หน้าแรกแกลเลอรี่

เจาะเส้นทางโค้ชจอมหนึบผู้มีแต่ให้ "มหาโต" นิพนธ์ มาลานนท์

ไทยรัฐออนไลน์

16 ก.ย. 2563 06:09 น.

ถ้าจะพูดตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในสนาม คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า “ผู้รักษาประตู” คืออีกตำแหน่งที่สำคัญ และชี้เป็นชี้ตายผลการแข่งขันบนสกอร์บอร์ดได้เลยทีเดียว

สำหรับในเมืองไทยเอง โค้ชจอมหนึบที่เก่งๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่โค้ชที่เคยผ่านประสบการณ์ระดับอินเตอร์ในสมัยที่เป็นผู้เล่น เคยคว้าแชมป์ระดับเอเชีย แถมยังปั้นลูกศิษย์ให้ติดทีมชาติได้ คงมีอยู่ไม่กี่คน

ซึ่งคนที่ทีมข่าวไทยรัฐสปอร์ตกำลังเอ่ยถึงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ “มหาโต” นิพนธ์ มาลานนท์ อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไทย และจอมหนึบผู้พา “แบงก์รวงข้าว” ธนาคารกสิกรไทย คว้าแชมป์สโมสรเอเชียมาครองได้ถึง 2 สมัย รวมถึงเครดิตต่างๆ มากมาย ที่แทบจะเอ่ยได้ไม่หมดในหน้ากระดาษเดียว

แต่วันนี้ “โค้ชโต” จะมาบอกเล่าถึงเรื่องราวเส้นทางการทำหน้าที่โค้ช และอีกหนึ่งบทบาทในปัจจุบันที่กำลังสร้างรากฐานอันแข็งแรงให้กับผู้รักษาประตูรุ่นใหม่ทั้งชาย-หญิง เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทัพช้างศึกในอนาคต

เรียนรู้จากประสบการณ์ ต่อยอดงานโค้ชแบบไม่หยุดนิ่ง

"มหาโต" หรือ "โค้ชโต" ที่น้องๆ นักเตะและสื่อมวลชนเรียกกันคุ้นปาก เผยว่า ในช่วงแรกของการเริ่มงานโค้ช การหาความรู้เพิ่มเติมไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะอินเทอร์เน็ตไม่ใช่สิ่งที่แพร่หลายเหมือนในทุกวันนี้ แต่อะไรๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป สำหรับคนที่มีความ "มานะ" และ "พยายาม" เป็นที่ตั้ง 

"ต้องยอมรับว่า มันเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมากในการทำหน้าที่โค้ชตอนนั้น เพราะยังไม่มีโปรแกรมฝึกซ้อมอะไรให้ได้เรียนรู้ โปรแกรมส่วนใหญ่ที่ใช้สอนจะมาจากประสบการณ์ และความรู้สะสมมาจากสมัยเป็นนักเตะ ซึ่งมาจาก อ.ณรงค์ สัยเกตุ ที่ได้รับความรู้มาจากโค้ชชาวบราซิล" 

"นอกจากนี้ยังได้ความรู้มาจาก “อาติ๊ก” สมชาติ ยิ้มศิริ ที่ช่วยปูพื้นฐานมาตั้งแต่เด็ก ส่วนเทคนิคที่ใช้สอนสมัยก่อน ทุกวันนี้ก็ส่วนใหญ่ก็ยังใช้ได้อยู่ เพียงแต่ผู้รักษาประตูสมัยใหม่เริ่มมีการใช้เท้ามากขึ้น เราก็เพิ่มโปรแกรมทักษะการใช้เท้าเข้าไปด้วย"

"ในตอนนั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาในเมืองไทยใหม่ๆ เราก็พยายามเข้าไปในเว็บไซต์ เจอตำราส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องที่ถนัดเท่าไร จนกระทั่งเจอเว็บไซต์ของเยอรมนี ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอ ยอมรับว่าตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่า เอามาฝึกแล้วจะได้อะไรบ้าง แต่จริงๆ แล้วเป็นแบบฝึกที่สามารถเอามาใช้ ในการแข่งขันจริงได้ทั้งนั้น"

"ผมบอกน้องๆ ผู้รักษาประตูสมัยใหม่เลยว่า ที่เซฟได้ดี ส่วนใหญ่มาจากการยืนตำแหน่งทั้งนั้น ต่อให้คุณเทคนิคดี แต่ยืนตำแหน่งไม่ดี ก็เซฟไม่ได้ อย่างเช่น มานูเอล นอยเออร์ หรือผู้รักษาประตูดังๆ ของโลก ส่วนใหญ่มีการยืนตำแหน่งที่ดีทั้งนั้น รวมถึงการอ่านเกม ซึ่งมาจากประสบการณ์ตรง แล้วเอามาบอกต่อน้องๆ เวลาฝึกซ้อม"

การเป็นโค้ชผู้รักษาประตูที่ไม่ใช้ "ถุงมือ" คือคาแรกเตอร์ และสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร 

สำหรับแฟนบอล และคนในวงการลูกหนังจะทราบดีว่า อดีตจอมหนึบทีมชาติไทยวัย 53 ปีรายนี้ น่าจะเป็นโค้ชผู้รักษาประตูเพียงไม่กี่คน ที่ไม่นิยมใช้ถุงมือในการฝึกซ้อม ซึ่ง "มหาโต" ยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่า เป็นเพราะความสงสาร บวกกับสไตส์ส่วนตัว ทำให้เกิดความแตกต่างขึ้นโดยบังเอิญ

"เรื่องการไม่ใช้ถุงมือ ก็เพราะเกิดจากความสงสาร สมัยก่อนมีสปอนเซอร์ให้มาใช้ แต่พอมีเด็กมาขอผมก็ให้หมดเลย เพราะเราเข้าใจความรู้สึกของเด็กๆ ที่เขาไม่มี เราเองก็เคยไม่มีมาก่อน จนบางทีเกรงใจสปอนเซอร์ ซึ่งเรามาคิดว่าการเป็นโค้ชผู้รักษาประตู บางทีก็ไม่ต้องมีถุงมือก็ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือสมอง มันอยู่ที่การวางโปรแกรมของแต่ละคนมากกว่า"

"เดิมทีคาแรกเตอร์ส่วนตัว เป็นคนทำอะไรที่ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน รวมถึงโปรแกรมการฝึกซ้อมก็ไม่ค่อยเหมือนใครด้วย มีโค้ชชาวต่างชาติเคยบอกผมว่า ถ้าเราถอดแบบฝึกมาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จะทำให้สมองเราไม่ได้คิดอะไรเลย จากนั้นผมก็เริ่มมีการพลิกแพลงแบบฝึก เพื่อให้เข้ากับนักเตะ ส่วนตัวอย่างคลิปของต่างประเทศ ก็เป็นเพียงแค่ไอเดียเท่านั้น"

"หลักการคือผมจะสอนน้อยๆ เพื่อให้เขาจำได้แม่น เพราะเทคนิคพวกนี้จะอยู่กับเราไปจนวันตาย ทุกโปรแกรมที่เขียน ผมจะเอาตัวเองไปอยู่ในนั้นด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่ออกแบบให้กับเด็ก และได้รู้แก่นแท้ของมัน" 

"บางทีผมถามเด็กไปด้วยว่า ฝึกแบบนี้ได้อะไรบ้าง เพราะเราพยายามที่จะสอนให้เขาคิดไปด้วย หรืออย่างก่อนจะมาซ้อม ผมจะส่งคลิปรูปแบบการซ้อมให้เขาดูก่อน พอถึงเวลาซ้อมจริงก็จะรู้เลยว่า ใครทำการบ้านหรือไม่การบ้านมาก่อน จากนั้นก็จะเตือนว่าถ้าคุณไม่เตรียมตัวมาก่อน มันจะส่งผลเสียกับตัวเอง เพราะจะตามเพื่อนไม่ทัน"

สอนให้เด็กไทยก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกาย และหันมาใช้สมองในการเล่นมากขึ้น

ถึงแม้ส่วนสูงของร่างกาย จะช่วยสร้างแต้มต่อในการเป็นผู้รักษาประตูที่ดี แต่นั่นกลับไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในสนาม เพราะ "โค้ชโต" นิพนธ์ มาลานนท์ ชี้ว่า ความขยัน อดทน และตั้งใจจริง คือสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ พร้อมยกตัวอย่างนายทวารระดับโลกให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

"มีเด็กมาคุยกับผมบ่อยๆ ว่า ไปคัดตัวที่ไหนก็ไม่ติดสักทีเพราะว่าตัวเตี้ย ผมก็ตอบบอกน้องๆ ไปว่า ผมไม่เคยเห็นผู้รักษาประตูในเมืองไทยคนไหน ที่ตัวสูงแล้วเล่นดีเลย มันอยู่ที่โค้ชมากกว่า ว่าควรสอนยังไง ให้เขายืนตำแหน่งได้ดี"

"อย่างตอนผมเป็นโค้ชให้ “ตอง” กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ สมัยที่เขาอยู่เมืองทองฯ ยุคแรกๆ ทำไมถึงไม่เก่งลูกโด่ง เราต้องไปดูจุดแข็งว่าเขามีอะไร และควรเติมเต็มยังไงบ้าง ผมว่าการเป็นโค้ชผู้รักษาประตูต้องรู้จักสังเกต ถามว่าผมตัวเล็ก แต่ทำไมถึงได้รางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมของเอเชีย (สมัยเล่นให้กับ ธ.กสิกรไทย) ก็เพราะผมขยันฝึก และมีความอดทน" 

"ผมเป็นโค้ชคนหนึ่ง ที่ชอบผู้รักษาประตูตัวเล็ก ทำไม โฮเซ คัมโปส (อดีตนายทวารทีมชาติเม็กซิโก ชุดฟุตบอลโลก 1994) ถึงเล่นเก่ง บางคนอาจจะเถียงว่า ‘ก็ผู้รักษาประตูในต่างชาติ ไม่เห็นมีใครตัวเตี้ยเลย’ แต่ทำไม คัมโปส เล่นได้ล่ะ? มันอยู่ที่โค้ชจะสร้างยังไงให้เก่งได้"

"ผมก็ได้แต่ให้กำลังใจน้องๆ หลายคนว่า ให้อดทนเข้าไว้ สักวันจะเป็นวันของเรา ไม่เชื่อไปดูยูทูบเก่าๆ สมัยที่ผมเล่นก็ได้ ทำไมผู้รักษาประตูตัวสูงๆ ถึงแพ้ผม ทำไมผมถึงได้รางวัลยอดเยี่ยมของเอเชีย ทุกอย่างที่ผมเคยพูด เคยบอก อยู่ในยูทูบหมดเลย ผมพยายามทำให้เด็กเห็นแล้วศรัทธา ผมถึงบอกว่าโค้ชบ้านเราทำยังไง ถึงจะเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด"

จุดอ่อนและการฟื้นความมั่นใจ สามารถแก้ไขได้ด้วยการ "นั่งสมาธิ"

สุดท้าย "มหาโต" ได้ให้เทคนิคสำคัญ ในการเรียกความมั่นใจ เมื่อเกิดความผิดพลาด ซึ่งถึงแม้การวิเคราะห์จุดอ่อนด้วยเทคนิคสมัยใหม่ การพึ่งพาเทคนิคดั้งเดิมอย่าง "การนั่งสมาธิ" ก็คือสิ่งที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด อีกทั้งเจ้าตัวยังรับประกันด้วยตัวเองว่า ได้ผลดีเกินคาด

"จากประสบการณ์ส่วนตัว เราต้องวิเคราะห์จากเทปวิดีโอว่า ผิดพลาดตรงไหนบ้าง เช่น ผิดพลาดจากการยืนตำแหน่ง หรือจากการตัดสินใจ จากนั้นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดในสนาม แต่ถ้ายังไม่ได้อีก ก็แนะนำให้ลองนั่งสมาธิ"

"ผมเองโชคดีที่พื้นฐานทางบ้านมีการนั่งสมาธิมาก่อน เพราะในช่วงวัยรุ่นเคยผ่านประสบการณ์ความผิดหวังหลายอย่าง ผมก็เข้าวัดนั่งสมาธิ กำหนดจิต ปล่อยวางทุกอย่าง พยายามทำชีวิตข้างหน้าให้ดีที่สุด จะไม่เอาความผิดหวังนอกสนามมาไว้ในหัว ทุ่มเทให้กับฟุตบอลทั้งหมด"

"การฝึกสมาธิ คือสิ่งที่ตอบโจทย์ในกีฬาทุกๆ ประเภท และผมเองก็เคยสัมผัสมาแล้ว มันทำให้เรานิ่งขึ้น ไม่หวั่นไหวกับเสียงรอบข้าง เหมือนอย่าง “ตอง” กวินทร์ ก็เอาวิธีนี้ไปใช้ เวลามีเจอกับเกมที่กดดัน เขาจะหลับตานั่งสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบมากขึ้น"

ที่ผ่านไปยังไม่ใช่ทั้งหมดของบทสัมภาษณ์ "มหาโต" นิพินธ์ มาลานนท์ ในวันศุกร์นี้อดีตจอมหนึบชื่อดังทีมชาติไทย จะมาวิเคราะห์ถึงการเข้ามาของนายทวารต่างชาติในไทยลีก และอนาคตของผู้รักษาประตูจากแดนสยาม ที่จะต้องทำอย่างไรจึงจะได้รับการยอมรับจากต่างชาติ และถูกซื้อตัวไปเฝ้าเสาในต่างแดน มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน.

เรื่อง : สุภาพบุรุษพุงตึง

กราฟิก : Sathit Chuephannga

ภาพ : เอกลักษณ์ ไม่น้อย