หน้าแรกแกลเลอรี่

มาตรฐาน คุณภาพสูง ศูนย์ตรวจโด๊ปมหิดลโฉมใหม่

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

10 ธ.ค. 2566 05:18 น.

ศูนย์ตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าสู่ยุคใหม่เต็มตัว หลังจากผ่านการรับรองจากองค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency) หรือวาดา อีกครั้ง ตั้งแต่ต้นปี 2563 และล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2566 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการมาบริหารงานชุดใหม่เป็นที่เรียบร้อย

ย้อนกลับไปปลายปี 2562 ศูนย์แห่งนี้ต้องหยุดดำเนินการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานวาดาเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะกลับมาเปิดได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามช่วงนั้นสถานการณ์โควิด-19 ยังมีระบาดไปทั่วโลก เกมการแข่งขันในระดับนานาชาติต้องหยุดชะงัก ทำให้ศูนย์แห่งนี้ไม่มีการดำเนินการใดๆ ไม่มีการตรวจตัวอย่างสารต้องห้าม

จนในที่สุดกลับมาเริ่มกิจกรรมต่างๆอย่างจริงจังอีกครั้ง เมื่อปี 2564 ได้ทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานของชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาระดับโลกต่อเนื่องต่อไป รวมๆจนถึงตอนนี้ก็นานกว่า 20 ปีเข้าให้แล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์แห่งนี้ไม่เพียงเป็นศูนย์ตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬามหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีการยกระดับขึ้นไปอีกขั้นเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา ฐานะเทียบเท่า คณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล

มีพันธกิจที่ครอบคลุมทั้งในด้านการบริหารวิชาการ การวิจัย และการจัดการเรียนการสอน โดยมี ศูนย์ตรวจโด๊ปเป็นส่วนงานหลักของสถาบัน มีการรับนักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และการตรวจในการกีฬา รุ่นแรก เมื่อปี 2565

ขณะที่คณะกรรมการอำนวยการบริหารงานศูนย์ตรวจโด๊ปชุดใหม่ มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ปรึกษา, ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นประธาน, ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา เป็นรองประธาน

ส่วนกรรมการมีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือผู้แทน, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, รศ.นพ.บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์, ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร, นายยุทธนา ภาณุมาภรณ์ มีหัวหน้าศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาเป็นกรรมการและเลขานุการ, รองหัวหน้าศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และหัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในนักกีฬา เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธาน กล่าวว่า หลังจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้แต่งตั้งตนเป็นประธาน ได้แจ้งไปยังวาดาให้รับทราบเรียบร้อยว่า ไทยเรามีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ โดยคณะทำงานชุดนี้มีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญรวมถึงมีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีกีฬา เข้ามาร่วมงาน

“ศูนย์ตรวจสารต้องห้ามแห่งนี้จะรักษามาตรฐานการตรวจโด๊ปให้ทั่วโลกยอมรับต่อเนื่อง ให้สมกับเป็น 1 ใน 29 ศูนย์ของโลก 1 ใน 6 ของทวีปเอเชีย และเป็นหนึ่งเดียวในย่านอาเซียน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหน้าตา เป็นชื่อเสียงของประเทศและเป็นความน่าเชื่อถือในระดับโลก” ดร.สมศักดิ์กล่าว

รศ.นพ.สุพรชัย กองพัฒนากูล หัวหน้าศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา กรรมการและเลขานุการฯ กล่าวว่า ศูนย์ตรวจโด๊ปมีอยู่ไม่กี่แห่งในโลกนี้ ซึ่งการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่เพียงเป็นแค่ศูนย์ตรวจโด๊ปเท่านั้น แต่เรายังปรับรูปแบบให้เป็นสถาบัน มีการวิจัย มีการรับนักศึกษาระดับปริญญาโทเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม

การที่วาดารับรองศูนย์โด๊ปเพียงไม่กี่แห่งบนโลกนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเน้นหนักในเรื่องของมาตรฐานและคุณภาพ ซึ่งจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก อีกทั้งยังต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดังนั้น การมีนักศึกษาระดับปริญญาโท เป็นการเตรียมการรองรับไว้อย่างดี

“เราต้องอัปเดตการต่อต้านสารโด๊ปที่เกิดขึ้นใหม่ๆทุกวัน ปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆใกล้เคียงสารที่อยู่ในร่างกายมนุษย์มากขึ้น ชนิดของสารเข้มข้นต่ำลง หากตรวจไม่ดีก็แทบไม่เจอ อีกอย่างกีฬามีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีการนำสารโด๊ปเข้ามาแอบแฝงเพิ่มขึ้น เราจึงต้องทำงานหนักกว่าเดิม” รศ.นพ.สุพรชัยกล่าว

รศ.ดร.สิริพงษ์ ฐิตะมาดี ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในนักกีฬา รองประธาน กล่าวเสริมว่า จากจุดเริ่มต้นเมื่อครั้ง ไทยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2541 ทำให้เราจำเป็นต้องมีศูนย์ตรวจโด๊ปนักกีฬาควบคู่กันไป

ปัจจุบันศูนย์ตรวจโด๊ปมหิดลมีพันธกิจที่เพิ่มขึ้น ดำเนินการในรูปของสถาบัน ที่มีทั้งการศึกษาวิจัย แต่ก็ยังมีศูนย์ตรวจโด๊ปเป็นส่วนสำคัญแรกสุด การทำหน้าที่ของสถาบันถือว่าตอบโจทย์ในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ ปัจจุบันเปิดสอนในระดับปริญญาโท และในอนาคต จะเปิดสอนในระดับปริญญาเอก สร้างบุคลากรเพิ่มอีก ตรงนี้ถือเป็นจุดที่เราแตกต่างจากที่อื่น

“ต้องยอมรับว่ารูปแบบการใช้สารต้องห้ามตอนนี้มีการหลบเลี่ยงมากมาย รู้ทั้งรู้ก็ยอมเสี่ยงเพราะมีเงินรางวัลล่อใจอยู่ข้างหน้า การให้การศึกษาที่ถูกต้อง ก็เป็นสิ่งจำเป็น เรามีแผนที่นอกจากศึกษาวิจัยของสถาบัน ก็เตรียมที่จะปลูกฝังให้เยาวชนได้ตระหนักถึงผลเสียของการโด๊ป และสร้างความเข้าใจใหม่การร่วมมือที่จะให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจโด๊ปเป็นเรื่องปกติ” รศ.ดร.สิริพงษ์กล่าว

เรียกได้ว่าศูนย์ตรวจโด๊ป มหาวิทยาลัยมหิดล โฉมใหม่นี้น่าสนใจไม่น้อย มีการปรับรูปแบบให้ทันสมัย ทั้งในด้านเครื่องมือ อัปเดตข้อมูล และ เทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอ

รวมไปถึงบุคลากรที่ผ่านการเรียนรู้มาอย่างดี ถูกสร้างขึ้นมารองรับเป็นการเฉพาะ ซึ่งจุดแข็งเหล่านี้ ทำให้ไทยเราเป็นที่ยอมรับของวาดาอย่างที่เห็น

และนานาประเทศทั่วโลกก็ให้ความเชื่อมั่น

ไปพร้อมๆกัน...

กัญจน์ ศิริวุฒิ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่