หน้าแรกแกลเลอรี่

30 นาทีก็มีสุข

พาวเวอร์บอมบ์

13 ม.ค. 2564 05:01 น.

เพจเฟซบุ๊ก ไปวิ่งกัน : RunningHub เขียนให้ความรู้เอาไว้ ใครที่อยากมีความสุข ขอให้อ่านต้องรู้!!! วิ่งแค่ 30 นาที ก็เกิดผลดีต่อร่างกายจนเราต้องทึ่ง 

ยิ่งเราวิ่งมากเท่าไร ร่างกายของเราจะได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นเท่านั้น คนที่วิ่งอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อาจวิ่ง 30 นาที 1–2 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น โดยไม่ต้องหยุด ทุกครั้งที่เราวิ่งเรียกเหงื่อ เซลล์ในร่างกายจะเริ่มทำงานและก่อให้เกิดปฏิกิริยาห่วงโซ่

ซึ่งส่งผลดีเลิศต่อร่างกายและจิตใจจนเราต้องทึ่ง!

1.“เมื่อเริ่มวิ่ง ในวินาทีแรกๆกล้ามเนื้อเริ่มผลิตอะดีซีนไตรฟอสเฟต (ATP) ‘โมเลกุลที่ให้พลังงานสูงแก่เซลล์’ ซึ่งเราได้รับจากการสลายอาหาร” ATP เป็นพลังงานของร่างกายในทุกกิจกรรม ทั้งนอกร่มในร่มไม่ว่าจะเป็น เดิน วิ่ง กิน คิด คุย มีเซ็กซ์ เมื่อร่างกายจะใช้ ATP มันจะแตกตัวเป็น ADP แล้วปล่อยพลังงานออกมา

ไม่ใช่แค่พลังงานภายนอกเท่านั้น ยังเป็นพลังงานของอวัยวะภายใน เนื้อเยื่อ เซลล์ การเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร การผลิตฮอร์โมน ลำพังกลูโคสยังให้พลังงานแก่ร่างกายโดยตรงไม่ได้

มันต้องแปลงร่างเป็น ATP เสียก่อน (ทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่ได้เพราะมัน เรียกว่าสำคัญกว่าบ้าน รถ โทรศัพท์มือถือ หรือแฟนมากมายนัก)

2.“ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดใน 90 วินาทีแรก” เพราะเซลล์ในร่างกายจะย่อยสลายไกลโคเจน หรือกลูโคสรูปแบบหนึ่งที่ร่างกายสะสมไว้ตามกล้ามเนื้อ และยังดึงกลูโคสจากเม็ดเลือดมาใช้โดยตรงเพื่อผลิต ATP ให้มากขึ้น (นี่เป็นเหตุผลว่าการออกกำลังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้)

เมื่อร่างกายดึงกลูโคสมาใช้จำนวนมาก กล้ามเนื้อจะปล่อยกรดแลคติกซึ่งเป็นของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานที่ไม่ใช้ออกซิเจน...และร่างกายจะส่งสัญญาณไปยังสมองว่าเรากำลังเหนื่อยล้า

3.“ใน 2-3 นาทีถัดมา หัวใจเต้นเร็วขึ้นสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่างๆ” ยกเว้นอวัยวะส่วนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายในขณะนั้น ช่วงนี้เราจะหายใจหอบถี่ เพราะเซลล์กล้ามเนื้อพยายามดึงออกซิเจนเข้าร่างกายเพื่อเผาผลาญกลูโคส ‘ตอนออกวิ่ง กล้ามเนื้อใหญ่สุดของร่างกาย คือ กลูเทียส แม็กซิมัส (ก้น) ส่วนขาและส่วนลำตัว ยังคงประคองให้เราเคลื่อนที่ต่อได้ ควบคุมสนับแข็ง และขยายข้อต่อสะโพกให้กว้างขึ้น เพื่อให้เท้าเคลื่อนไหวขึ้นลงได้’

ร่างกายจะเริ่มเผาผลาญแคลอรีและไขมันส่วนเกินที่สะสมเอาไว้ (นักวิ่งจะเผาผลาญได้ 100 แคลอรีต่อระยะทาง 1.6 กิโลเมตร) การเผาผลาญที่มากขึ้น ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น...เพื่อลดความร้อน ระบบหมุนเวียนเลือดจะเปลี่ยนเส้นทางไปที่ผิวหนังแทน ใบหน้าเราจึงมีเลือดฝาด ต่อมเหงื่อเริ่มผลิตความชื้น เพื่อไม่ให้เราร้อนจนเกินไป

4.“เราจะรู้สึกสดชื่นขึ้น และแข็งแกร่งใน 10 นาที (หากเราฟิตจริง)” ถ้ากล้ามเนื้อและแหล่งผลิต ATP ในร่างกายยังคงมีเพียงพอ และดึงออกซิเจนมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเผาผลาญไขมันและกลูโคสได้ด้วย

...แต่ถ้าเราไม่ได้ออกกำลังกายมานาน ATP จะไม่สูงขึ้นเท่าที่ร่างกายต้องการ “เราจะเริ่มหายใจไม่ออก หรือดึงออกซิเจนมาใช้ไม่ทัน กรดแลคติกก็หลั่งไปทั่วร่างจนเราล้าแทบก้าวขาไม่ออก”

5.“หลัง 30 นาที...ถึงเส้นชัยเสียที” ถึงตอนนี้ ให้เราวิ่งช้าลงจนกลายเป็นการเดิน การใช้พลังงานจะลดต่ำ อัตราการหายใจเริ่มกลับสู่ปกติ “สมองถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนโดพามีน ซึ่งเป็นสารที่สร้างความเบิกบานใจ”

ถึงตอนนี้แม้เราจะอยากกินของหวานบ้างก็ไม่มีปัญหา เพราะร่างกายได้สร้างแหล่งไว้เก็บไกลโคเจนเรียบร้อยแล้ว แคลอรีส่วนเกินจึงไม่ถูกเก็บไว้ในรูปไขมัน.

พาวเวอร์บอมบ์