บี บางปะกง
ห้วงเวลานี้ หากจะส่องไปที่ประเด็นร้อนแรงในวงการกีฬา นอกจากกรณีวาดาแบนไทยแล้ว คงจะหนีไม่พ้นเรื่องภายในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
ที่กล่าวว่ามีประเด็นร้อนแรง เกี่ยวกับ ม.การกีฬาแห่งชาติ จนกลายเป็นประเด็นให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการพลศึกษา หรือลูกพลบดีออกมาส่งเสียง ก็คงจะเป็นเรื่องของเกมยื้ออำนาจ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใส โดยเฉพาะการได้มาซึ่งผู้นำองค์กรที่ยืดเยื้อมานาน
ที่น่าสนใจมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ภายหลังที่มี พ.ร.บ.จัดตั้งอย่างเป็นทางการ มาตั้งแต่ปี 2562 จวบจนบัดนี้ กลับมีปัญหาการบริหารจัดการภายใน ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำอยู่พอสมควร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการได้มาซึ่งนายกสภา และอธิการบดี
จากปัญหาความล่าช้า และส่อไปในทางที่ไม่เป็นไป ตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ของสถาบันอุดมศึกษา ดังวิถีปฏิบัติทั่วไปจึงนำไปสู่การถกเถียง และนำเสนอข้อมูล ตลอดจนการตั้งประเด็นคำถาม ผ่านการประชุมของสมาชิกวุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการกีฬาฯ ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามมาด้วย
ยิ่งกรณีที่ “อาจารย์หรั่ง” ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ได้มีการหยิบยกประเด็น และสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ในที่ประชุมวุฒิสภาด้วยแล้ว กระแสความร้อนแรงจึงตามมาอย่างน่าสนใจยิ่ง
จากประเด็นการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาคนดัง ส่งผลให้กลุ่มผู้บริหาร มกช. จำนวนหนึ่ง ไม่อาจจะทนนิ่งเฉยต่อไปได้ จึงออกมาเคลื่อนไหวด้วยการเชิญสื่อมวลชน ไปร่วมรับฟังการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา และจากการแถลงข่าวดังกล่าว พบว่าคำชี้แจงที่ส่งผ่านข่าวแจกสำหรับเตรียมมาให้ผู้สื่อข่าวพบว่า ยังไม่ตอบโจทย์หรือคลายข้อกังขา ที่เกี่ยวกับประโยชน์ทับซ้อนหรือเกมยื้ออำนาจจะมีก็แต่เพียงการแก้ต่างในประเด็นที่เป็นคุณต่อตนเองและพวกพ้องเท่านั้น
และจากการแถลงข่าวของคณะผู้บริหารในวันดังกล่าว กลับส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “เราจะไม่ทนอีกต่อไป” ผ่านเครือข่ายบุคลากรพิทักษ์คุณธรรม แห่งมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติตามมา
ซึ่งล่าสุด ผู้เขียนได้รับเอกสารที่แสดงให้เห็น ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังแห่งปัญหา ที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใส และขาดหลักธรรมาภิบาล ในสถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว จากเครือข่ายบุคลากรพิทักษ์คุณธรรม แห่งมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อให้สาธารณชน ได้รับทราบถึงที่มาที่ไปของประเด็นร้อน จึงขอนำเสนอสาระให้ผู้สนใจตลอดจนสาธารณชน ได้รับทราบกันพอสังเขป ทั้งนี้ผู้เขียนขอสงวนการเอ่ยนามตัวละคร ที่เกี่ยวข้องจากเอกสารดังกล่าว
ซึ่งสาระที่เครือข่ายบุคลากรพิทักษ์คุณธรรม แห่งมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ตั้งเป็นข้อสังเกตมีประเด็นที่น่าสนใจ ตามความต่อไปนี้
“กระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ตัดสิทธิ์การมีส่วนร่วมของบุคลากร และเสนอชื่อบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interests) กับมหาวิทยาลัย”
ตามที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2564 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ชั้น 6 อาคารคอสโม ออฟฟิศ ปาร์ก อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งมีประเด็นปัญหาที่ประชาคมชาว ม.การกีฬาฯ และที่เกี่ยวข้อง ควรรับรู้ไว้ดังนี้
เมื่อพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 80 ได้บัญญัติว่า
“ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันและกรรมการสภาสถาบันของสถาบันการพลศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2548 อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับปฏิบัติหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการซึ่งสภาสถาบันการพลศึกษาแต่งตั้งที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จภารกิจหรือสภามหาวิทยาลัยมีมติเป็นอย่างอื่น”
มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ได้ออกข้อบังคับมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2562 ประกาศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยสภามหาวิทยาลัยฯ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยขึ้น ซึ่งมีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา ตามข้อ 9 โดยมีอธิการบดี เป็นประธานกรรมการ และ ข้อ 11 ให้คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่ดำเนินการสรรหาผู้มีคุณสมบัติ จำนวนไม่เกินสามคนเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณา
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2563 เวลา 13.30 น. ห้องประชุม 1 อาคารสระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์ ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2563 มีนาย..... (ขอสงวนนาม)ตำแหน่ง... ปฏิบัติหน้าที่นายกมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ การประชุมในครั้งนี้มีวาระการพิจารณาผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ ซึ่งได้กล่าวอ้างว่าได้ผ่านกระบวนการคัดสรรมาแล้วจนได้ชื่อของนาย.... (ขอสงวนนาม) มาเสนอในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมลงมติให้นาย.... (ขอสงวนนาม) เป็นผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 16 ต่อ 1 เสียง
จากการติดตามการดำเนินการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติครั้งนี้ พบว่า สภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ หรือ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งมีนาย...(ขอสงวนนาม) ปฏิบัติหน้าที่นายกมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่มีการแจ้งข้อบังคับ ประกาศ กำหนดขั้นตอน วิธีการและแนวปฏิบัติในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ไปยังหน่วยงานในสังกัดของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติทั้งสำนักงานอธิการบดี/คณะ/วิทยาเขตและโรงเรียนกีฬา เพื่อให้บุคลากรได้รับรู้ รับทราบในกระบวนการสรรหา หรือมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติแต่อย่างใด จึงทำให้บุคลากรเสียสิทธิ์ในการเสนอชื่อสมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
ทั้งนี้ การดำเนินการสรรหานายกสภาเมื่อครั้งเป็นสถาบันการพลศึกษาตามพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ก่อนได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ โดยหลักการได้มาซึ่งรายชื่อนายกสภาสถาบันการพลศึกษา ตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งนายกสภาสถาบันการพลศึกษา ผู้มีสิทธิ์โดยตรงในการเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันการพลศึกษา ได้แก่ ข้าราชการและพนักงานราชการทั้งในสำนักงานอธิการบดี คณะ วิทยาเขตและโรงเรียนกีฬา ดังนั้น การสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จึงควรดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย
และต้องไม่กระทำการอันเป็นการลิดรอนสิทธิ์หรือทำให้บุคลากรเสียสิทธิ์ที่เคยมีอยู่ก่อน เพื่อให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมในการพิจารณากลั่นกรองและเสนอชื่อบุคคลที่มีความสง่างาม มีคุณสมบัติเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มีความโปร่งใส โดยไม่มีวาระซ่อนเร้นยึดโยงขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interests) เข้าลักษณะเป็นระบบ “ผลัดกันเกาหลัง” ทำให้เกิดโอกาสการสมประโยชน์ร่วมกันระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับอธิการบดีในหลายกรณี ดังนี้ (ต่อตอนหน้า)
ลูกพลบดี (วพ.ยะลาปี17)
OOOOOOOO
ประเด็นร้อนแรงของการเลือกผู้นำ ม.การกีฬาแห่งชาติ
ถูกสังคมจับจ้อง อีกครั้งแล้วครับ
ที่สุดแล้วเรื่องนี้ จะลงเอยอย่างไร? มิอาจคาดเดาจริงๆ สำหรับคนวงนอกอย่างผม
ดูจากเนื้อหาจดหมายที่ส่งถึงผมฉบับนี้ ต้องบอกเลยว่าทำท่าจะเป็น “มหากาพย์” (อีกแล้ว)
สตอรี่ยาวเหยียด...อย่างนี้ อ่านต่อวันพรุ่งนี้ ใน ‘กราวกีฬาไทยรัฐ’ แล้วกันครับ !!!
- บี บางปะกง -