ฟ้าคำราม
การตั้งเป้าหมาย (Setting a Goal) เพื่อคว้าแชมป์รายการที่สำคัญรายการใดรายการหนึ่ง
ในขณะที่ความมีวินัย ความมุ่งมั่น ทุ่มเทที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สำคัญและจำเป็นทั้งหมด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ถูกละเลยหรือมองข้ามไป การบรรลุเป้าหมาย หรือผลสำเร็จคงเกิดขึ้นได้ยากกับนักกีฬาผู้นั้น ถึงแม้จะมีทักษะความสามารถดีเพียงใดก็ตาม
ในเมื่อไม่มีวิสัยทัศน์ หรือความคิดเห็นที่มีเหตุผลชัดเจนว่า เพราะเหตุใดการตั้งเป้าหมายจึงคุ้มค่า ต่อการที่จะพยายามไปให้ถึง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความ เข้าใจในความหมายที่ชัดเจนแก่ผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬาในการตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง จึงควรเรียนรู้ทำความเข้าใจ ในความสำคัญ ดังต่อไปนี้
เป้าหมาย (Goal) คือ การระบุจุดหมายปลายทางของผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬา ในขณะที่ วิสัยทัศน์ (Vision) คือ ความคิดเห็นที่เป็นความ สามารถในการมองการณ์ไกลของผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬาที่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ในการเดินทางเพื่อไปให้ ถึงยังที่หมาย หรือจุดหมายปลายทาง (Destination)
การวาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนให้กับจุดประสงค์ (Purpose) ในการเดินทางและตอบคำถามที่ว่า “...เราทำไมถึงต้องไปให้ถึงที่นั่น...” เท่ากับเป็นการ แสดงเจตนา หรือความมุ่งมั่นในความต้องการที่จะไปสู่เป้าหมายของผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬาที่ชัดเจน...มิใช่การกำหนดเป้าหมายเช่นที่บรรดา
ผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬามักจะชอบพูดกันว่า “...จะพยายามทำให้ดีที่สุด...” ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เลื่อนลอย ไม่มีความเฉพาะเจาะจงและความท้าทาย
ดังนั้น นักกีฬาที่มีเป้าหมายเจาะจงและท้าทาย จะมีผลงานและกระตุ้นความสามารถดีกว่านักกีฬาที่มีเป้าหมายง่ายๆ
ด้วยเหตุนี้ การตั้งเป้าหมายให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของตนเอง และพยายามทำให้ดีที่สุด ย่อมดีกว่านักกีฬาที่ไม่มีเป้าหมายชัดเจน นักกีฬาที่เรียนรู้วิธีการตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของตนเอง จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) และปรับปรุงความสามารถของตนเองให้ดีขึ้น
จากการวิจัยพบว่า การเรียนรู้วิธีการใช้เทคนิค ในการตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมกับระดับความสามารถตนเอง สามารถช่วยกระตุ้นให้นักกีฬาประสบความสำเร็จได้ถึง 70-90% ในแต่ละสถานการณ์ของเกม การแข่งขันที่เกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับความสามารถของนักกีฬา จะช่วยเพิ่มระดับความสามารถสูงสุดให้กับนักกีฬาได้เพียง 5% เท่านั้น และยังขึ้นอยู่กับว่านักกีฬาจะพยายามทำหรือไม่ทำเท่านั้น (Weinberg, 1992)
ดังนั้น การตั้งเป้าหมายว่า “...จะทำให้ดีที่สุด จึงไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นความไม่มั่นใจของนักกีฬาที่ขาดความมุ่งมั่นพยายาม...”
“...จะพยายามทำให้ดีที่สุด จึงไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นความล้มเหลวของผู้ฝึกสอนกีฬาที่ขาดกระบวนการในการออกแบบและวางแผนการฝึกซ้อม และขาดการประเมินความสามารถนักกีฬา...”
“...อย่าให้ความคิดและการกระทำที่ไม่พึงปรารถนาพาเราหลุดออกจาก...เป้าหมาย”
ศ.เจริญ กระบวนรัตน์
********
ศ.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยา ศาสตร์การกีฬา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Charoen Krabuanrat เอาไว้ ซึ่งน่าสนใจทีเดียวกับเป้าหมายของนักกีฬาในเกมต่างๆ หลายต่อหลายคน หลีกเลี่ยงความกดดัน จึงตอบว่าจะทำให้ดีที่สุด
อย่างที่ ศ.เจริญบอกไว้ ใครก็ทำได้ และดูจะ เลื่อนลอยไปหน่อย จะเป็นการดีกว่า ถ้าเรากำหนดเป้าหมายไปเลย อย่างน้อยมีเป้าขั้นต่ำ ก็น่าจะเป็น แรงจูงใจ ที่ดีกว่าเดิม
ดูจะคุ้มค่ากับที่ต้องอดทนฝึกซ้อมกันมา...
ฟ้าคำราม
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่