พาวเวอร์บอมบ์
สถานการณ์ปัจจุบันเจ้าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 กลับมาคุกคามชีวิตประจำวันของเราอีกแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายคงจะเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย
บทความนี้ของ นพ.อี๊ด ลอประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในวงการกีฬาของเราได้โพสต์เอาไว้ลองอ่านกันดู เพื่อจะได้หาทางป้องกันและไม่เกิดอาการวิตกจริตกันเกินไป
คุยกันเรื่อง PM 2.5 กับการออกกำลังกาย : มีผู้สนใจเข้าฟังเกือบ 300 คน ใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่า คนพูดหลัก 6 คน เริ่มด้วยพูดถึงข้อเสียของ PM 2.5 กับข้อดีของการออกกำลังกายต่ออวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย แล้วตามด้วยเมื่อต้องออกกำลัง กายในภาวะฝุ่น PM 2.5 สูงในสถานที่กลางแจ้งหรือในสถานที่ปิด เช่น ห้องฟิตเนส หรือโรงยิมฯ
สิ่งที่ได้จากการสอบถามของผู้ฟังคือ ทราบว่าสิ่งที่หลายคนต้องการมากที่สุดคือ การออกกำลังกายในภาวะฝุ่นผงมากในอากาศนั้นควรจะทำอย่างไร?
เนื่องจากเป็นการเอาสิ่งที่ทุกคนรู้มาคุยกันทีละคนได้หลากหลายความคิดเห็นไม่ได้เป็นการประชุมวิชาการแบบจริงจัง ถ้าจะให้สรุปออกมาชัดเจนใน 2 ชั่วโมงจึงยังไม่ได้ออกมาชัดเจน จากการคุยครั้งนี้เบื้องต้นนั้นหวังให้ผู้ฟังมีความรู้สามารถนำไปคิดตัดสินใจเองได้ก่อนว่าจะทำอย่างไร
สรุปรายงานเบื้องต้นบางส่วนพบว่า “การออกกำลังกายกลางแจ้งขณะที่มีค่า PM2.5 สูงไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่อายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ไม่มีอาการแพ้ฝุ่น การออกกำลังกายถึงความเหนื่อยหนักระดับปานกลาง (3–5.9 METS) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะมีผลดีโดยรวมต่อสุขภาพในระยะยาวที่ได้จากการออกกำลังกายมากกว่าผลเสียจากการที่ได้รับฝุ่นเข้าไปในร่างกายขณะออกกำลังกายเสียอีก จึงไม่ควรกังวลจนห้ามออกกำลังกลางแจ้งในภาวะและบุคคลดังกล่าว
แต่ถ้าออกกำลังกายหนัก, เป็นนักกีฬาอาชีพ, เด็กหรือคนท้อง ยังควรปฏิบัติตามคำแนะนำโดยทั่วไปสำหรับการปฏิบัติตัวในขณะค่ามลพิษในอากาศที่มีค่าต่างๆ แสดงพื้นที่เป็นฟ้าเหลืองเขียวส้มแดงที่มีข้อมูลออกมาแล้วต่อไป
การตื่นกลัวจนเกินไปจะทำให้เราขาดการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายที่เหมาะสม การตายจากภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเสื่อมของสมอง การเป็นโรคมะเร็งบางชนิด จะกลับมาน่ากลัวกว่าภาวะอันตรายจากฝุ่นได้นะครับ
**หมายเหตุ สมาคมกีฬาเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย จะทำการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออกคำแนะนำที่เหมาะสมในเรื่องนี้ต่อไปในเร็วๆนี้ **
พาวเวอร์บอมบ์