ฟ้าคำราม
ความเชื่อ กับความจริง ดูจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างความรู้สึกกับข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น ในส่วนของวงการออกกำลังกาย ก็มีความเชื่อเกิดขึ้นหลายอย่าง แต่ความจริงเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องค้นคว้า
ทั้งนี้ ถือว่าโชคดีที่เราไม่ต้องเสียเวลาไปหาเอง พอดีไปอ่านเจอมาจากเพจเฟซบุ๊ก MICE & Communication ซึ่งอ้างอิงมาจาก samitivejhospitals ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ เลยอยากนำมาแชร์ต่อให้ได้ทราบกัน
โดยมีทั้งหมด 7 ความเชื่อ แต่ด้วยข้อจำกัดของเนื้อที่เรียงหน้าชน วันนี้เลยขอนำ 4 ข้อแรกมาให้ได้รับรู้กันก่อน และคิวต่อไปจะนำอีก 3 ข้อที่เหลือ มาบอกกล่าวกัน
จริงหรือเท็จกับ 7 ความเชื่อ ก่อนและหลังการออกกำลังกาย
ความเชื่อ 1 : ห้ามดื่มน้ำก่อนออกกำลังกายเพราะจะทำให้จุก
ความจริง การดื่มน้ำมากๆก่อนออกกำลังกายทันทีอาจทำให้จุกแน่นได้ เนื่องจากน้ำยังไม่สามารถไปถึงทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ตาม ควรดื่มน้ำประมาณ 200-300 cc ก่อนออกกำลังกายประมาณ 30 นาที โดยเฉพาะหากต้องเสียเหงื่อมากระหว่างออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายหลังตื่นนอน เพราะร่างกายขาดน้ำเป็นเวลานานจากการนอนหลับ รวมถึงควรจิบน้ำทีละน้อยๆ แต่จิบบ่อยๆในขณะออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
ความเชื่อ 2 : ออกกำลังกายขณะท้องว่าง ช่วยเผาผลาญไขมันเพิ่มขึ้น
ความจริงการออกกำลังกายขณะท้องว่างจะทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารมื้อเล็กๆที่ย่อยได้ง่ายก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที เช่น กล้วยหอมครึ่งผล ลูกเกด หรือแครกเกอร์ชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารเตรียมพร้อมให้มีพลังงานในการออกกำลังกาย
สำหรับการเผาผลาญไขมันได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบและระยะเวลาในการออกกำลังกาย หากต้องการเผาผลาญไขมันจะต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิกนาน 30 นาทีขึ้นไป ซึ่งร่างกายจะดึงพลังงานทั้งจากไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อออกมาใช้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้สูญเสียกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย จึงควรสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเวทเทรนนิ่งควบคู่ไปด้วย
ความเชื่อ 3 : เหงื่อออกมาก ยิ่งเผาผลาญแคลอรีมาก
ความจริง เหงื่อออกมากขณะออกกำลังกายเกิดจากการขับน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย ส่วนการเผาผลาญแคลอรีขึ้นอยู่กับกิจกรรมและระยะเวลาของการออกกำลังกาย จะเห็นได้ว่าทั้งสองอย่างนั้นไม่เกี่ยวข้องกัน การที่เหงื่อออกมากกลับทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ เป็นตะคริว หรือหากขาดน้ำมากเกินไปอาจทำให้หน้ามืดเป็นลม หรือเกิดโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งเป็นอันตราย อย่างมาก ดังนั้นหากมีเหงื่อออกมากขณะออกกำลังกายควรจิบน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนหรือการออกกำลังกายกลางแจ้ง
ความเชื่อ 4 : วิ่งมากๆเข่าจะเสีย
ความจริง ลักษณะการวิ่งที่มีผลเสียกับเข่าคือการวิ่งที่ก้าวยาวเกินไป (Overstride) ซึ่งทำให้ปลายเท้ายื่นเกินปลายเข่า ทำให้จังหวะก้าวลงพื้นจะลงด้วยส้นเท้า เกิดแรงไปกระทำที่ข้อลูกสะบ้าเข่าสูง มีผลให้เกิดการบาดเจ็บกับลูกสะบ้า เพื่อลดการเกิดการวิ่งก้าวยาวเกินไป เราอาจจะเปลี่ยนด้วยการซอยเท้าวิ่งให้ถี่ขึ้น ควรมีจังหวะก้าว 180 ก้าวต่อนาที หรือ 3 ก้าวต่อ 1 วินาที ร่วมกับการงอลำตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ก็จะช่วยลดการบาดเจ็บที่ผิวข้อลูกสะบ้าเข่าได้
ดังนั้นผู้วิ่งจึงควรสังเกตวิธีการวิ่งของตัวเองว่าเป็นสาเหตุของการเจ็บเข่าหรือไม่ นอกจากนี้อาการปวดเข่าอาจเกิดจากอาการบาดเจ็บที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น มีปัญหาข้อเข่าหลวม หรือบาดเจ็บบริเวณหมอนรองเข่า ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาหรือแก้ไขก่อนวิ่งอีกครั้ง
ส่วนความเชื่ออีก 3 ข้อที่เหลือมีอะไรบ้าง จะนำเสนอให้ทราบกันต่อในครั้งหน้า...
ฟ้าคำราม