หน้าแรกแกลเลอรี่

แย่งกัน สัญญาณบวก หลายจังหวัดชิงจัดซีเกมส์

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

21 ก.พ. 2564 05:01 น.

แม้จะมีเวลาอีกถึง 4 ปี ก่อนที่ประเทศไทย จะได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) ตามวงรอบ แต่ดูเหมือนว่า ตอนนี้กระแสกีฬาชาวอาเซียน รายการนี้จะถูกพูดถึงมากเป็นพิเศษ มาก่อนเวลาตั้งนาน

เมื่อบรรดาจังหวัดต่างๆให้ความสนใจ เสนอตัวเข้ามามาก แสดงความต้องการที่จะเป็น เมืองเจ้าภาพ กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 7 ในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา

ก่อนหน้านี้ กับการเป็นเจ้าภาพกีฬาแหลมทอง มา 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ.2502 (ค.ศ.1959) จัดที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 พ.ศ.2510 (ค.ศ.1967) ที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8 พ.ศ.2518 (ค.ศ.1975) ที่กรุงเทพมหานคร

จากนั้นเปลี่ยนชื่อมาเป็นกีฬาซีเกมส์อีก 3 ครั้ง ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2528 (ค.ศ.1985) ที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 18 พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 24 พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ที่จังหวัดนครราชสีมา

ดูแล้วกระแสความต้องการของจังหวัดต่างๆ จะไม่คึกคักมากเท่านี้

เป็นหน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานกีฬาของภาครัฐเสียมากกว่าที่เป็นผู้เลือกจังหวัดที่มีความพร้อมมากที่สุด ทว่าครั้งนี้แตกต่างออกไป

เป็นทางจังหวัดที่ออกตัว นำเสนอตัวเอง ให้ทางภาครัฐเป็นผู้พิจารณา

แรกเริ่มทีเดียว เป็นจังหวัดอุบลราชธานี ที่ยื่นความจำนงเข้ามาเป็นจังหวัดแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ต่อมาในปี พ.ศ.2562 มีการพูดถึงความพร้อมของจังหวัดชลบุรี

และล่าสุด เป็นกลุ่ม 3 จังหวัดฝั่งอันดามัน ตรัง กระบี่ และภูเก็ต ที่ผนึกกำลัง ร่วมมือ ยื่นขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33

และหลังจากนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีอีกหลายจังหวัดที่แสดงความประสงค์เข้ามา

“บิ๊กจา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า การคัดเลือกจังหวัดเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ กกท.จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก

ส่วนคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ มีแนวคิดเสมอว่ากีฬาซีเกมส์ไม่ควรจัดในกรุงเทพมหานครเมืองหลวงอีกต่อไป ควรต้องนำไปจัดในจังหวัดต่างๆที่ยังไม่เคยจัดมาก่อน

เพราะมองว่าระดับของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ จัดที่ไหน ไทยก็สามารถทำให้เป็นมาตรฐานได้

พล.ต.จารึกกล่าวไว้ด้วยว่า จังหวัดที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจะต้องมีความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งเรื่องของสนามแข่งขันที่ต้องครบถ้วน สามารถจัดได้ทุกชนิดกีฬา

มีเมนสเตเดียมที่จุคนดูได้มากกว่า 30,000 คน ที่พักจะต้องเพียงพอสำหรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่จาก 11 ชาติ ซึ่งจะมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน

ที่สำคัญการเดินทางมาจังหวัดนั้นๆจะต้องสะดวก

ขณะที่ “บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาไทย และเหรัญญิกคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025)ของไทย ต่อจากเวียดนาม ที่จัดครั้งที่ 31 ในปีนี้ พ.ศ.2564 (ค.ศ.2021) และกัมพูชา ครั้งที่ 32 พ.ศ.2566(ค.ศ.2023)

เริ่มมีการพูดถึงในที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯกันแล้ว

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้หลังจากที่สหพันธ์กีฬาซีเกมส์ โดยมนตรีซีเกมส์ได้วางคิวให้ประเทศต่างๆได้จัดการแข่งขันไปก่อนหน้านี้ก็เป็นในส่วนของประเทศไทย โดยภาครัฐที่จะยืนยันกลับไปว่า มีความพร้อมที่จะจัดการแข่งขันได้

ตามปกติแล้ว ควรจะมีการยืนยันกลับไปก่อนหน้าการจัดการแข่งขัน 2 ปี

และหลังจากที่ยืนยันไปเรียบร้อยก็จะเป็นขั้นตอนภายในประเทศ ในการเลือกจังหวัดเจ้าภาพต่อไป

ส่วน “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับแจ้งมาตลอดว่ามีหลายจังหวัดที่แสดงความสนใจ และมีศักยภาพ

โดยนอกจาก 3 จังหวัดฝั่งอันดามัน ก็ยังมีจังหวัดจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างอุบลราชธานี รวมถึงโซนตะวันออก อย่างชลบุรีที่มีแผนที่จะเสนอตัวด้วย

เรื่องนี้ยังพอมีเวลาสำหรับการคัดเลือกเมืองเจ้าภาพ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยจะต้องยืนยันสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) ต่อสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ที่ดำเนินการโดยมนตรีซีเกมส์

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเปิดรับสมัครเมืองที่สนใจในกระบวนการนี้จะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ กกท. กรมพลศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันพิจารณาและคัดเลือก

เมืองที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด!!!

แน่นอนว่าคงยังมีใครหลายคนที่มองว่าการเสนอตัวของหลายจังหวัด เป็นการแย่งชิงกัน อาจเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่สู้ดีเท่าไหร่ ทำไมไม่ให้ภาครัฐเป็นผู้เลือกเมืองเจ้าภาพเหมือนเก่า จะดูดีกว่า

ก็ต้องบอกว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป ต้องมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาบ้าง

การที่มีหลายจังหวัด ยื่นความจำนงเข้ามา กลับจะส่งผลดีต่อจังหวัดนั้นๆเอง ที่จะมีการวางแผนงาน งบประมาณ มีการเตรียมพร้อม สนามกีฬา ที่พัก ระบบสาธารณูปโภค และด้านอื่นๆรอไว้ นำมาซึ่งการพัฒนาไปในตัว

แม้สุดท้ายจะมีแค่จังหวัดเดียวที่จะได้รับเลือก ก็ไม่เป็นไร

สิ่งต่างๆที่จังหวัดที่พลาดหวังได้เตรียมการเอาไว้ ก็ไม่ได้สูญเปล่าไปไหน พี่น้องประชาชนจังหวัดนั้นๆยังคงได้รับประโยชน์จากสิ่งที่มีการพัฒนาเตรียมไว้

ดังนั้น การแย่งกันจัดกีฬาซีเกมส์ของจังหวัดต่างๆ ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย หรือเป็นกระบวนการที่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

กลับจะเป็นสัญญาณบวก สะท้อนความเจริญ การพัฒนาของจังหวัดต่างๆ สะท้อนศักยภาพของประเทศ

ที่สำคัญ ถือเป็นสัญญาณดีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ของวงการกีฬาไทย...

กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง