บี บางปะกง
มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวเอเชีย หรือ หางโจวเกมส์ 2022 ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความชื่นมื่นของเจ้าภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่น่าสนใจในมหกรรมดังกล่าวต้องยอมรับว่าด้วยความเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการจึงออกมาได้อย่างน่าชื่นชมยิ่ง
หันมาที่ทัพนักกีฬาไทย หากพิจารณา หรือโยงไปในมิติที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วม ต้องยอมรับว่าครั้งนี้ทัพไทยได้สร้างปรากฏการณ์ให้มีการกล่าวขานกันอย่างหลากหลาย ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถมอง หรือแยกย่อยได้ในหลายประเด็น
หนึ่งในมิติที่อาจจะถือได้ว่าเป็นประเด็นร้อนแรง และดูเหมือนว่าจะเข้าข่ายของความเป็นที่สุดของที่สุดสำหรับทัพไทยในหางโจวเกมส์ครั้งนี้ ก็คงจะได้แก่เรื่องของจำนวน หรือปริมาณนักกีฬาที่ผลออกมาไม่สัมพันธ์กับเป้าหมายที่กำหนด
การส่งทัพนักกีฬาเข้าร่วมในปริมาณที่เหนือกว่าชาติใดๆ แม้กระทั่งเจ้าภาพ ภายใต้งบประมาณ หรือเม็ดที่เงินสูงถึง 1,000 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าเมื่อส่องไปดูผลลัพธ์ หรือความคาดหวังสำหรับเป้าหมายของการได้มาซึ่งเหรียญทองที่ตั้งไว้ 15 เหรียญ
ถ้ามองในมุมของการได้เสีย หรือในเชิงธุรกิจ ผลดังกล่าวถือว่าไม่คุ้มทุนหรือขาดทุนด้วยซ้ำไป
แต่ในทางกลับกันในมิติของการกีฬา การทุ่มเทงบประมาณเพื่อพัฒนาคน และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ อาจจะต่างกับการลงทุนทางด้านธุรกิจ
และหากมองในด้านบวก หรือมิติที่สอดคล้องกับการพัฒนา และยกระดับการกีฬาของชาติ การนำเอาปรัชญากีฬาที่ว่า “การเข้าร่วมย่อมสำคัญกว่าผลของการแข่งขัน” ก็อาจจะนำมาใช้ได้กับกรณีนี้เช่นกัน
พร้อมกันนั้นหากพิจารณาถึงผลงานในภาพรวม จะพบว่าผลที่ออกมาสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ และการบริหารจัดการของสมาคมกีฬาต่างๆได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะกระจกเงาที่ส่องให้เห็นว่าว่าสมาคมใดประสบความสำเร็จ สมาคมใดล้มเหลว
ที่น่าสนใจผลงานที่ปรากฏเมื่อเข้าไปดูในเป้าหมาย และความคาดหวังก่อนเกมการแข่งขันจะเริ่มขึ้น จะเห็นได้ว่ามีเพียง 7 สมาคมเท่านั้นที่ผลงานทะลุ และเกินเป้า
ขณะที่ 13 ชนิดกีฬาเสมอตัวเป็นไปตามที่กำหนด แต่อีก 23 ชนิดกลับถอยหลังต่ำกว่าเป้าจนน่าใจหาย
อย่างไรก็ตามการที่นักกีฬาไม่สามารถทำเหรียญทองได้ตามเป้าหมายเมื่อผนวกกับเสียงสะท้อนของสังคมที่เกี่ยวกับจำนวน หรือปริมาณที่มากเกินควรสำหรับเกมการแข่งขันในระดับนี้
ล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของการกีฬาแห่งประเทศไทยก็ออกโรงมายืนยันเพื่อที่จะแก้ไข และนำไปถอดบทเรียน ตลอดจนกำหนดกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันวันนี้ถึงแม้เกมการแข่งขันจะจบลงไปแล้วก็ตาม แต่ผู้เขียนในฐานะที่เกาะติดกับเกมดังกล่าวเห็นว่าปรากฏการณ์ของทัพไทยในหางโจวเกมส์ หากจะหยิบยกมาสะท้อนให้เห็นในมิติของความเป็นที่สุดก็น่าจะแยกได้สองประเด็น ทั้งในด้านของความภูมิใจ และด้านของความผิดหวัง
ในด้านที่สุดซึ่งเกี่ยวข้องกับความภาคภูมิใจที่มีต่อนักกีฬาอันดับแรก คงจะได้แก่ความมุ่งมั่นที่จะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ
แต่ในขณะเดียวกันถ้าขยับไปที่ชนิดกีฬาที่สร้างความดีใจให้กับคนไทยภายใต้ความตื่นเต้น และเร้าใจสุดๆ คงจะตกไปที่กีฬาเทควันโด ในวันที่ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แย่งเหรียญทองกับจอมเตะสาวเจ้าภาพ
สำหรับในมิติของความน่าเสียใจ หรือน่าผิดหวัง เบื้องต้นถ้าจะเจาะไปที่กรีฑา โดยเฉพาะการถอนตัวของสองลมกรดภายใต้แผนลับลวงพราง จนนายกสมาคมต้องประกาศลาออกในภายหลัง ทั้ง “เทพบิว” ภูริพล บุญสอน และ สรอรรถ ดาบบัง
และอีกหนึ่งความผิดหวัง หรือความน่าเสียดายที่ตามมา เชื่อว่าคอกีฬาคงจะเห็นเหมือนกัน คือการที่นักตบสาวไทยพลาดท่าเจ้าภาพในรอบตัดเชือก และไม่สามารถก้าวไปสู่การแย่งเหรียญทองได้ดังที่ปรารถนา
จากนี้ไปเชื่อว่าเพื่อให้ทัพนักกีฬาไทยที่จะเข้าร่วมในมหกรรมกีฬาต่างๆ มีความพร้อมภายใต้ศักยภาพ และคุณภาพให้มากที่สุด
การถอดบทเรียนเพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ซึ่งจะนำไปสู่ทิศทางอนาคตที่ดีกว่า
จึงเป็นหนึ่งในมิติที่การกีฬาแห่งประเทศไทย และทุกภาคส่วนต้องตระหนักและจริงจัง
รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ขอบคุณทุกความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทย ในเอเชียนเกมส์หนนี้
แม้ในภาพรวมแล้วเราจะไปไม่ถึงเป้าที่วางเอาไว้
แต่หลายชนิดกีฬาก็สร้างความสุขสมหวังให้คนไทยได้จดจำ
ส่วนบางสมาคมกีฬาฯ ที่ผิดหวังในผลงาน
ก็น่าจะได้เรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น...บนเวทีใหญ่ระดับทวีป
เพื่อจะกลับไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในทัวร์นาเมนต์ต่อๆ ไป
โดยนับแต่นี้ ท่องไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า
งบเตรียมนักกีฬาของภาครัฐทุกบาท ทุกสตางค์ ที่มาจาก “ภาษีประชาชน”
มันหมดยุคแล้วกับการส่งมาแข่งเพื่อหาประสบการณ์
ประเภทเน้นเข้าร่วม แต่ไม่เน้นเข้ารอบ!!!
-บี บางปะกง-
joggingboy_be@yahoo.com