เบี้ยหงาย
ดีใจกันไหม ตั้งแต่ 1 พ.ค. “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 หรือ ศบค. เตรียมยกเลิกมาตรการเข้าประเทศแบบเทสต์แอนด์ โก โดยจะใช้การตรวจเอทีเคแทน อันเปรียบเสมือนการเปิดประเทศเต็มตัว
แน่นอนการท่องเที่ยวเป็นประเด็นแรกที่จะได้รับผลพวงโดยตรง ส่วนของแวดวงกีฬาเราก็ต้องได้รับอานิสงส์ไปด้วยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการเดินทางเข้าออกเพื่อมาและไปแข่งขันกีฬา
การจัดการแข่งขันรายการต่างๆก็มีเงื่อนไขน้อยลงมาก ย่อมส่งผลในเชิงบวก ไม่ว่าเกมที่มีโปรแกรมล่วงหน้าอยู่แล้ว ก็ลดเงื่อนไข ลดภารกิจ และลดงบประมาณลงได้พอควร รวมทั้งคงจะกระตุ้นให้เกิดการจัดการแข่งขันขึ้นอีกมากในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังอบอวลชวนกังวลกันอยู่ก็ตาม
ยิ่งมาเปิดประเทศในช่วงนี้ ช่วงเวลาที่กำลังนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอีกราวๆ ไม่ถึงปี จะเร็วจะช้าก็แล้วแต่สถานการณ์แวดล้อม หลายคนเชื่อว่า จะยิ่งมีความคึกคักมากขึ้น รวมถึงฝั่งของกีฬาเรา ก็เริ่มมีการวิเคราะห์กันออกมาจากผู้บริหารสมาคมกีฬาหลายแห่ง ว่าจากนี้ไปคงจะยิ่งทวีความเข้มข้น ซึ่งจริงๆก็มีเค้าลาง มีสัญญาณออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ
ขนาดยังไม่เปิดประเทศดีก็มีการจัดอีเวนต์กีฬามาเรื่อยๆ อีเวนต์กีฬาที่ว่านี้ หลายอีเวนต์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยในกีฬานั้นๆเลย เป็นอีเวนต์กีฬาที่ลอยข้ามหัวมาจัด ซึ่งมักฉายภาพเอ่ยอ้างถึงบริบทของการท่องเที่ยว เผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศ ดึงคนเข้ามา เป็นเหตุผลสนับสนุน
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แน่นอนมีเนื้องานของสองส่วน และเดิมหมายมั่นปั้นมือว่าปกติกีฬามีงบน้อยอยู่แล้ว ขณะที่ท่องเที่ยวมีงบประมาณมหาศาล อาจจะได้ปันส่วนเสี้ยวมาเติมได้บ้าง นั่นคือความคิดยุคดั้งเดิมแต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้มีการเผื่อแผ่หรือกระเด็นมาถึงกีฬาแต่อย่างไร
แต่พลันที่ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 บังคับใช้ กีฬามีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งได้รับเม็ดเงินจากภาษีสรรพสามิต ในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ ซึ่งตัวเลขกลมๆอยู่ราวๆปีละ 4 พันล้านบวกลบ และใช้ไม่หมดก็สะสมใช้กันต่อในปีถัดๆไปด้วย
ตั้งแต่นั้นกีฬาก็มีเม็ดเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเยอะ ทั้งตามระเบียบของกองทุนฯ ที่เติมเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อน นอกเหนือจากงบปกติ และส่วนของกีฬาอาชีพเป็นหลัก ใช้จัดทั้งกีฬาหลักและอีเวนต์เชิงกีฬา
อีเวนต์เชิงกีฬาที่มักมีเหตุและผลกับบริบทของเรื่องท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนที่มาร่วม จะเห็นได้ว่าจัดทีจัดใหญ่ ใช้งบประมาณสูงทีเดียว ขณะที่เกมการแข่งขันกีฬาเป็นหลัก แม้เป็นกีฬายอดนิยม อาทิ ฟุตบอล วอลเลย์บอล เทควันโด หรือแม้แต่กรีฑา จักรยาน ก็ตาม การขอรับการสนับสนุนจากรัฐ ได้ง่ายได้ยาก ได้มากได้น้อยอย่างไร เมื่อเทียบกับอีเวนต์กีฬา ลองสอบถามดูกับผู้บริหารสมาคมกีฬาเหล่านั้นได้ว่าเป็นเช่นไร
กีฬายุคนี้ การเมืองคุมหมด แถมหลายพรรคเสียด้วย ส่วนจะกี่พวกก็วิเคราะห์กันเอา ประธานบอร์ด กกท. กองทุนฯ ประธานโอลิมปิก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พลังประชารัฐเหมาหมด, เลขาโอลิมปิก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ตอนนี้เป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยไปแล้ว ส่วนด้านกระทรวง รมต.กีฬา พิพัฒน์ รัชกิจประการ ซึ่งเป็นประธานบอร์ดกีฬาอาชีพด้วย และรองนายกฯที่กำกับดูแลกระทรวงนี้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ก็พรรคภูมิใจไทย
อีเวนต์เชิงกีฬาล้วนมีบริษัทออร์กาไนซ์รับงาน แต่ละเจ้าที่ได้งานจะโยงใยกับใคร หรือครอบครัวใคร และการได้มาของเงินสนับสนุนจากรัฐ ถูกต้องเหมาะสมเช่นไร นับว่าน่าสนใจ
จับจ้องพลังแม่เหล็กให้ดี ใกล้เลือกตั้งทีไรมันรุนแรงทุกทีแหละ...
“เบี้ยหงาย”