หน้าแรกแกลเลอรี่

กรณี (อีริคเซน)

พาวเวอร์บอมบ์

14 มิ.ย. 2564 05:01 น.

ใครที่ได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 ระหว่างเดนมาร์กกับฟินแลนด์ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ภาพที่คริสเตียน อีริคเซน จอมทัพทีมชาติเดนมาร์ก วูบคาสนามเป็นภาพที่น่าตกใจ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเข้ามาปั๊มหัวใจอยู่นานก่อนส่งโรงพยาบาล สุดท้ายมีข่าวดีตามมาว่าเขารู้สึกตัวแล้ว

เกี่ยวกับกรณีนี้ “หมออี๊ด” นพ.อี๊ด ลอประยูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลนักกีฬาทีมชาติมายาวนานหลายสิบปี อธิบายพร้อมกับให้ความรู้ไว้ทางเฟซบุ๊ก Ead Lorprayoon ดังนี้

ภาวะฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อนักกีฬาในสนามแข่งขัน :

ข้อสังเกตที่ควรทราบ

1.กรณีนี้จะเห็นว่านักกีฬาไม่มีการปะทะอย่างรุนแรงกับใคร ขณะกำลังวิ่งอยู่แล้วล้มหน้าคว่ำลงทันที

2.ลักษณะแบบนี้ให้นึกถึงหัวใจหยุดเต้นแบบเฉียบพลันไว้ก่อนได้เลย

3.อาจเป็น Heat Stroke, โรคชัก, โซเดียมในเลือดต่ำ, กลูโคสในเลือดต่ำ ฯลฯ แต่โรคพวกนี้ไม่สำคัญรีบด่วนเท่าการที่หัวใจหยุดเต้นซึ่งจะเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

4.กรรมการผู้ตัดสินในสนามท่านนี้มีความรู้ ความสามารถเป็นอย่างดี กวักมือเรียกทีมแพทย์ทันทีแม้จะยังเข้าไม่ถึงตัวนักกีฬา แสดงว่าต้องทราบลักษณะแบบนี้อันตรายเพียงใด แต่ถึงแม้กรรมการไม่เรียกถ้าทีมแพทย์เห็นสามารถวิ่งเข้าไปได้เลยไม่ต้องรอ

5.เพื่อนนักกีฬาเข้าถึงตัวนักกีฬาและเข้าไปพยายามช่วยเหลือ *** ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง** (ยกเว้นจะเคยได้รับการอบรมหรือมีความเชี่ยวชาญจริง) เพราะการไปขยับเขยื้อน เช่น อ้าปากพลิกตัวแบบผิดๆ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บาดเจ็บเพิ่มเติมจนถึงเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต

6.การล้มแบบไม่รู้สึกตัวในขณะเล่นกีฬาศีรษะอาจจะฟาดพื้นอย่างแรง ทำให้เกิดกระดูกคอแตกหักได้ ไม่ควรขยับเขยื้อนคนไข้จนกว่าจะแน่ใจ ในรายนี้ทีมแพทย์ที่เข้าไปช่วยก็ไม่ได้ขยับเขยื้อนนักกีฬาในทันที

7.สิ่งแรกคนแรกที่ไปถึงควรทำคือการทำให้ศีรษะไม่ขยับโดยการใช้มือสองข้างจับที่ด้านข้างศีรษะนักกีฬาไว้ให้อยู่นิ่งๆ (ในกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการเล่นกีฬาอาจไม่จำเป็นต้องทำ)

8.ขั้นตอนต่อไปคือการหาว่านักกีฬาหมดสติหรือไม่ โดยการตบบ่าและเรียกถามให้ตอบ ถ้าเงียบให้ถือว่าหมดสติ ไม่ต้องจับชีพจรหรือดูการหายใจใดๆทั้งสิ้น เตรียมปั๊มหัวใจทันที

9.ถ้าเป็นนอกการแข่งขันสิ่งที่ต้องทำก่อนการปั๊มคือการเรียกหาคนมาช่วยเพิ่มเติมหรือให้คนตามรถพยาบาลฉุกเฉิน แต่ในการแข่งขันกีฬาจะเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้แล้ว เห็นได้ว่าทีมยกเปลจะวิ่งเข้ามาพร้อมเปลสนามทันที

10.ถ้านอกการแข่งขันพร้อมๆกับการเรียกคนมาช่วยคือการเรียกหาเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า AED มาไว้ แต่ในการแข่งขันที่เตรียมตัวดีเช่นในครั้งนี้เครื่องจะมาพร้อมกับทีมแพทย์อยู่แล้วเช่นกัน

11.นักกีฬาที่ล้มคว่ำหรือตะแคงหน้าอยู่ การจะทำ CPR ต้องจับคนไข้ให้หงายขึ้น ต้องระวังอย่างยิ่งคือเรื่องกระดูกคอที่อาจหัก ดังนั้น จึงต้องมีวิธีการทำที่ต้องผ่านการฝึกมาก่อน

12.วิธีการหงายใช้วิธี “พลิกท่อนซุง หรือLog Roll” คือใช้คนถึงสามสี่คน คนนึงจับบริเวณศีรษะ อีกสองถึงสามคนจับแขนขาลำตัว เพื่อทำการพลิกหงายให้พร้อมกันตามสัญญาณที่นัดหมายโดยให้ลำตัวกับศีรษะพลิกไปด้วยกันเป็นท่อนเดียว

13.เมื่อหงายคนไข้แล้ว คนที่จับศีรษะต้องจับอยู่นิ่งๆต่อไป ในขณะที่คนอื่นให้เริ่มการปั๊มหัวใจด้วยมือที่กลางหน้าอกทันที

14.เปิดฝาเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า แปะขั้วไฟฟ้าตามรูป จากนั้นดำเนินการเกี่ยวกับการทำ CPR with AED ต่อไป

15.อาจใส่ Collar รอบคอเพื่อช่วยให้คออยู่นิ่งๆ (ถ้ามีและใส่เป็น) ถึงจะใส่แล้วคนจับศีรษะก็ยังควรประคองศีรษะ ส่วนคนปั๊มก็ต้องปั๊มต่อไปจนกว่าคนไข้จะรู้สึกตัวหรือเมื่อรถพยาบาลมาถึงและรับช่วงนำคนไข้ไปรักษา.

** การช่วยชีวิตนักกีฬาในสนามแข่งขันต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญการฝึกฝน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น นักกีฬาหรือกรรมการ ก็สามารถช่วยได้หากได้รับการฝึกฝนและมีการฝึกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ**

**ทีมแพทย์ไม่ได้มีไว้พร้อมเสมอไป โดยเฉพาะเวลาการซ้อมซึ่งมีแต่นักกีฬาและโค้ชอยู่กันเอง ทุกคนในทีมกีฬาควรผ่านการฝึกสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่โค้ชนักกีฬาและผู้ดูแลทีมส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญคิดแต่ว่าเป็นเรื่องของแพทย์สนามเท่านั้น อยากขอร้องให้ควรจะสนใจใคร่เรียนรู้กันไว้บ้างนะครับ**

พาวเวอร์บอมบ์