เบี้ยหงาย
จู่ๆก็มีการหยิบยกเรื่องของเงินเดือนทีมชาติขึ้นมาพูดกัน แบบถูกๆผิดๆ ไม่ว่าจะเข้าใจผิด พูดผิด หรืออะไรก็ตาม แต่ที่แน่ๆย่อมมีความในใจ บ้างก็ “ติดใจ” กับเรื่องของ “รายได้” ในการเป็นนักกีฬาทีมชาติของนักกีฬาบางคน
ก่อนที่ผู้ว่าการ กกท. ดร.ก้องศักด ยอดมณี จะออกมาแจงรายละเอียดในการสนับสนุนนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งก็ย้ำชัดว่าทีมชาติไม่มีเงินเดือน ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ส่วนการอุดหนุนให้นั้นเป็นรูปแบบของเบี้ยเลี้ยง อาหาร และที่พัก รวมสามส่วนนี้ 900 บาทต่อคนต่อวัน
ส่วนเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็เป็นเรื่องของสมาคม ที่จะบริหารจัดการจากสปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุน และซึ่งก็ไม่ใช่ทุกสมาคมจะมี ด้วยความเป็นจริงกีฬาที่หลากหลายก็มีความนิยม และรวมถึงศักยภาพของผู้บริหารสมาคมที่จะดึงเม็ดเงินมาลงได้มากน้อยแค่ไหนด้วย
ไหนๆก็ว่าด้วยเรื่อง “เงิน” กับความเป็น “ทีมชาติ” แล้ว ยังมีส่วนของเงินรางวัลพิเศษที่ชอบเรียกกันว่า “อัดฉีด” ซึ่งรัฐก็จัดให้ตามความสำคัญของเกม และเงื่อนไขประกอบ อาทิ จำนวนประเทศที่แข่งด้วย
ซึ่งทั้งเบี้ยเลี้ยงและเงินรางวัลในอดีตก็มีประเด็น ปัญหา มาต่อเนื่อง ก่อนจะปรับมาเป็นระยะๆจนถึงปัจจุบัน และว่าไปแล้วดีกว่าอดีตมากมาย รู้จักอดีตทีมชาติยุคก่อนๆคนไหนลองไปถามดูได้
ความคิดในลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด เพิ่งมี ในแต่ละช่วงเวลามักมีนักกีฬาบางคนรู้สึก ส่วนจะรู้สึกด้วยเหตุผลใดบ้างนั้น ก็ลองประเมินกันดูเอง
แน่นอนหากเป็นนักกีฬาอาชีพ ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “อาชีพ” ย่อมต้องมีเงินรายได้ประจำ หรือได้อยู่สม่ำเสมอ มีสโมสรสังกัด หรือล่าเงินรางวัลเป็นปกติ ก็อาจจะเกิดการเปรียบเทียบ
แม้นักกีฬาทีมชาติ โดยปกติมักเป็นนักกีฬาสมัครเล่น เป็นการอาสา เสนอตัว ด้วยความเสียสละ ยอมรับในเงื่อนไขเข้ามา ซึ่งเมื่อก่อนนั้นมีแต่นักกีฬาสมัครเล่น พอโลกกีฬาเปิดกว้างตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทั้งองค์กรควบคุม สหพันธ์กีฬาต้นสังกัด หลายแห่งเปิดกว้างให้นักกีฬาอาชีพร่วมแข่งขันได้ในบางกีฬา
ก็ย่อมมีการเปรียบเทียบในเชิงค่าแรง ค่าเหนื่อย ความคุ้มค่า จนบางคนอาจลืมเลือนต่อจุดสำคัญยิ่งในการเป็นตัวแทน “ชาติ” เป็นสื่อของคนในชาติที่ประกาศให้โลกรู้ถึงการดำรงอยู่ ได้แสดงศักยภาพในนาม “ชาติ” และ “ประชาชน” เป็นจุดร่วม เป็นศูนย์รวมใจของผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน
ไม่ผิดที่จะคิด ไม่ผิดที่จะรู้สึก แต่จงมี “สำนึก”
หากเข้ามาเป็นทีมชาติแล้วรู้สึกสูญเสียรายได้ อย่าเข้ามา!
ยิ่งหากมีความจำเป็น ใช้เวลาที่เสียไปกับการเข้ามาฝึกซ้อม ลงแข่งขันเป็นทีมชาติ ไปหารายได้อย่างอื่นได้มากกว่า ตามภาระ ความจำเป็นของชีวิต ซึ่งแต่ละคนมีภาระไม่เหมือนกัน
ก็ปฏิเสธถอนตัวไปได้ สังคมเข้าใจ คงไม่มีใครว่า เพียงแต่อย่าด้อยค่าความเป็น “ทีมชาติ” ด้วยตัวเงิน
เช่นกัน สมาคมต้นสังกัด ไม่ว่าจะเป็นกีฬาใด หากมีนักกีฬาที่จำเป็นต่อการมี “รายได้” มากกว่าการติดธงไตรรงค์ที่หน้าอก แล้วลงไปเล่นเป็นตัวทีม “ทีมชาติ” ไม่ว่าจะเก่งแสนเก่งขนาดไหน
ก็โปรดอย่าเรียกมาเป็น “ทีมชาติ” ด้วยความพร้อมต้องทั้งกายและใจ
แยกกันให้ออก...
“เบี้ยหงาย”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เรียงหน้าชน” เพิ่มเติม