกง