หน้าแรกแกลเลอรี่

งานวิจัย “กีฬาหมากล้อม” สู่กระดานชีวิต และการบริหารงาน ให้ประสบความสำเร็จ

ไทยรัฐออนไลน์

3 ส.ค. 2567 20:37 น.

ถอดบทเรียนและแนวคิดจากผลวิจัยกีฬาหมากล้อม (โกะ) กับการพัฒนาการด้านภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ กรณีศึกษา “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์บนเวทีเสวนา “หมากล้อม สู่หมากบริหารชีวิตจริง” จาก 3 กูรู 3 วงการ ส่งต่อสู่เจนเนอเรชั่นใหม่  

หมากล้อม คือ กีฬาหมากกระดานประเภทหนึ่งที่คิดค้นขึ้นที่ประเทศจีนกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ในประเทศจีนเรียกว่า “เหวยฉี” (围棋) ซึ่ง “เหวย” (围) หมายถึง ล้อมหรือปิดกั้น ส่วน “ฉี” (棋) หมายถึง เกมหมากกระดาน เมื่อหมากล้อมแพร่หลายไปยังประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า อิโกะ (Igo) และเนื่องจากได้รับความนิยมและเจริญรุ่งเรืองมากในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นในปัจจุบันคนทั่วไปจึงนิยมเรียกหมากล้อมตามภาษาญี่ปุ่นว่า “โกะ” (Go) ปัจจุบัน “โกะ” มีการเล่นกันอย่างแพร่หลาย กว่า 50 ประเทศ ทั้งทวีปออสเตรเลียอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย เกือบทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

กีฬาหมากล้อมเริ่มเข้ามาในประเทศไทยและมีการก่อตั้งชมรมหมากล้อม (โกะ) แห่งประเทศไทย ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2536 โดยคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลากว่า 30 ปี ที่กีฬาหมากล้อมได้แพร่หลายและเป็นที่รู้จัก ปัจจุบันมีผู้เล่นกีฬาหมากล้อมกว่า 2 ล้านคน

ในฐานะอดีตนายกสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย “คุณก่อศักดิ์” ยังคงเดินหน้าผลักดันและส่งเสริมให้กีฬาหมากล้อมเข้าถึงเยาวชนไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึง อาชีวะศึกษา ระดับอุดมศึกษา รวมถึงส่งเสริมให้กีฬาหมากล้อมเป็นกีฬาที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยเล่นได้ ทำให้กีฬาหมากล้อมแพร่หลายในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสมาพันธ์หมากล้อมนานาชาติ อีกด้วย

กว่า 30 ปีบนเส้นทางหมากล้อม (โกะ) ของ “คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ถือเป็นบุคคลต้นแบบผู้บุกเบิก ผู้สร้าง “หมากล้อม” (โกะ) ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำเร็จทางธุรกิจจากการขับเคลื่อนบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ส่วนหนึ่งมาจากศาสตร์การบริหารที่ได้แนวคิดมาจาก “หมากล้อม” นั่นเอง
การเล่นหมากล้อมเป็นประจำจะช่วยฝึกทักษะการวางแผน การตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ของตนเอง การวางกลยุทธ์ที่ดี กรณีที่ทั้งสองฝ่ายมีฝีมือที่ทัดเทียมกัน คนแพ้คือคนที่ทำพลาดมากกว่า ดังนั้นการแพ้ก็ให้ประโยชน์ในการเตือนสติให้สำรวจตนเองว่าได้ทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง จุดบกพร่องอยู่ที่ใดเพื่อเป็นบทเรียนในการเล่นครั้งต่อ ๆ ไป นอกจากนั้นในการเล่นหมากล้อมแต่ละเกมต้องใช้ความอดทนเพราะใช้เวลาในการเล่น ในการคิดก่อนที่จะวางเม็ดหมากแต่ละตัวลงบนจุดตัด

การวิจัยหมากล้อม (โกะ) กับการพัฒนาการด้านภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ กรณีศึกษาก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงเกิดขึ้น เพื่อนำเสนอแนวคิดและผลสำเร็จที่ได้จากหมากล้อม (โกะ) ศาสตร์แห่งการบริหาร และเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งหมากล้อมสามารถช่วยเสริมสร้างความสามารถด้านการคิดเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ในขณะเดียวกันยังพัฒนาทักษะทางสังคมและการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น รวมถึงการพัฒนาภาวะผู้นำ การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์และการบริหาร ที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำทีมและองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

อาจารย์ทิพวรรณ อภิวันท์วรัตน์ ที่ปรึกษาคณบดีคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวถึงงานวิจัยหมากล้อม(โกะ) กับการพัฒนาการด้านภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ กรณีศึกษาก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ว่า การจัดทำวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาถึงอิทธิพลของหมากล้อมต่อการพัฒนาภาวะผู้นำ 2. ศึกษาอิทธิพลของหมากล้อมต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์3. ศึกษาประโยชน์ของหมากล้อมต่อการบริหาร


สาระสำคัญของงานวิจัยในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย


1. หมากล้อมกับภาวะผู้นำ : งานวิจัยพบว่าหมากล้อมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาภาวะผู้นำ ผู้เล่นหมากล้อมต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผนล่วงหน้า และการตัดสินใจภายใต้ความกดดัน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับผู้นำในทุกองค์กร
2. หมากล้อมกับความฉลาดทางอารมณ์ :งานวิจัยพบว่า หมากล้อมยังช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) โดยผู้เล่นต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ มีความอดทน และเข้าใจความคิดของคู่ต่อสู้ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมและที่ทำงาน โดยกรณีศึกษาของคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ได้นำหลักการจากการเล่นหมากล้อมมาใช้ในการบริหารองค์กร ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาทั้งภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ของทีมงาน
3. ภาวะผู้นำเชิงบริหารภายใต้แนวคิด 4Q : พบว่า หมากล้อมมีอิทธิพลต่อ 4Q ได้แก่ IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางปัญญาเป็นพื้นฐานในการวางกลยุทธ์และตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ การเล่นหมากล้อมช่วยพัฒนาทักษะนี้โดยการฝึกให้คิดเชิงวิเคราะห์และคาดการณ์ล่วงหน้า, EQ (Emotional Quotient) หมากล้อมส่งเสริมการควบคุมอารมณ์และความเข้าใจผู้อื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาวะผู้นำที่ดี  ซึ่งการเล่นหมากล้อมเป็นวิธีการที่ดีในการฝึก EQ, MQ (Moral Quotient) ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรมเป็นสิ่งที่หมากล้อมเน้นผ่านความเคารพต่อคู่ต่อสู้และการเล่นที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำที่มีคุณธรรม และ AQ (Adversity Quotient)  ความสามารถในการรับมือกับความยากลำบากและอุปสรรค หมากล้อมช่วยเสริมสร้าง AQ โดยการฝึกให้ผู้เล่นรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้หมากล้อมยังสร้างสมดุล 3 ส่วนได้แก่ ชีวิตสมดุล : หมากล้อมสอนให้ผู้เล่นมองภาพรวมและจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน คนสมดุล : หมากล้อมช่วยในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเข้าใจและเคารพในมุมมองที่แตกต่าง การเล่นหมากล้อมช่วยสร้างสมดุลในทีมงานและความสัมพันธ์ในสังคม และ งานสมดุล : การวางแผนและจัดการในหมากล้อมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและสมดุล

ปัจจุบัน หมากล้อมได้รับการยอมรับในระดับสากล ถือเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจและศึกษาอย่างลึกซึ้ง โดยมีผลการศึกษาจากทั่วโลกที่พบว่าหมากล้อมไม่ได้เป็นเพียงเกมที่ได้รับความนิยมในเอเชียเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา และถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจในระดับสากล หมากล้อมยังได้รับการนำไปใช้ในโรงเรียนและองค์กรในหลายประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะการคิด การบริหารเวลา และการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย

ด้านนายฤทธิ์ เบญจฤทธิ์ นักหมากล้อมระดับฝีมือ6 ดั้ง ได้เล่าถึงเส้นทางของนักเล่นหมากล้อมระดับฝีมือ 6 สู่การเป็นนักบริหารเงินทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโต) ให้ฟังว่า การคลุกคลีกับหมากล้อมมากว่า 23 ปี วันนี้หมากล้อมสอนให้เห็นถึงการนำทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ ความสามารถในการวิเคราะห์ และความมุ่งมั่นที่ได้จากการเล่นหมากล้อม มาประยุกต์ใช้ในตลาดคริปโต ซึ่งเป็นตลาดที่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง หากมองถึงจุดเหมือนระหว่างการเล่นคริปโตและหมากล้อม คือ การวิเคราะห์และการตัดสินใจ: ทั้งการเล่นหมากล้อมและการเทรดคริปโตต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลและการตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำ ผู้เล่นหมากล้อมต้องคาดการณ์การเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้ เช่นเดียวกับนักเทรดคริปโตที่ต้องคาดการณ์ทิศทางของตลาดและการวางกลยุทธ์ : หมากล้อมและคริปโตต่างต้องการการวางแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินการ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ส่วนจุดต่างระหว่างการเล่นคริปโตและหมากล้อม คือ ธรรมชาติของเกมกับตลาด : หมากล้อมเป็นเกมที่มีขอบเขตและกติกาที่ชัดเจน ในขณะที่ตลาดคริปโตเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูง มีปัจจัยที่หลากหลายที่สามารถส่งผลต่อราคาและสภาพตลาด ซึ่งทำให้การเทรดคริปโตต้องการความสามารถในการปรับตัวและการรับมือกับความเสี่ยงที่มากกว่า และผลลัพธ์ : การเล่นหมากล้อมมีผู้ชนะและผู้แพ้ชัดเจน แต่ในการเทรดคริปโต การชนะหรือแพ้สามารถเกิดขึ้นในรูปแบบที่หลากหลายและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“การเล่นหมากล้อมไม่ใช่เพียงแค่การฝึกทักษะเชิงกลยุทธ์ แต่ยังเป็นการฝึกจิตใจ ความอดทน และการควบคุมอารมณ์ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตและการทำงานในตลาดคริปโต การเล่นหมากล้อมทำให้รับมือกับความกดดัน และมองหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้หมากล้อมยังช่วยสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน โดยการจัดสรรเวลาและพลังงานอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองในทุกด้านอย่างต่อเนื่องด้วย” 

ขณะที่ครูคีธ-นภัทร์ อิชยาวณิชย์  ผู้อำนวยการสถาบันหมากล้อมเด็กและเยาวชน ไอคิวอัพ (IQ-UP Children Go Academy) กล่าวว่า หมากล้อมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาภาวะผู้นำในเยาวชน โดยการเล่นหมากล้อมช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะการวิเคราะห์และการวางกลยุทธ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ นอกจากนี้ หมากล้อมยังช่วยให้เยาวชนฝึกฝนความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีสติ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ

หมากล้อมยังช่วยในด้านการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้กับเยาวชน ซึ่งการเล่นหมากล้อมช่วยพัฒนา EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) ในเยาวชน โดยการเล่นหมากล้อมจะช่วยให้ผู้เล่นต้องควบคุมอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับความตื่นเต้นหรือความผิดหวังในเกม ซึ่งเป็นการฝึกฝนการมีสติและการควบคุมตนเองในชีวิตจริงรวมทั้งยังสอนให้เยาวชนเรียนรู้ที่จะเข้าใจและเคารพมุมมองของผู้อื่น ผ่านการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของคู่ต่อสู้และการคาดการณ์การตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งช่วยให้เยาวชนมีความเข้าใจในความหลากหลายและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นด้วย