หน้าแรกแกลเลอรี่

กระชับวงล้อมปันความคิด นครสวรรค์เกมส์

ไทยรัฐออนไลน์

22 มี.ค. 2566 12:57 น.

ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-3 เมษายน 2566 บรรดานักกีฬาเยาวชนจากทั่วประเทศจะได้เข้าร่วมแสดงศักยภาพในเชิงกีฬาภายใต้การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 38

ระหว่างวันที่ 25 มีนาคม-3 เมษายน 2566 บรรดานักกีฬาเยาวชนจากทั่วประเทศจะได้เข้าร่วมแสดงศักยภาพในเชิงกีฬาภายใต้การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 38 หรือนครสวรรค์เกมส์ที่เมืองปากนำ้โพหรือจังหวัดนครสวรรค์กันอีกคำรบหนึ่ง


นครสวรค์เกมส์หรือมหกรรมกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 38 นั้นภายหลังที่จังหวัดนครสวรรค์ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพนั้นพบว่า จังหวัดได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องและหวังให้กีฬาระดับชาติในครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชาวนครสวรรค์จะได้แสดงพลังร่วมให้คนทั้งประเทศเห็นถึงความพร้อมและศักยภาพทางด้านการบริหารจัดการเพื่อยกระดับกีฬาของประเทศให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตามเมื่อกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับนครสวรรค์เกมส์นั้นหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 วันนั้นนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ได้แถลงข่าวและลงนามสัญญาการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 38 นครสวรรค์เกมส์ และกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ชอนตะวันเกมส์ ณ โรงแรมศิวา รอยัล จังหวัดพัทลุง ร่วมกับนายประชุม บุญเทียม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา


หนึ่งในมิติของการแถลงข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดเมืองปากนำ้โพกล่าวตอนหนึ่งว่า นครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีประสบการณ์มานานในการจัดการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เชื่อว่าการจัดการแข่งขันจะออกมาสมบูรณ์ที่สุด
ด้านนายประชุม บุญเทียม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่านครสวรรค์เกมส์กกท.ในฐานะเจ้าของเกมได้จัดสรรงบประมาณไว้ถึง 390 ล้านบาทเพื่อให้การแข่งขันออกมาดีที่สุด และที่สำคัญกีฬาเยาวชนแห่งชาติถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นักกีฬาจะได้ต่อยอดไปสู่การแข่งขันในระดับที่ใหญ่ขึ้นและสำหรับมูลค่าการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นถึง 800 ล้านบาททีเดียว

หันกลับมาเกาะติดรายละเอียดสำหรับนครสวรรค์เกมส์ครั้งที่ 38 พบว่าเจ้าภาพจัดให้นักกีฬาชิงชัยกันถึง 46 ชนิดกีฬา โดยคาดหวังคว้าเหรียญทองติดหนึ่งในสามของตารางเหรียญรวม
ด้านสนามที่ใช้จัดการแข่งขันส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวเมืองทั้งหมด และที่สำคัญจังหวัดยังได้ทุ่มงบประมาณรังสรรค์สนามกีฬาภายในม.ราชภัฏนครสวรรค์เพิ่มอีก 200 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติทุกรายการโดยเฉพาะกีฬาเยาวชนแห่งชาตินั้นคาดว่ารัฐบาล ตลอดจนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและโดยเฉพาะการกีฬาแห่งประเทศไทยตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในวงการกีฬาไทยคงจะคาดหวังและอยากจะเห็นการพัฒนาในหลากหลายมิติ

สำหรับความคาดหวังต่อการจัดการแข่งขันนั้นสอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นแฟนกีฬาและประชาชนของ KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เรื่องมหกรรมกีฬาเยาวชนแห่งชาติกับมิติการพัฒนาและความคาดหวังศึกษากรณีนครสวรรค์เกมส์ เมื่อเร็วๆ นี้จากผลการสำรวจดังกล่าวเมื่อถามถึงความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาและยกระดับการจัดการแข่งขัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คาดหวังที่จะให้มีการยกระดับจัดการแข่งขัน ยกระดับความพร้อมของสนามและสิ่งอำนวยความสะดวก ตามด้วยพัฒนาและต่อยอดนักกีฬาดาวรุ่งสู่ทีมชาติ

พร้อมกันนั้นโพลดังกล่าวยังถามถึงความคาดหวังและผลประโยชน์จากการจัดการแข่งขัน พบว่าส่วนใหญ่คาดหวังเรื่องการสร้างแรงจูงใจในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชนตามด้วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่และชุมชน


วันนี้ก่อนที่การแข่งขันจะเปิดม่านอย่างเป็นทางการเพื่อให้ผู้สนใจกีฬาทั่วประเทศได้ทราบและเกาะติดการแข่งขัน ผู้เขียนเสนอให้เจ้าภาพเร่งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนสู่สาธารณะอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เท่าที่ติดตามในมิติของการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก

อย่างไรก็ตามสำหรับนครสวรรค์เกมส์ครั้งนี้นอกจากเจ้าภาพภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันรังสรรค์ให้เกมตอบโจทย์ของการจัดการแข่งขันแล้ว เชื่อว่าหนึ่งในมิติของมาตรฐานและพัฒนาการจากเกมที่ผ่านมาหรือในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของการบริหารจัดการ หรือการแจ้งเกิดของดาวรุ่งและอีกหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะเจ้าของเกมคงจะได้พิจารณาและวิเคราะห์ว่า มหกรรมกีฬารายการนี้บรรลุเป้าหมายผลสัมฤทธิ์และตอบโจทย์การพัฒนาและยกระดับกีฬาชาติมากน้อยแค่ไหน