ไทยรัฐฉบับพิมพ์
หลังจากนักกีฬาจากทั่วทุกสารทิศ ของประเทศได้รวมตัวกันที่เมืองหนังโนราเพื่อประลองศักยภาพทางการกีฬาภายใต้มหกรรมกีฬาอาวุโสแห่งชาติ ครั้งที่ 4 หรือ “เสกักเกมส์” ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา จนรูดม่านการแข่งขันอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว
กีฬาอาวุโสแห่งชาติเป็นหนึ่งในมิติของการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อต่อยอดการพัฒนากีฬาของประเทศภายใต้การสนับสนุนของการกีฬาแห่งประเทศ ไทยในฐานะเจ้าของเกมส์พร้อมด้วยเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่คอยเป็นกำแพงผลักดัน
สำหรับมหกรรมกีฬาอาวุโสนั้นเป็นการแข่งขันกีฬาระดับชาติที่จังหวัดพัทลุงรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพต่อจากกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 37
ขณะเดียวกันแฟนกีฬาและอีกหลายคนต่างสงสัยว่า คำว่า “เสกัก” ที่ใช้เป็นชื่อของเกมนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ในโอกาสนี้ขอขยายความว่า เสกักเป็นชื่อเก่าแก่ของ “ตลาดในเทศบาล” หรือเมืองพัทลุง ที่คนรุ่นเก่าเรียกขานกันมานานวัน และในมหกรรมรายการนี้คณะกรรมการจัดการแข่งขันจึงนำชื่อดังกล่าวมาใช้เป็นชื่อของเกมการแข่งขัน
กีฬาอาวุโสถึงแม้รสชาติหรือความเผ็ดมันของเกมอาจจะต่างจากมหกรรมรายการอื่นอยู่บ้างก็ตาม แต่หากส่องลงไปในเกมที่นักกีฬาแต่ละชนิดประลองกันนั้นต้องยอมรับว่ามันส์ไม่แพ้เกมอื่นๆ
เพราะบรรดานักกีฬาที่เข้าร่วมล้วนแล้วแต่เคยผ่านสังเวียนหรือสนามระดับชาติและระดับประเทศมาแล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้สัมผัสเกมรายการนี้จึงรู้ดีว่านี่คือมหกรรมสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้อาวุโสได้แสดงออกซึ่งศักยภาพการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย
ที่น่าสนใจในการเป็นเจ้าภาพ “เสกักเกมส์” ครั้งนี้คือการยกระดับเศรษฐกิจในชุมชนและจังหวัดให้กลับมาคึกคักอย่างทันตาเห็นกันอีกครั้ง เพราะในช่วงแข่งขันมีผู้ติดตามและนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 5,000 คน ได้เดินทางเข้าสู่เมืองเขาอกทะลุ
แม้ผู้เกี่ยวข้องจะยังไม่ให้ข้อมูลถึงตัวเลขหรือเม็ดเงินที่สะพัดแต่เชื่อว่าคงจะมีมากไม่น้อยไปกว่าพัทลุงเกมส์ที่เพิ่งผ่านไป
วันนี้ “เสกักเกมส์” รูดม่านปิดฉากไปแล้วก็ตาม เชื่อว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในเกมการแข่งขันคงจะติดตราตรึงใจทั้งตัวนักกีฬา รวมไปถึงคนเมืองพัทลุงไปอีกนานเท่านาน
นอกจากเรื่องของสุขภาพร่างที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยแล้ว ความรักความสามัคคี รวมถึงน้ำใจนักกีฬาจะช่วยหล่อหลอมให้ทุกคนอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
ต้องขอบคุณการกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรกีฬาของประเทศที่ให้การสนับสนุนการจัดการแข่งขัน รวมทั้งภาครัฐและเอกชน เหนืออื่นใดคือคณะกรรมการจัดการแข่งขันทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงวัยที่อุทิศตนมุ่งมั่นเพื่อชื่อเสียงของจังหวัดบ้านเกิด
เชื่อว่าเป้าหมายที่สำคัญของชาวพัทลุงสำหรับการรังสรรค์เกมกีฬาหรือมหกรรมระดับชาติ คือการผนึกพลังร่วมเพื่อส่งเสริมและยกระดับการพัฒนาการกีฬาของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าสืบไป.
โจโจ้ซัง