ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตัน 3 ศึกใหญ่ ครั้งประวัติศาสตร์ ระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 รายการระดับสูงสุดของกีฬานี้ ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี ของไทย
ตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศึกโยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น และเอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ ทุกสายตาจากทั่วโลกจับจ้องมาที่เรา
ไม่เพียงนักตบลูกขนไก่ระดับเวิลด์คลาส เดินทางมามากมาย นำโดยวิคเตอร์ อเซลเซน ชายเดี่ยว มือ 2 ของโลกจากเดนมาร์ก ไท่ ซื่อ หยิง หญิงเดี่ยว มือ 1 ของโลกจากไต้หวัน คาโรลินา มาริน หญิงเดี่ยว มือ 3 ของโลกจากสเปน ร่วมด้วยยอดฝีมือของไทยเรา อย่าง “เมย์” รัชนก อินทนนท์ หญิงเดี่ยว มือ 6 ของโลก “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่ผสม มือ 2 ของโลก
ยังมีคำถามเกิดขึ้นมาพร้อมๆกันด้วยว่าไทย จะบริหารจัดการแข่งขันครั้งนี้อย่างไร ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
แต่ในที่สุดนอกจากผลงานอันยอดเยี่ยมของนักตบลูกขนไก่ไทย นำโดย “บาส” เดชาพล กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี คู่ผสม ที่สร้างชื่อกวาด 3 แชมป์ติดต่อกัน ใน 3 สัปดาห์แล้ว
ไทยเรายังได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพไปเรียบร้อยว่าการบริหารจัดการของเราไม่เป็นสองรองใคร
โดยเฉพาะกับมาตรการป้องกันโควิด-19 อันเข้มงวด ในชื่อ “บับเบิล” นั้น ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกไปแล้วว่าได้ผลเป็นอย่างยิ่ง ในยุคที่ไวรัสอันตรายยังอาละวาดไม่หยุด
สำหรับ นักกีฬา เจ้าหน้าที่ จาก 22 ชาติ กว่า 800 คน ที่เดินทางมา รวมถึงนักกีฬาไทยต้องเข้าพักในโรงแรมที่กำหนดไว้ และไม่สามารถออกจากบับเบิลได้ เดินทางไปได้เพียงสนามฝึกซ้อม และแข่งขัน
จะมีการตรวจโควิด-19 เข้มข้น ตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้ามาไทย และมีการตรวจอีกในทุกๆ 3 วัน
การเดินทางไปยังสนามฝึกซ้อมสนามแข่งขัน ใช้รถบัสประเทศละ 1 คัน สนามฝึกซ้อมจะมีผนังกั้น โดยที่แต่ละประเทศจะซ้อมครั้งละ 45 นาที และ ทำความสะอาดทันที 15 นาที ก่อนที่ประเทศอื่นจะเข้ามาซ้อมต่อ
สนามแข่งขันปกติใช้ 4 สนาม แต่ครั้งนี้มี 3 สนาม เพื่อเว้นระยะห่าง ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ ภายในสนามแข่งขันจะแบ่งโซน เพื่อลดการสัมผัส นักกีฬาเปลี่ยนลูกแบดมินตันเอง จากเครื่องบรรจุลูกข้างสนาม ส่วนการสัมภาษณ์ นักกีฬา ผู้ฝึกสอน ทำผ่านระบบออนไลน์
อย่างที่ทราบกันดี มีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเจ้าหน้าที่หลายราย รวมทั้งมีการตรวจพบก่อนที่นักกีฬาจะเดินทางมาไทยด้วย แต่นั่นก็สะท้อนว่า มาตรการที่ไทยวางไว้ได้ผล อย่างไม่ต้องสงสัย
นำมาซึ่งความปลอดภัยอย่างที่ได้เห็น
และผลจากการดำเนินการของไทย ที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันมา โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ได้ส่งข้อความมายัง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ขอให้ฝ่ายไทยช่วยส่งต้นแบบการจัดแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ดังกล่าว โดยเฉพาะรายละเอียดมาตรการบับเบิลที่ได้ผลดี ในการป้องกันโควิด-19 ให้ จอห์น โคท คณะกรรมการประสานงานโอลิมปิก โตเกียว 2020 ของไอโอซี
โดยเชื่อมั่นว่าจะมีประโยชน์อย่างมากกับ โตเกียวเกมส์ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้
ไม่เพียงแค่นั้น สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ก็เตรียมที่จะใช้ระบบบับเบิลในการจัดศึกเนชันส์ลีก 2021 เช่นเดียวกับการแข่งขันเทควันโด รอบคัดเลือก โอลิมปิก โตเกียว โซนเอเชีย ในเดือนพฤษภาคมนี้ ที่จอร์แดน เจ้าภาพ ก็เตรียมใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วยระบบบับเบิลเหมือนกัน
คุณหญิงปัทมากล่าวว่า ก่อนหน้านี้การแข่งขันแบดมินตัน รายการระดับนานาชาติ ของสหพันธ์แบดมินตันโลก ต้องหยุดไปเกือบปี ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก คุณหญิงปัทมาจึงได้เสนอแนวคิดไปยังสหพันธ์ในการจัดการแข่งขันแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000
โดยมีระบบป้องกันไวรัสอันตรายอย่างเข้มงวด ในรูปแบบบับเบิล เพื่อให้การแข่งขันกีฬาแบดมินตันขับเคลื่อนไปได้
การจัดการแข่งขันของไทยอันเป็นการรีสตาร์ตแบดมินตันให้กลับมาชิงชัยได้อีกครั้ง แม้จะอยู่ในช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่ แต่ก็ทำได้เป็นอย่างดี แสดงศักยภาพว่า ไทยสามารถจัดการกับโควิด-19 ได้
กระแสแบดมินตันกลับมาได้รับความนิยม อีกครั้ง มีคนซื้ออุปกรณ์แบดมินตันเพิ่มขึ้นมากมาย สอดคล้องกับแผนปฏิรูปกีฬาของประเทศ ที่ทำให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายมากขึ้นกว่าเดิม
อีกทั้งโธมัส บาค ประธานไอโอซี ยังขอนำการแข่งขันครั้งนี้มาเป็นต้นแบบ และกีฬาวอลเลย์บอล และเทควันโดก็เตรียมนำไปประยุกต์ใช้ด้วย
ประกอบกับนักกีฬาทั่วโลกก็ชื่นชมประเทศไทย ถ่ายทอดความรู้สึกตรงกันผ่านโซเชียลมีเดียว่า ปลอดภัย ทุกคนชื่นชมมาตรการการป้องกันไวรัส ที่ทำได้อย่างเข้มงวด จริงจัง และได้ผล
เป็นสัญลักษณ์ที่ประจักษ์ว่า โลกของเราเอาชนะโควิด-19
ไปได้ในขั้นแรกแล้ว...
กัญจน์ ศิริวุฒิ