หน้าแรกแกลเลอรี่

ศักยภาพ "เจ็ตสกี" ที่แท้จริง

บี บางปะกง

4 มี.ค. 2565 06:00 น.

เป็นประเด็นดราม่าร้อนแรงไปทั่วประเทศ สำหรับกรณีการเสียชีวิตของดาราสาว "น้องแตงโม"

การตามหาความจริงว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป 

แต่ถ้าทุกท่านสังเกต ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการค้นหาจนจบ ผมเห็นว่ายานพาหนะที่เรียกว่า "เจ็ตสกี" นั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับภารกิจครั้งนี้ 

วันนี้ ผมมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องคนไทย ในการใช้เรือ!! จะมาเล่าให้ฟัง

ผมติดต่อไปที่ สมาคมกีฬาเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย คุยกับเลขาธิการ "บิ๊กบอย" ปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก 

เลขาบอย เล่าว่า ถ้าจะพูดถึงระบบขับเคลื่อนของเรือหลักๆ ที่แพร่หลายทุกวันนี้มี 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ Inboard Sterndrive ติดตั้งเครื่องยนต์ภายในเรือ มีเพลาและใบพัดออกมาด้านนอก

ระบบที่ 2 เครื่องยนต์ Outboard ติดท้ายเรือ เหมือนกับเรือที่เป็นข่าว

ระบบที่ 3 คือ ระบบ “Water Jet” ดูดน้ำเข้าไปแล้ว “มีใบพัดอัดน้ำอยู่ด้านใน” พ่นกำลังน้ำออกมา แบบนี้ไม่มีใบพัดด้านนอก แบบที่เจ็ตสกี ใช้นั่นเอง

ทั้ง 3 ระบบ มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การนำมาใช้ประโยชน์ Inboard ดูแลยากแต่มีความเรียบร้อย 

Outboard ดูแลง่ายไม่ซับซ้อน โดยมีเครื่องยนต์โผล่มาวางท้ายเรือ 

ส่วน “Water Jet” ข้อเสียคืออาจจะมีขยะเข้าไปติดใบพัดที่อยู่ภายในตัวเรือได้บ่อยๆ ไม่ค่อยสะดวก แต่ข้อดีคือ ไม่มีใบพัด ด้านนอก และกินน้ำตื้น

ดังนั้น เจ็ตสกี จึงถูกนำมาใช้เป็นกีฬาและงานกู้ภัยทางน้ำ เพราะมีคุณสมบัติที่โดดเด่น “ไม่มีใบพัดภายนอก” 

ในกีฬาหากนักกีฬาตกเรือ ใบพัดของเรือลำอื่นก็จะไม่มาฟันทำให้เกิดอันตราย ส่วนงานกู้ภัย แม้น้ำไหลแรงก็เข้าช่วยผู้ประสบภัยได้เร็ว ไม่ต้องกังวลว่าใบพัดจะทำอันตรายผู้ประสบภัยนั่นเอง!

งานกู้ภัย เจ็ตสกียังมีคุณสมบัติพิเศษอีกด้วย เพราะตัวเรือทั้งลำมีการซีลกันน้ำได้ระดับหนึ่ง ถ้าเรือพลิกคว่ำก็จะสามารถพลิกกลับนำมาใช้งานต่อได้ทันที โดยที่เครื่องยนต์และเรือจะไม่ได้รับความเสียหายใดๆ เลย (แตกต่างจากเรืออื่นๆ ที่น้ำจะเข้าเครื่องยนต์ขัดข้องทันที) ทั้งยังมีกำลังแรงขับ-การลากจูงที่สูงอีกด้วย

“บิ๊กบอย” เล่าต่อว่า ต่างประเทศใช้เจ็ตสกี เป็นยานพาหนะกู้ภัยกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในทะเลที่มีคลื่นใหญ่ๆ ที่อาจเกิดอุบัติเหตุกับนักเล่นเซิร์ฟ หรือชายหาดที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น ฮาวาย จะมีเจ็ตสกีเข้าประจำการคู่กับหน่วยกู้ภัยที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี 

“ผมเห็นว่า การใช้เจ็ตสกีกู้ภัยกำลังแพร่หลายในประเทศไทยอย่างมาก โดยเป็นข่าวการช่วยผู้ประสบภัยมาตลอดระยะเวลา 10 ปีมานี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้มีจิตอาสาทุกๆ ท่าน”

“จริงที่บางท่านอาจจะมีอคติกับผู้ที่นำเจ็ตสกีไปแว้น! ผมอยากเปรียบเทียบกับยานพาหนะมอเตอร์ไซค์ที่มีประโยชน์ มากๆ กับผู้คน แต่มีวัยรุ่นนำไปซิ่ง จึงไม่ควรไปโทษแบบเหมารวมที่มอเตอร์ไซค์ เพราะปัญหาอยู่ที่ผู้ที่นำไปขับขี่” 

เช่นเดียวกันสมาคมฯ กำลังเริ่มทำงานรณรงค์การให้ความรู้กฎหมายการจราจรทางน้ำ เจ็ตสกีเป็นยานพาหนะทางน้ำอย่างหนึ่ง ที่ต้องขับขี่อย่างระมัดระวัง 

แม้แต่งานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เจ็ตสกีตอบโจทย์มาก เพราะกินน้ำตื้น ไม่ทำลายปะการังอย่างที่คนเข้าใจผิดกัน 

บางท่านที่มีอคติก็จะเหมารวมไปหมด ตรงนี้สมาคมฯ กำลังจะเร่งให้ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมทั้งมุ่งทำงานสร้างประโยชน์แก่สังคมอย่างสร้างสรรค์ ในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม

แยกออกแล้วนะครับ สกู๊ตเตอร์ที่หาดเครื่องยนต์เกาะท้าย มีใบพัดข้างท้าย กับเจ็ตสกี ไม่มีใบพัดนอกตัวเรือ! 

เขาถึงเรียกว่า เจ็ตสกี หรือ วอเตอร์เจ็ต เพราะใช้พ่นน้ำ 

คราวหน้าไปทะเล ทุกท่านจะได้มีความรู้และปลอดภัยเพิ่มขึ้น!!!

- บี บางปะกง -