ไทยรัฐฉบับพิมพ์
“บิ๊กเสือ” สกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการ กกท. เผยยังไม่พอใจผลงานนักกีฬากลุ่มกีฬาต่อสู้ ยังต้องเร่งพัฒนาอีกมาก ในการแข่งขันกีฬาสปอร์ตฮีโร่แห่งชาติ ส่วนกลุ่มกีฬานับคะแนนและสถิติ อยู่ในเกณฑ์ที่สอบผ่าน พร้อมระบุหลังจบการชิงชัยรอบโพสต์อีเวนต์ เดือนกันยายนนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ หากใครผลงานไม่ดี เข็นไม่ขึ้น โดนตัดทิ้งแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อรับคนที่พร้อมกว่าเข้ามาแทนที่ เพราะเป้าหมายหลักของ กกท. คือการสร้างดาวรุ่ง ป้อนให้กับทีมชาติไทย ดังนั้น ผลงานความสามารถต้องมาเป็นอันดับแรก...
“บิ๊กเสือ” นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า ตามที่ กกท. ได้ดำเนินการในโครงการพัฒนานักกีฬาจังหวัด หรือสปอร์ตฮีโร่ใหม่ ด้วยการให้สมาคมกีฬาจังหวัดทั่วประเทศ คัดนักกีฬาดาวรุ่ง ใน 3 รุ่นอายุ ได้แก่ รุ่น 10-12 ปี, 13-15 ปี และ 16-18 ปี ระดับหัวกะทิของแต่ละจังหวัด มาเข้าสู่โครงการ จำนวน 1,099 คน และจัดการแข่งขันกีฬาสปอร์ตฮีโร่แห่งชาติ ใน 15 ชนิดกีฬา ที่มีบรรจุในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ เพื่อเป็นการแสดงฝีมือ ความสามารถ สร้างโอกาส ประเมินผลงาน นำไปสู่การพัฒนาให้พวกเขาเหล่านี้เป็นทางเลือกของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยสมาคมกีฬาต่างๆ ได้นำไปใช้ ก้าวเป็นทีมชาติต่อไปในอนาคตนั้น
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวต่อว่า จากการที่ได้ไปติดตามการแข่งขันกีฬาสปอร์ตฮีโร่ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 ปรี-อีเวนต์ “ดอยสุเทพเกมส์” ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจบไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า หากจะแยกเป็นกลุ่มกีฬา จากที่มีการชิงชัยทั้งหมด 15 ชนิดกีฬา ต้องยอมรับว่ากลุ่มกีฬาต่อสู้ ได้แก่ มวยสากล, ยูโด, เทควันโด และมวยปล้ำ เป็น 4 ชนิดกีฬา ที่ตนยังไม่พอใจผลงานของนักกีฬามากนัก ยังต้องเร่งพัฒนาอีกมาก ซึ่งในเรื่องนี้ได้กำชับสมาคมกีฬาจังหวัดแห่งประเทศไทยที่ดูแลนักกีฬาโดยตรง ให้คอยติดตามผลและหาจุดแก้ไข เพื่อปรับปรุงให้นักกีฬาพร้อมมากกว่านี้ในการแข่งขันครั้งต่อไป
“ส่วนกลุ่มกีฬานับคะแนน 5 ชนิดกีฬา ได้แก่ แบดมินตัน, กอล์ฟ, เทเบิลเทนนิส, เทนนิส และวอลเลย์บอลชายหาด รวมถึงกลุ่มกีฬาสถิติ 6 ชนิดกีฬา ได้แก่ ว่ายน้ำ, ยิงธนู, กรีฑา, เรือพาย, จักรยาน และยกน้ำหนัก ถือว่านักกีฬาดาวรุ่งทำผลงานได้น่าพอใจ อยู่ในเกณฑ์สอบผ่าน” บิ๊กเสือกล่าว
นอกจากนี้ นายสกลยังกล่าวอีกว่า ทั้งนี้หลังจากจบการแข่งขันกีฬาสปอร์ตฮีโร่ โพสต์อีเวนต์ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 กันยายนนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จะมีการประเมินผลอย่างจริงจัง หากใครผลงานไม่ดี ไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้ จะโดนตัดชื่อทิ้งแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อรับคนที่พร้อมกว่าเข้ามาแทนที่ เพราะเป้าหมายของ กกท. กับโครงการนี้ คือ การสร้างดาวรุ่ง และช่วยสร้างดาวรุ่งในระดับจังหวัดแทนแต่ละโรงเรียน สถาบัน พ่อแม่ และครู ที่ต้องสร้างกันเองมาก่อนหน้านี้ เพื่อป้อนให้กับทีมชาติไทย โดยเฉพาะกับเป้าหมายในโอลิมปิกเกมส์ในวันข้างหน้า ดังนั้นผลงาน ความสามารถ จะต้องมาเป็นอันดับแรก.