ไทยรัฐออนไลน์
ศึกสองล้อนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2025” เนื้อหอมสุด ๆ ได้รับความสนใจจากทีมจักรยานอาชีพทั้งชายและหญิงจากทวียุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย อย่างคับคั่ง ยืนยันตอบรับเข้าร่วมชิงชัยอย่างล้นหลาม
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เตรียมจัดการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2025” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม – 2 เมษายน 2568 โดยชื่อการแข่งขันอย่างเป็นทางการว่า “The Princess Maha Chakri Sirindhorn’s Cup Tour of Thailand 2025” โดยใช้เส้นทาง “อันซีน ไทยแลนด์” ในจังหวัดสระแก้ว เป็นโครงการนำร่องในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
พลเอกเดชา กล่าวว่า การแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2025” จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยได้รับความสนใจจากทีมจักรยานอาชีพทั้งชายและหญิงต้องการเข้าร่วมการแข่งขันคับคั่งเช่นเคย สำหรับจักรยานทางไกล ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2025 ประเภททีมชาย ที่จะแข่งขันระหว่างวันที่ 24-30 มีนาคม 2568 ขณะนี้สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้จัดส่งหนังสือเชิญไปยังทีมจักรยานอาชีพชั้นนำที่แสดงความสนใจเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งในยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ล่าสุดก็เริ่มทยอยตอบรับเข้าร่วมการแข่งขันกันมาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันเต็มศักยภาพจำนวน 20 ทีมที่ตั้งเอาไว้อย่างแน่นอน
“ขณะนี้ทีมที่ตอบรับเข้าร่วมการแข่งขันแน่นอนแล้วประกอบด้วย ทีมบีเอช-เบอร์กอส ในระดับโปรทีมจากประเทศสเปน, ทีมแอสตาน่า มอเตอร์ ซึ่งเป็นทีมอคาเดมี่ของทีมอาชีพระดับสูงสุดของประเทศคาซัคสถาน, เซนต์ จอร์จ คอนติเนนตัลทีม จากประเทศออสเตรเลีย รวมไปถึงทีมอาชีพชั้นนำที่มีคะแนนสะสมในเอเชียทัวร์อย่างตรังกานู ไซคลิงทีม จากประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ทีมชั้นนำของเอเชียที่ตอบรับเข้าร่วมการแข่งขันแล้วเช่นกัน ประกอบด้วย ทีมเซเว่น อีเลฟเว่น คลิก จากประเทศฟิลิปปินส ทีมแอลเอ็กซ์ จากประเทศเกาหลีใต้, ทีมอูเกียว จากประเทศญี่ปุ่น, ทีมทาชเคนต์ซิตี้ โปร จากประเทศอุซเบกิสถาน” พลเอกเดชา กล่าว
พลเอกเดชา กล่าวต่อไปว่า นอกจากทีมอาชีพชั้นนำจากแต่ละทวีปดังกล่าวแล้ว ยังมีทีมชาติต่าง ๆ ในทวีเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม ก็ยืนยันส่งทีมเข้าร่วมประชันฝีเท้าเช่นกัน ในขณะที่ทีมจักรยานของไทยในฐานะเจ้าภาพ ก็จะมีไทยแลนด์ คอนติเนนตัล ไซคลิงทีม, ทีมแกรนต์ ธอร์นตัน และรู้ใจ อินชัวรันส์ สามทีมอาชีพระดับคอนติเนนตัลทีม ร่วมกับทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 23 ปีลงประชันฝีเท้ากับนักปั่นอาชีพจากนานาประเทศดังกล่าว
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า ส่วนการแข่งขันจักรยานทางไกลสตรี วีเมนส์ ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2025 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน 2568 ทีมจักรยานที่ได้รับเชิญต่างก็ทยอยตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีทั้งทีมเบตเตอร์ฟีลด์ เรซซิง จากประเทศออสเตรเลีย, ทีมแอสตาน่า เดวี ไซคลิง ทีมอาชีพหญิงจากประเทศคาซัคสถาน รวมทั้งทีมชาติเกาหลีใต้, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, อุซเบกิสถาน, ไต้หวัน และทีมชาติจีน ต่างก็ตอบรับยืนยันเข้าร่วมการชิงชัยเรียบร้อยแล้ว
“สำหรับในประเภททีมหญิง ทีมสองล้อสาวไทยในฐานะเจ้าภาพจะประกอบด้วย ไทยแลนด์ วีเมนส์ ไซคลิง ทีมอาชีพหญิงของไทย, ทีมชาติไทย, ทีมฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ และทีม Prime 19 ที่จะเน้นนักปั่นหญิงดาวรุ่งรุ่นใหม่ของไทยเข้ามาร่วมการแข่งขันเสริมประสบการณ์ความแข็งแกร่ง ในขณะเดียวกัน ทางสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ก็ยังได้รับการร้องขอจากทีมสโมสรหญิงทั้งของประเทศเวียดนามและเกาหลีใต้เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มเติมจากที่เชิญทีมชาติทั้งสองชาติไปแล้ว ซึ่งทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะสามารถเชิญเข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ เนื่องจากจำนวนทีมที่ยืนยันเข้าร่วมการแข่งขันในปัจจุบันเต็มจำนวน 20 ทีมที่ตั้งเอาไว้แล้ว” นายกสองล้อไทย กล่าว
พลเอกเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแข่งขันจักรยานทางไกลทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ ปัจจุบันได้รับการบรรจุในปฏิทินการแข่งขันนานาชาติของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ในระดับ 2.1 ซึ่งหลายฝ่ายเรียกร้องให้สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ยกระดับการแข่งขันให้ขึ้นไปอยู่ในระดับโปรซีรี่ส์ ซึ่งมีมาตรฐานสูงขึ้นไปอีก แต่สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะต้องพิจารณาความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน สมาคมฯ มั่นใจว่าในเรื่องมาตรฐานการจัดการแข่งขัน และมาตรฐานด้านเทคนิค เราสามารถยกระดับขึ้นไปเป็นโปรซีรี่ส์ได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การยกระดับให้สูงขึ้นนั้น หมายถึงต้องมีการเพิ่มงบประมาณการจัดการแข่งขันในด้านอื่น ๆ ตามมาในวงเงินมหาศาล เนื่องจากจะต้องมีทีมอาชีพทั้งในระดับเวิลด์ ทีม ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และระดับโปรทีม หรือทีมดิวิชั่น 2 เข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น และจะต้องมีเงื่อนไขอื่น โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น และเงินรางวัลที่จะต้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวจากปัจจุบัน
“ในขณะที่เงื่อนไขสำคัญคือการมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันของนักปั่นไทย ก็จะลดลงตามระเบียบการแข่งขันของยูซีไอ ซึ่งเมื่อคำนวณผลได้ผลเสียแล้ว ต้องยอมรับว่ากีฬาจักรยานของไทยเราในปัจจุบัน มีความต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของนักปั่นไทย และพัฒนาระบบทีมอาชีพให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นการจะยกระดับการแข่งขันจักรยานทางไกลทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ ทั้งประเภททีมชายและทีมหญิงให้สูงขึ้นไปนั้น ยังไม่ถึงเวลาที่จะตอบโจทย์ในประเด็นหลักดังกล่าว แต่ในอนาคตหากเราบรรลุเป้าหมายมาตรฐานนักกีฬาและทีมอาชีพแล้ว ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์จะต้องยกระดับขึ้นไปแน่นอน” พลเอกเดชา กล่าวในตอนท้าย.