ฟ้าคำราม
“วิทยาศาสตร์การกีฬา” กับ “นักกีฬาคนพิการ” ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม-8 กันยายนนี้ มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดของนักกีฬาคนพิการ “พาราลิมปิกเกมส์ 2024” ก็จะเปิดฉากขึ้น
โค้งสุดท้ายก่อนสู้ศึกใหญ่ เพื่อให้นักกีฬาไทยมีความพร้อมสมบูรณ์มากที่สุด นายไมตรี คงเรือง นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ จึงได้เชิญ ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี” และทีมงาน ไปให้ความรู้ อบรม ฝึกสอนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาให้กับนักกีฬาอย่างเข้มข้นเป็นรายบุคคล
ในชื่อโครงการ “แกะเส้นทางสู่ความสำเร็จพาราลิมปิก ปารีส 2024”
ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ระบุว่า วิทยาศาสตร์การกีฬามีความสำคัญกับนักกีฬาคนพิการไม่แพ้นักกีฬาปกติ แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกาย
สุขภาพ รวมถึงองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ปัญหาการย้อนแย้งของกติกาการแข่งขัน เช่นเราอยากจะฝึกสอนนักกีฬาให้แข็งแรงมากกว่าเดิม แต่บางครั้งทำไม่ได้ เพราะจะทำให้นักกีฬาไม่สามารถลงเล่นในคลาสเดิมได้
ดังนั้น การนำเอา “วิทยาศาสตร์การกีฬา” มาฝึกสอนนักกีฬาจะต้องมีความละเอียดและซับซ้อนกว่าคนปกติ ที่สำคัญทีมวิทยาศาสตร์การกีฬาจะต้องมีความรู้ สามารถปรับและประยุกต์ใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของนักกีฬาแต่ละคนได้อีกด้วย
ศ.ดร.เจริญกล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ปัญหาใหญ่ของทีมนักกีฬาคนพิการคือ ผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬาส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของระบบพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทักษะการเคลื่อนไหวในประเภทกีฬาที่ตนเองรับผิดชอบหรือแข่งขัน
จึงไม่สามารถออกแบบหรือกำหนดรูปแบบการฝึกซ้อมให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในการเคลื่อนไหว หรือใช้ในการแข่งขันได้ เป็นเหตุให้จังหวะการเคลื่อนไหวช้าลงหรือหมดแรง
นอกจากนี้นักกีฬายังมีปัญหาเรื่องความคิด ทำให้เกิดความเครียด ยิ่งเมื่อใกล้ถึงวันแข่งขันจะยิ่งมีความเครียดสูง
“พวกเรามาช่วยกระตุ้นความคิดและพัฒนาวิธีคิดในการรับมือกับความเครียด ความกดดัน ด้วยการคิดบวก (Positive Thinking) ไว้ตลอด ซึ่งนักกีฬาที่ฝึกฝนทักษะความคิดทุกวัน จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว ก่อนการแข่งขัน ถ้าพวกเขารู้จักปรับเปลี่ยนวิธีคิดและควบคุมความคิดที่ดีไว้ได้ (Positive thinking) ก็จะสามารถควบคุมทักษะและใช้ทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาแข่งขัน”
“โครงการที่ท่านนายกสมาคมกีฬาคนพิการฯ ทำคือ โครงการที่ปลุกความคิดความรู้สึกเขาให้มองเห็นศักยภาพและคุณค่าของตัวเองที่ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันพาราลิมปิก เพราะส่วนใหญ่นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนจะรู้จักคู่แข่งขัน แต่ลืมมองตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง เราพยายามจะให้กลับมามองตัวเอง เพื่อพัฒนาต่อยอดความสามารถนำมาใช้ในช่วงเวลาสำคัญ” ศ.ดร.เจริญกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้นักกีฬาไทยจะมีขีดความสามารถไม่แพ้นักกีฬาระดับโลก แต่ในบางประเภทกีฬา เช่น กีฬาที่ใช้วีลแชร์ นักกีฬาไทยจะเสียเปรียบนักกีฬาแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ใช้วีลแชร์ที่ทำจากไฟเบอร์ ซึ่งมีน้ำหนักเบามาก
ขณะที่นักกีฬาไทยยังใช้วีลแชร์ที่เป็นโลหะ ทางทีมวิทยาศาสตร์การกีฬาก็จะเข้ามาช่วยวางแผน การฝึกซ้อมเพิ่มความแข็งแกร่งให้นักกีฬาเพื่อ ลดทอนความเสียเปรียบตรงนี้ให้มากที่สุด
*****
เพจ SCG Sports นำบทความนี้มาลงไว้ เห็นว่าน่าสนใจเลยขอนำมาแชร์ต่อให้ได้ทราบกันอีกทาง
ในเรื่องนี้ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้กับนักกีฬาพาราของไทยอย่างจริงจัง เพื่อเราจะได้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน นอกจาก ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ จะเพิ่มเติมในด้านจิตวิทยาให้นักกีฬาคิดบวกกันแล้ว
ยังช่วยสะท้อนปัญหาที่ทำให้เราเสียเปรียบชาติคู่แข่งออกมาอีกด้วย
ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปขบคิด แก้ปัญหา กันต่อไป...
ฟ้าคำราม
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่