หน้าแรกแกลเลอรี่

“เอซีซี” มอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดศึกใหญ่ “เสธ.หมึก” เร่งปรับปรุงเหมืองทองอัครา

ไทยรัฐออนไลน์

28 ต.ค. 2566 21:41 น.

“เอซีซี” มอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดศึกใหญ่ แข่งขันประเภทลู่ อีไซคลิง และอิลิมิเนเตอร์ “เสธ.หมึก” ประสานประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เร่งปรับปรุงเหมืองทองอัคราเป็นสนามชิงชัย

วันที่ 28 ต.ค. 66 คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (เอซีซี) มติเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 9 ชาติ ที่อยู่ในโครงการ เอซีซี อารีน่า จัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่, อีไซคลิง และเสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์ ในรูปแบบสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ ในปีหน้า “เสธ.หมึก” เผยได้ประสานกับ “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ” อดีต รมช.คมนาคม และอดีต รมช.คลัง เร่งปรับปรุงเหมืองทองอัคราให้เป็นสนามแข่งขันเสือภูเขาระดับนานาชาติ เพื่อรองรับการแข่งขันตามที่เอซีซีได้มอบหมาย พร้อมทั้งจะเสนอตัวแป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเสือภูเขาชิงแชมป์เอเชีย 2025 และระดับโลกต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ “เอซีซี” ชื่นชมสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ที่กำหนดวันจัดการแข่งขันบีเอ็มเอ็กซ์ชิงแชมป์เอเชีย 2024 ระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค. 67 ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้นักปั่นในทวีปเอเชียมีโอกาสเก็บคะแนนสะสมคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการตัดโควตาในวันที่ 2 มิ.ย. 67 พร้อมทั้งร่วมยินดีกับประเทศไทยที่คว้าโควตาจักรยานประเภทถนนใน “ปารีสเกมส์” ทั้งนักกีฬาชายและหญิง

“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายณัฐพงศ์ โลหิตนาวี ผู้แทนสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ที่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหาร Management Committee ของสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย (เอซีซี) ที่เมืองทริวันดัม ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในระหว่างการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์เอเชีย 2023 โดยมี มร.โอซามาห์ อัลซาฟาห์ ประธานเอซีซี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบซูม พร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับชาติสมาชิกที่สามารถคว้าโควตาจักรยานประเภทถนนในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 10 ชาติ ได้แก่ คาซัคสถาน (ชาย-หญิง), มองโกเลีย (ชาย), ญี่ปุ่น (ชาย-หญิง), อุซเบกิสถาน (ชาย-หญิง), จีน (ชาย-หญิง), เกาหลีใต้ (ชาย-หญิง), เวียดนาม (หญิง), มาเลเซีย (หญิง) และไทย (ชาย-หญิง)

พลเอกเดชา กล่าวว่า ในวาระการนำเสนอการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์เอเชียแต่ละประเภทในปี 2024 ประกอบด้วย ประเภทถนน ที่ประเทศคาซัคสถาน, ประเภทลู่ ที่ประเทศอินเดีย, ประเภทเสือภูเขา ที่ประเทศมาเลเซีย และประเภทบีเอ็มเอ็กซ์เรซซิ่ง ที่ประเทศไทย ต่างก็มีความคืบหน้าทั้งในเรื่องการบริหารจัดการและการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพบีเอ็มเอ็กซ์ ชิงแชมป์เอเชีย 2024 ของไทย ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2567 ได้รับเสียงชื่นชมจากกรรมการบริหารเอซีซีอย่างมากในประเด็นที่เลือกวันจัดการแข่งขันที่เหมาะสมเพื่อให้นักปั่นในทวีปเอเชียมีโอกาสเก็บคะแนนสะสมคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024 ก่อนที่จะถึงกำหนดวันตัดโควตา 2 มิถุนายน 2567 แม้ว่าไทยจะได้โควตาแน่นอนแล้วจากผลงานของ “เอ้” ส.ต.โกเมธ สุขประเสริฐ ในฐานะแชมป์เอเชีย 2023 ก็ตาม

“ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือการนำเสนอแนวทางการยกระดับความนิยมกีฬาจักรยานในภูมิภาคเอเชียที่เอซีซีจะเน้นดำเนินการเชิงรุกในโครงการ เอซีซี อารีน่า เป็นการรวมการแข่งขัน 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทลู่, เสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์ และอีไซคลิง จัดแข่งขันแบบซีรีส์ จำนวน 9 สนาม 9 ประเทศ ประกอบด้วย คาซัคสถาน, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในรูปแบบสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ เพื่อสร้างฐานความนิยมในกีฬาจักรยานสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเอซีซีมองว่าทั้ง 3 ประเภทสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่และช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ แต่มีจุดเด่นที่สามารถเสริมกิจกรรมหรือรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาสนใจในกีฬาจักรยาน โดยเฉพาะการแข่งขันเสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์ แม้จะเป็นอีเวนต์ใหม่ แต่ก็มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในอนาคต ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับนักปั่นไทยเราเช่นเดียวกัน เพราะไทยเรามีนักกีฬาที่มีศักยภาพสูงในประเภทอิลิมิเนเตอร์จำนวนไม่น้อย” พลเอกเดชา กล่าว

นอกจากนี้ พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้บรรลุในหลักการร่างคู่มือการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาจักรยานในประเภทต่างๆ เพื่อให้แต่ละชาติดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน โดยมอบหมายให้ เชค คาเหล็ด บิน ฮาหมัด, ดาโต๊ะ อมาจิต ซิงห์ กิล, มร.คารูนารัตเน นาวารัตเน และนายณัฐพงศ์ โลหิตนาวี ร่วมกันพิจารณาร่างให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุมกรรมการบริหารเอซีซีและยื่นเสนอการรับรองในการประชุมใหญ่สามัญ (เอซีซี คองเกรส) ครั้งต่อไปที่เมืองอัลมาตี้ ประเทศคาซัคสถาน ในเดือนมิถุนายน 2567 ต่อไป

พลเอกเดชา กล่าวเสริมว่า จากมติที่ประชุมของเอซีซี ที่มอบหมายให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 9 ชาติ ให้อยู่โครงการ เอซีซี อารีน่า ดำเนินการจัดการแข่งขันจักรยาน 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทลู่, เสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์ และอีไซคลิง ในรูปแบบสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ สมาคมกีฬาจักรยานฯ พร้อมที่จะสนองนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยในประเภทลู่นั้นเรามีนักกีฬาที่มีฝีมือทั้งระดับทีมชาติและสโมสรเป็นจำนวนมาก สนามแข่งขันที่เวลโลโดรมหัวหมากก็มีความพร้อม สำหรับจักรยานอีไซคลิง เราเคยจัดโครงการ “ปั่นในบ้านต้านโควิด” ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด จนประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลก และได้รับคำชื่นชมจาก มร.เดวิด ลาปาเตียนท์ ประธานสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) พร้อมมวลสมาชิกของยูซีไอเป็นอย่างมาก

“ส่วนการแข่งขันเสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์นั้น ผมได้ติดต่อ ท่านประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ว่าต้องเร่งดำเนินการโครงการปรับปรุงเหมืองทองอัครา ที่อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ให้เป็นสนามแข่งขันจักรยานเสือภูเขาครบวงจรทั้งครอสคันทรี ดาวน์ฮิลล์ และอิลิมิเนเตอร์ ที่สำคัญต้องให้ได้มาตรฐานระดับโลก เพื่อรองรับการแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไป คาดว่าจักรยานเสือภูเขาอิลิมิเนเตอร์จะได้รับการบรรจุเข้าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2028 ที่นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างแน่นอน” พลเอกเดชา กล่าว

นายกสองล้อไทย กล่าวต่อไปว่า สำหรับสนามแข่งขันเสือภูเขาที่เหมืองทองอัครา จะประเดิมใช้ในการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2567 ที่จังหวัดพิจิตร จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันสนามที่ 5 ระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 นอกจากนี้ในการประชุมใหญ่สามัญ เอซีซี คองเกรส ที่ประเทศคาซัคสถาน เดือนมิถุนายน 2567 สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์เอเชีย 2025 โดยใช้เหมืองทองอัคราเป็นสนามแข่งขัน จัดครบทุกประเภท ทั้งครอสคันทรี ดาวน์ฮิลล์ ครอสคันทรีทีมรีเลย์ และอิลิมิเนเตอร์ รวมถึงจะเสนอตัวจัดการแข่งขันระดับชิงแชมป์โลกในอนาคตอีกด้วย

พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า ด้านการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์เอเชีย 2023 ประเภทประชาชน ครั้งที่ 28 และประเภทเยาวชน ครั้งที่ 14 ที่ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม มีชิง 6 เหรียญทอง โดยในรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีหญิง ผลปรากฏว่า ยลธนันท์ สวมหัวใจนักสู้จากที่อยู่อันดับ 6 สามารถปั่นแซงนักกีฬาจากคาซัคสถานขึ้นมาและเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 5 ด้วยเวลา 1.12.35 ชั่วโมง โดยมี 2 นักปั่นจีนได้อันดับ 1-2 ส่วนอันดับ 3-4 เป็นนักกีฬาจากอินโดนีเซีย น่าเสียดายที่ยลธนันท์ไม่ได้เกาะอยู่ในกลุ่ม 4 คนแรก เพราะถ้าอยู่กลุ่มนำก็มีโอกาสแซงและคว้าเหรียญรางวัลได้ อย่างไรก็ตามนักปั่นไทยยังเหลือการแข่งขันอีกหลายคน ได้แก่ “โตมร” นายพูนศิริ ศิริมงคล และ อส.ทพ.พลฉัตร นาคทองคำ ในรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีชาย, ส.อ.กีรติ สุขประสาท รุ่นประชาชนชาย, ส.อ.หญิง ศุภักษร นันตะนะ รุ่นประชาชนหญิง และ นายกมลฐชา อินทร์ทอง รุ่นเยาวชนชาย ซึ่งสมาคมกีฬาจักรยานฯ จะรายงานผลการแข่งขันให้ทราบต่อไป.