เบี้ยหงาย
วงการกีฬาเอเชียมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่เมืองไทย ในการประชุมสมัชชาใหญ่ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือโอซีเอ ครั้งที่ 42 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันเสาร์ อันมีวาระของการเลือกตั้งประธานโอซีเอคนใหม่แทน ชีค อาหมัด อัล ฟาฮัด อัล ซาบาห์ อดีตประธานชาวคูเวต ซึ่งรั้งตำแหน่งตั้งแต่ปี 1991 ก่อนที่จะมีปัญหาและลาออกไปเมื่อปี 2021
และได้แต่งตั้งเลขาธิการ ราชา แรนเดียร์ ซิงห์ ชาวอินเดีย ขึ้นมารักษาการประธาน จนมีการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น
ก่อนเลือกตั้งนั้นทางไอโอซี หรือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ก็ได้เตือนห้ามไม่ให้ชีค อาหมัด อัล ฟาฮัด อัล ซาบาห์ เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยมีน้องชาย ชีค ทาลาล ฟาฮัด อัล อาหมัด อัล ซาบาห์ เป็นแคนดิเดตแข่งกับ ฮุสเซน อัล มุสซาลาม ผู้อำนวยการทั่วไปของโอซีเอ และประธานสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ หรือฟีน่า ซึ่งชีคอาหมัดฯ ผู้พี่ ก็เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ 6 ก.ค.
ในที่สุดผลการเลือกตั้งที่มี 44 ชาติสมาชิกออกเสียง ชีค ทาลาลฯชนะไปด้วยเสียง 24-20ได้เป็นประธานโอซีเอคนใหม่ และเป็นการสืบทอดจากพ่อและพี่ชาย
ส่วนโอลิมปิกไทยเลือกใคร หากเป็นอดีตช่วงที่ “บิ๊กจา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ ยังเป็นพี่ใหญ่ สุขภาพแข็งแรงดี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะสนับสนุนใคร แต่เวลานี้ไม่ใช่ แถมมีการแสดงท่าทีที่เอนเอียงไปอีกฝั่งอย่างชัดเจน ก่อนเลือกตั้งมีการปฏิเสธการขอพบทั้งๆที่งานจัดในเมืองไทย เราย่อมมีสถานภาพของ “เจ้าภาพ” และมีธรรมเนียมปฏิบัติในฐานะเจ้าบ้าน ยังดีที่งานเลี้ยงต้อนรับในช่วงเย็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปร่วมงานด้วย ส่วนจะเป็นใครที่เดินเกมกัน และหวังผลต้องการแสดงบทบาทอะไร ดูได้ไม่ยาก!
ยังมีเรื่องสำคัญๆอื่นๆที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นประธานคนใหม่ประกาศสนับสนุนเงินให้คณะกรรมการโอลิมปิกทั้ง 45 ชาติในเอเชีย จะเพิ่มเป็น 250,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 8.7 ล้านบาท จากเดิมที่หนุนอยู่ 1 แสนเหรียญ (ราว 3.5 ล้านบาท) อีกประเด็นที่สำคัญคือการที่โอซีเอยอมรับให้นักกีฬารัสเซียและเบลารุสในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่จีน ปลายปีนี้ได้
ในส่วนที่เกี่ยวกับไทยโดยตรง นั่นคือการประกาศอย่างเป็นทางการให้ไทยเราเลื่อนจัดกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ จาก 17-26 พ.ย.2023 ออกไปเป็นปีหน้า ระหว่าง 24 ก.พ.ถึง 6 มี.ค.2024 ตามที่เราเสนอไป
โอลิมปิกเอเชียเริ่มต้นในวงรอบใหม่ แม้ว่าจะมีเชื้อเดิมๆแล้วโอลิมปิกไทยจะมีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นได้บ้างไหม น่าจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจคนกีฬา และสมาคมกีฬาต่างๆมากมาย
จริงอยู่แม้การเลือกตั้งของโอลิมปิกไทยชุดปัจจุบันจะยังไม่เกิดในช่วงนี้ ต้องรอครบวาระในปี 2568 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเปลี่ยน แปลงเกิดขึ้นได้ และไม่แน่ว่าจะไม่เกิดในเร็วๆนี้
ทั้งน่าจะเกี่ยวพันกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ด้วย และยิ่งได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่เร็วเมื่อไหร่ ตั้งรัฐบาลได้เร็วเพียงไร ก็มีโอกาสผกผันไปกับระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในโอลิมปิกไทยได้เร็วเท่านั้น
ต้องไม่ลืมว่าโอลิมปิกไทยที่ฟู่ฟ่า ดูมีบทบาท เสียงดังขึ้นมาได้ในระยะหลายปีหลัง ก็ด้วยบารมีของประธานคนปัจจุบัน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเข้ามาหลังการปฏิวัติรัฐประหาร โดยเป็นประธานโอลิมปิกไทย คนที่ 7 เมื่อ 5 เม.ย. 2560 ตอนนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมต.กลาโหม ในฐานะของนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำฯ
และบารมีที่ว่านั้นเป็นด้วยความรู้ ศักยภาพ และการยอมรับในเรื่องของกีฬาหรือไม่ คงไม่ต้องตอบอะไร แต่ความโดดเด่นในฐานะผู้มีอำนาจในรัฐบาลอันสูงยิ่ง และยังมีพลังอำนาจตรงและเต็มในวงการกีฬา ด้วยพ่วงตำแหน่งประธานบอร์ดการกีฬา ประธานบอร์ดกองทุนฯ
การเข้ามาของ “บิ๊กป้อม” ที่พร้อมพรั่งด้วยเหล่าบริวารทหารเก่ามาผสมผสานกับคนเก่าๆในโอลิมปิกเดิม เกาะเกี่ยวประโยชน์ร่วมกันไป จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเปลี่ยนในเรื่องทางกายภาพการทำงาน ห้องหับที่ทำการ และกลไกในการเข้าถึง กลั่นกรองก่อนไปถึงผู้มีอำนาจ มากกว่าเรื่องประสิทธิภาพและการสร้างความแตกต่างในเรื่องกีฬา
หากผลการเลือกนายกรัฐมนตรีออกมาเร็ว นั่นก็หมายถึงการสิ้นอำนาจของฝ่ายเดิมที่สืบเชื้อมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร
ถ้าหัวยอดอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่มีอำนาจทางการเมืองมาหนุน ไม่มีหมวกของการควบคุมดูแล กกท. และกองทุนฯ จะเป็นเช่นไร ไพร่พลบริวารทั้งหลายที่แสดงบทบาทกันจะดำรงอยู่อย่างไร!!!
เป็นเรื่องท้าทายที่คนกีฬารอดู...
“เบี้ยหงาย”