กัญจน์
ก่อนหน้านี้ หากเอ่ยชื่อของ “ดาว” หรือ “เคซี่” เพชรดา เคซี ตัน หรือชื่อเดิม เพชรดา กกฝ้าย ในแวดวงกีฬาไทยแล้วล่ะก็ คงไม่มีใครรู้จักเธอเป็นแน่!!!
แต่จากนี้ไป เราๆท่านๆต้องจดจำชื่อดังกล่าวกันไว้ให้ดี
เมื่อเพชรดานักสู้ในวัย 32 ปี จากจังหวัดสระแก้ว ได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญให้กับวงการกีฬาไทย ด้วยการคว้ามา 2 แชมป์ใหญ่จากกีฬายูยิตสู
โดยเจ้าตัวเดินทางไปกระชากแชมป์มาได้ จากการแข่งขันยูยิตสูชิงแชมป์โลก “อาบูดาบี เวิลด์ โปรเฟสชันแนล ยู ยิตสู 2021” และยังคว้าอีกแชมป์ “อาบู ดาบี แกรนด์สแลม 2021” ระดับสายม่วง รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อสัปดาห์ก่อน
เพชรดาเป็นใคร มาจากไหน ทำไมเราไม่คุ้นชื่อเอาเสียเลย วันนี้ “ฮอตสปอร์ต” จะพาไปรู้จักเธอให้มากขึ้น
จริงๆแล้วเส้นทางชีวิตของเพชรดาก็น่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศปกติธรรมดาทั่วไป หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 20 มหาวิทยาลัยรังสิต ก็เข้าทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทชั้นนำของประเทศไทย Origin Properly
แต่ชีวิตที่วนลูป นำมาซึ่งความเบื่อหน่าย และจำเจ
หลังทำงานไป 2 ปี ก็เลยลองเบรก 1 ปี เพื่อออกไปท่องโลกกว้าง มุ่งหน้าสู่ประเทศออสเตรเลีย เผื่ออะไรๆจะดีขึ้น ซึ่งก็ช่วยได้ ทำให้สมองและร่างกายสดชื่นขึ้นกลับมาทำงานสดใส
ทว่า พอกลับมาสู่วงรอบเดิมได้สักพัก ก็เจอความเบื่อหน่ายเล่นงานอีกครั้ง ประกอบกับมีความ เครียดสะสมและปวดหัวเป็นไมเกรนบ่อย เข้าโรง-พยาบาลอยู่ตลอด เลยทำให้ต้องหาอะไรใหม่ๆดูบ้าง
เล่นกีฬาดีหรือไม่ในใจคิดไว้ตอนนั้น แต่จะยากเกินไปหรือเปล่า เพราะแต่ก่อนไม่เคยสนใจ เลยเริ่มจากที่ผู้หญิงฮิตๆกัน อย่างมวยไทย แต่ลองไปสักพักก็ไม่เวิร์ก จึงหยุดเรียน
ตอนนั้นเป็นช่วงที่คบหากับวินซ์ ตัน แฟนชาวสิงคโปร์ ที่ต่อมาเป็นสามี ซึ่งอาชีพของเขาคือโค้ชยูยิตสู มียิมของตัวเอง Fortitude Martial Art & Fitness มีลูกศิษย์หลายคนที่เขาฝึกจนไปถึงแชมป์โลกยูยิตสูมาแล้ว
ตอนคบกันเป็นแฟนก็ตามไปดูเขาสอน ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่ากีฬาอะไร ทำไมมีกลิ้งๆ กอดๆ มีล้มทับ หักแขน แต่เรามาประทับใจยูยิตสู ตรงที่กีฬานี้คนตัวเล็ก น้ำหนักน้อยกว่า 10–15 กิโลกรัม ก็สามารถชนะคนตัวใหญ่กว่าได้
ถ้ามองในมุมการออกแบบแบบสถาปนิก เราชอบตรงที่มันไม่มีรูปแบบตายตัว ทุกอย่างต้องมาจากเทคนิคและพื้นฐานที่ดี เราเอาสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับตัวเราเองได้
จากนั้นก็เริ่มฝึกต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ได้คือ สุขภาพกายและใจเราดีขึ้น เหมือนการได้พักผ่อนไปในตัว
อย่างไรก็ตาม ก็มีอุปสรรคตามมา หากจะเล่นต้องรอหลังเลิกงาน และกว่าจะเดินทางไปยิมได้ต้องฝ่ารถติด เลิกงาน 6 โมงเย็น ไปถึงก็ 2 ทุ่ม ทุกคนเลิกฝึกกันหมดแล้ว ซึ่งเป็นอย่างนี้บ่อยๆก็ไม่ไหว
ฉุกคิดขึ้นมาถ้าจะทำ 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ก็ทำได้ แต่ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร และจะทำได้ดีเพียงใด ควรต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จะดีกว่าหรือไม่
หลังจากไตร่ตรองอยู่นานจึงตัดสินใจเลือกกีฬาดีกว่า เพราะงานเดิมเครียด ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่กับกีฬาที่เราชอบ ถ้าจริงจัง ก็น่าจะมีลู่ทางมีรายได้เลี้ยงตัวได้
ซึ่งโชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ เช่นเดียวกับคนรอบข้างแม้จะมองว่างานเราก็ดีอยู่แล้ว ผลตอบแทนก็ไม่มีปัญหา จะลาออกทำไม แต่สุดท้ายทุกคนก็เคารพการตัดสินใจของเรา
จากนั้น ก็เดินหน้าทุ่มเทและมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมยูยิตสูอย่างหนัก ซึ่งแน่นอนว่า ต้องหนักกว่าคนทั่วไปหลายเท่า เพราะเรามาเริ่มต้นตอนอายุ 29 ปีแล้ว ไม่ใช่เริ่มตอนเด็กๆ
2 ปีที่ผ่านมาจริงจังกับยูยิตสูแบบสุดๆ ใช้ทุนตัวเองในการเดินทางไปแข่ง และฝึกซ้อมในหลายๆประเทศทั่วโลก เพื่อเจอคนเก่งๆ เพื่อพัฒนาตนเอง และเรียนรู้หาประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะนักสู้แต่ละชาติมีสไตล์ไม่เหมือนกัน
ที่ประทับใจในช่วงแรกๆคือ ไปชนะในรายการซุปเปอร์ไฟต์ แมตช์ออริจินอล ที่บราซิล ประเทศที่เก่งในกีฬานี้ระดับต้นๆของโลก
ก่อนจะมาประสบความสำเร็จ ได้ 2 แชมป์ใหญ่ๆในที่สุด ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปถือว่าภูมิใจมากๆที่อดทนฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการมาได้ โดยเฉพาะความเจ็บปวดในร่างกายที่ต้องฝึกซ้อมวันละหลายชั่วโมง
เพชรดาเล่าต่อว่า ชีวิตในช่วงที่ผ่านมา เธอเองอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์กับสามีเป็นหลัก พร้อมๆกับเป็นเทรนเนอร์ในยิมที่สามีเปิดไว้ และจะเดินทางกลับมาเมืองไทยอย่างสม่ำเสมอ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่ได้กลับบ้านมากว่า 1 ปีแล้ว
ส่วนเป้าหมายจากนี้ไป นักยูยิตสูหญิงไทย กล่าวว่า ก็จะพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปอีก จากเดิมที่เริ่มต้นจากสายขาว มาเป็นสายน้ำเงิน มาเป็นสายม่วง ใช้เวลา 2 ปี
จากนี้ไปก็จะแสดงความสามารถทำผลงานให้ดี สม่ำเสมอ เพื่อขยับไปสู่สายน้ำตาล และสายดำ ขั้นสูงสุด ตามลำดับให้ได้ โดยตั้งเป้าไว้อีกประมาณ 2 ปี จะต้องทำให้สำเร็จ
แล้วก้าวไปคว้าแชมป์โลก ในระดับสายดำ ให้ได้อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นหญิงไทยคนแรกที่ทำได้
ส่วนการรับใช้ชาติ หากสมาคมกีฬายูยิตสูแห่งประเทศไทย ที่มี ผศ.ชาญชัย สุขสุวรรณ์ เป็นนายกสมาคมฯ เห็นว่ารายการไหนเหมาะสม มีรุ่นของตนแข่งขันก็พร้อมจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่
โดยแฟนกีฬาชาวไทยที่สนใจ สามารถติดตามไลฟ์สไตล์ของเธอทางโซเชียล มีเดีย ทั้งทางไอจี kacieingi และเฟซบุ๊ก kacie tan ควบคู่กันไปได้
เรียกว่าหาได้ยากและมีน้อยคนจริงๆที่จะมาเริ่มเล่นกีฬาอย่างเอาจริงเอาจังตอนอายุเฉียดๆ 30 ปี แต่เพชรดายอมที่จะเสี่ยงด้วยใจรัก ด้วยใจชอบ เป็นการค้นพบตัวตนในเวลานั้น
ต้องชื่นชมในการกล้าตัดสินใจ และเธอก็ทำได้ดีเสียด้วย ไม่ใช่แค่สร้างชื่อให้ตัวเอง ยังสร้างชื่อให้ประเทศไทยของเรา เป็นการเปิดตลาดกีฬายูยิตสูในเวทีโลกไปด้วยเลย
เรื่องราวชีวิต “เคซี่” สถาปนิกนักสู้ ยูยิตสูดีกรีแชมป์โลก นับว่าน่าสนใจทีเดียว เป็นตัวอย่างให้ใครอีกหลายคนได้ดีว่า ไม่มีอะไรสายเกินไป
หากเราไม่ย่อท้อ ขอเพียงมุ่งมั่นตั้งใจ ทำมันจริงๆ
ความสำเร็จไม่หนีไปไหน...
กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง