ไทยรัฐออนไลน์
นักปั่นทีมชาติไทยฝึกซ้อมต่อเนื่อง ไม่มีการหยุดพักปีใหม่ เร่งเสริมแกร่งและแก้ไขจุดบกพร่อง เป้าหมายคว้าทองซีเกมส์ที่กัมพูชา
“สองล้อ” เดินหน้าเก็บตัวนักปั่นทีมชาติไทย โดยไม่มีการหยุดพักในช่วงเทศกาลปีใหม่ พร้อมทั้งสั่งซื้ออาหารเสริม และอุปกรณ์วัดกำลัง “เพาเวอร์มิเตอร์” ให้นักกีฬาทุกคน หากรอเบิกจากศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา (กกท.) อาจจะไม่ทันการ นอกจากนี้ยังได้นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเร่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งและแก้ไขจุดบกพร่องที่ผ่านมาในซีเกมส์ที่เวียดนาม โดยเฉพาะทีมเสือภูเขามียังขาดเรื่องความแข็งแกร่งของนักกีฬา พร้อมกันนี้สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะส่ง “พูนศิริ ศิริมงคล” และ “วรินทร เพ็ชรประพันธ์” สองนักปั่นเสือภูเขาที่เป็นความหวังในการคว้าเหรียญรางวัลกีฬาซีเกมสที่กัมพูชา และเอเชี่ยนเกมส์ที่จีน ไปเก็บตัวฝึกซ้อมหลักสูตรเร่งด่วนที่ศูนย์ฝึกจักรยานโลก (WCC) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสมาคมฯ ยอมลงทุนออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ขณะที่ศึกชิงแชมป์ประเทศไทยหลายสนามได้ลงทะเบียนกับ “ยูซีไอ” เป็นสนามระดับนานาชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักกีฬาไทยได้เก็บคะแนนสะสมคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้วางแผนงานประจำปี 2566 เอาไว้เรียบร้อย โดยกำหนดจัดการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2566 ประเภทถนน, ประเภทเสือภูเขา, ประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ และประเภทลู่ รวมไปถึงการแข่งขันจักรยานเสือภูเขา (ใจเกินร้อย) และ “ปั่นเพื่อชีวิต Sport Tourism Bike 4 All” รวม 28 สนาม ซึ่งการแข่งขันจักรยานประเภทถนน, บีเอ็มเอ็กซ์ และเสือภูเขา ในบางสนาม สมาคมฯ ได้ลงทะเบียนกับสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ให้เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ มีทั้งระดับ CN และ C1 เพื่อเปิดโอกาสให้นักปั่นไทยได้เก็บคะแนนสะสมไปโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส
พลเอกเดชา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดจักรยานหนูน้อยขาไถ ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2566 อีก 4 สนามเป็นอย่างน้อย ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ตั้งคณะทำงานมาเพื่อพิจารณาการไปจัดแข่งขันในจังหวัดต่าง ๆ ตามที่มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาผู้ปกครอง เพื่อเป็นการกระจายการแข่งขันออกไปตามภูมิภาค ซึ่งการแข่งขันหนูน้อยขาไถนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะให้แก่เด็ก ๆ ต่อยอดไปสู่การเป็นนักกีฬาจักรยานประเภทต่าง ๆ ทั้งประเภทถนน, เสือภูเขา, บีเอ็มเอ็กซ์ และลู่
“เสธ.หมึก” กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันสมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้เดินหน้าเก็บตัวนักกีฬาทีมชาติไทยอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ทั้งการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566, การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคม 2566 และการแข่งขันระดับนานาชาติเพื่อเก็บคะแนนสะสมคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งเวลานี้นักปั่นทีมชาติไทยทั้งประเภทถนน และเสือภูเขา ได้เข้าแคมป์เก็บตัวอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่มีการหยุดพักในช่วงเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากเหลือเวลาในการเตรียมทีมไม่มากแล้ว เรามีเวลาฝึกซ้อมกันไม่ถึง 6 เดือน โดยนักกีฬาจักรยานทุกคนต้องอยู่ในระเบียบวินัย ตั้งใจฝึกซ้อม หากคนไหนที่อยู่ในระเบียบวินัยก็จะถูกลงโทษตามระเบียบ หรือถูกตัดออกจากแคมป์ทีมชาติทันที
พลเอกเดชา เปิดเผยอีกว่า สำหรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ทางสมาพันธ์จักรยานแห่งเอเชีย หรือ เอซีซี ได้แต่งตั้งให้ตนเองในฐานะกรรมการบริหารของ เอซีซี และ รองประธานสมาคมจักรยานแห่งอาเซียน หรือ เอซีเอ เข้ารับตำแหน่งผู้แทนด้านเทคนิค หรือ Technical Delegate เพื่อให้เป็นไปตามกติกาของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ ยูซีไอ และกฎบัตรของสหพันธ์ซีเกมส์ ล่าสุด ตนได้ส่ง นายณัฐพงศ์ โลหิตนาวี ประธานฝ่ายเทคนิคฯ เดินทางไปสำรวจเส้นทางการแข่งขัน หลังจากนั้นก็จะมารายงานข้อมูลว่าเส้นทางการแข่งขันประเภทถนนและเสือภูเขา มีรายละเอียดระยะทางเท่าใด สภาพภูมิประเทศเป็นอย่างไร ความยากง่ายของสนามมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่เราจะนำข้อมูลเหล่านี้มาเตรียมทีมและวางแผนการฝึกซ้อมต่อไป
“การแข่งขันกีฬาจักรยานในซีเกมส์ ที่ประเทศกัมพูชา มีชิงชัยทั้งหมด 9 เหรียญทอง จาก 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทถนน 4 เหรียญทอง ประกอบด้วย โรดเรซชาย-หญิง และไครทีเรียม ชาย-หญิง กับประเภทเสือภูเขา 5 เหรียญทอง ประกอบด้วย ครอสคันทรี่ ชาย-หญิง, อิลิมิเนเตอร์ ชาย-หญิง และครอสคันทรี่ ทีมรีเลย์ วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคมนี้ นายณัฐพงศ์ ประธานฝ่ายเทคนิคฯ ก็จะเดินทางไปปฐมนิเทศนักกีฬาถึงรายละเอียดต่าง ๆ ในเบื้องต้น หลังจากนั้นวันที่ 6 มกราคม 2566 ผมจะเดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจนักกีฬาทุกคน สำหรับเป้าหมายในการคว้าเหรียญทองของนักปั่นไทย เราคาดหวังว่าจะได้จากเสือภูเขา 2 เหรียญทอง ซึ่งในเดือนมีนาคม 2566 สมาคมฯ วางแผนจะส่ง นายพูนศิริ ศิริมงคล และ น.ส.วรินทร เพ็ชรประพันธ์ สองนักปั่นที่เป็นความหวังในการคว้าเหรียญรางวัลในกีฬาซีเกมส์ และเอเชี่ยนเกมส์ ไปเก็บตัวฝึกซ้อมหลักสูตรเร่งด่วนที่ศูนย์ฝึกจักรยานโลก หรือ WCC ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสมาคมฯ ยอมลงทุนออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ส่วนประเภทถนนคาดหวังเอาไว้ว่าจะได้ 1 หรือ 2 เหรียญทอง” พลเอกเดชา กล่าว
นายกสองล้อไทย เจ้าของฉายา “หมึกต้นแบบ” กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าภาพกัมพูชา เขาก็ตั้งความหวังในการคว้าเหรียญทองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเภทเสือภูเขา ซึ่งล่าสุด มีการจัดแข่งขันชิงแชมป์ระดับประเทศที่เมืองเสียมเรียบ เพื่อให้นักกีฬาของเขาคุ้นเคยกับสนามแข่งขันมากที่สุด สำหรับนักปั่นเสือภูเขาทีมชาติไทยเท่าที่ประเมินผลงานจากกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม นักปั่นไทยเราฝีมือดีแต่ความแข็งแกร่งของร่างกายยังสู้กับนักปั่นชาติอื่น ๆ ไม่ได้ ดังนั้นสมาคมกีฬาจักรยานฯ จึงต้องแก้ไขข้อบกพร่องของนักกีฬาโดยนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองวิทยาศาสตร์กีฬา ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในการทดสอบสมรรถภาพของนักกีฬา และได้รับความร่วมมือจากภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาตรวจวิเคราะห์สภาพกล้ามเนื้อเพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูและรักษาอาการบาดเจ็บ
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สมาคมกีฬาจักรยานฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก มร.ไว มุน เยียง และ มร.ปีเตอร์ พูลลี่ ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ที่มาทำงานประสานกับกองวิทยาศาสตร์กีฬา ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา ในการเจาะเลือดนักกีฬาหาค่าแลคเตท (Lactate) และนำค่าเลือดที่ได้เข้าประมวลผลในซอฟต์แวร์ แอทเลติก เพอร์ฟอมานซ์ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ทีมจักรยานอาชีพระดับโปรทีมและนักกีฬาอาชีพชั้นนำทั่วโลกใช้ หลังจากนี้บรรดาผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ทั้ง “โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กสิยะพัท ในประเภทถนน, “โค้ชนพ” ร.ต.อ.อดิศักดิ์ วรรณศรี ในประเภทลู่ และ จ.อ.เสรี เรืองศิริ ในประเภทเสือภูเขา จะนำข้อมูลไปใช้ออกแบบการฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละคน เพื่อที่จะรีดเอาศักยภาพสูงสุดของนักกีฬาออกมาได้ในช่วงที่ลงแข่งขัน
“สมาคมกีฬาจักรยานฯ ยังได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เสมอ ทั้งการนำเอาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกแขนงที่จำเป็นสำหรับนักกีฬามาปรับใช้อย่างเต็มที่ การนำกระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาด้านไบโอแมคคานิคส์ (Biomechanics) หรือชีวกลศาสตร์ มาพัฒนานักกีฬาจักรยานรุ่นใหม่ รวมถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ทันสมัย ล่าสุด สมาคมฯ ได้สั่งซื้ออุปกรณ์เพาเวอร์มิเตอร์ มาติดตั้งบนรถจักรยานของนักกีฬาทุกคนเพื่อวัดกำลัง และสมรรถภาพของนักกีฬา ซึ่งหน่วยจะออกมาเป็นวัตต์ เป็นการวัดกำลังและรอบขาของแต่ละคน นอจากนนั้นยังเสริมเรื่องของโภชนาการ ทั้งการรับประทานอาหารหลัก และมีซื้ออาหารเสริมมาให้นักกีฬาอีกต่างหาก ซึ่งตอนนี้สมาคมฯ ต้องเร่งจัดหาซื้ออาหารเสริมมาเอง รวมถึงครีมนวดกล้ามเนื้อที่มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากต้องรอการเบิกจากศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา อาจจะไม่ทันการ” พลเอกเดชา กล่าวในตอนท้าย.